ปลากระป๋อง 10 บาท หวังช่วยลดค่าครองชีพ อิ่มท้องพอดี ไม่เหลือ ไม่ขาด

ปลากระป๋อง 10 บาท หวังช่วยลดค่าครองชีพ อิ่มท้องพอดี ไม่เหลือ ไม่ขาด

สถานการณ์ข้าวยากหมากแพงในปัจจุบัน ได้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สินค้าแทบทุกชนิดมีแต่ขึ้นราคา ทว่า ไม่ใช่สำหรับ Siam Produces เพราะนอกจากจะไม่ขึ้นราคาแล้ว ยังทำราคาให้ต่ำกว่าตลาดด้วยซ้ำ ปรัชญาของเจ้าของธุรกิจนี้ จึง สวนกระแสเศรษฐกิจ สิ้นเชิง

คุณออม-สุเมธชัย อินทกรณ์ เจ้าของแบรนด์ Siam Produces ผู้ผลิตปลากระป๋อง และน้ำผึ้ง คุณภาพสูงแต่ราคาย่อมเยา กล่าวถึงแนวคิดในการก่อตั้งธุรกิจนี้ขึ้นมา และความทุ่มเทที่เขามีต่อผู้คนในสยามประเทศ

“ประเทศไทย ติดกับดักค่าครองชีพและรายได้ขั้นต่ำครับ” คุณออม กล่าวเริ่มต้น และว่า

“ผมเป็นคนที่เคยได้ค่าแรงขั้นต่ำมาก่อน ทำงานพาร์ตไทม์ได้เงินวันละร้อยกว่าบาท เลยเข้าใจว่าคนที่มีรายได้น้อยเป็นอย่างไร ไม่มีใครมาช่วยเหลือได้ ยิ่งในช่วงโควิด ข้าวของแพงขึ้นเป็นเท่าตัว ธุรกิจขายกระเป๋าที่ทำอยู่กับภรรยา ไปได้ค่อนข้างยากเลยอยากทำธุรกิจเพิ่ม เป็นธุรกิจอะไรก็ได้ ที่ช่วยลดค่าครองชีพ เพื่อให้ทั้งตัวเราพอมีกำไรไว้ดูแลครอบครัว และได้ช่วยคนด้วย มันเป็นความสุขของผมครับ”

ก่อนเล่าว่า

“ช่วงโควิดเนี่ย ผมประหยัดสุดๆ เพราะว่าธุรกิจย่ำแย่มาก รายได้บางเดือนไม่พอกับค่าใช้จ่าย ผมกินปลากระป๋องบ่อยเพราะต้องเก็บเงินเพื่อที่จะไปจ่ายค่าเช่าตึกที่ทำธุรกิจ ค่าผ่อนรถ ดอกเบี้ยแบงก์ เงินเดือนพนักงาน ผมจ่ายพนักงานเต็ม ไม่เคยไปหักเขา เพราะว่าบางทีเขาก็ต้องดูแลครอบครัวของเขาหรือมีภาระที่ต้องใช้เงิน”

คุณออม เจ้าของเรื่องราว

“เราก็ต้องการให้พนักงานไม่เสียกำลังใจ โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าผมพยายามประหยัดเงินโดยกินปลากระป๋องเป็นสัปดาห์ๆ ติดต่อกัน กินกับข้าว กินกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบ้าง เพื่อที่จะได้มีเงินเหลือมากพอจะนำมาใช้จ่ายในธุรกิจ แต่ที่ผมกินปลากระป๋อง ผมก็ไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนหรือรันทดนะครับ ผมมองว่าปลากระป๋องเป็นสิ่งที่มีประโยชน์แถมราคาประหยัดด้วย”

ซึ่งการที่คุณออม ได้กินปลากระป๋องเป็นสัปดาห์ ทำให้เขาได้เห็น Pain Point สำคัญหลายอย่าง

“บางทีเปิดปลากระป๋องมาแล้วกินไม่หมด ทุกแบรนด์ชอบทำปลาชิ้นใหญ่ ซึ่งบางทีเนื้อจะกระด้างและเหม็นคาว ใส่แน่นๆ เทไม่ออกจากกระป๋อง ต้องใช้ช้อนส้อมแคะออกมา แล้วกระป๋องหนึ่งราคาประมาณ 18-25 บาท ขนาดผมเป็นเจ้าของธุรกิจ ยังรู้สึกว่าราคาสูง แล้วถ้าคนรายได้น้อยจะคิดยังไง แต่ถ้าผมทำแบรนด์ปลากระป๋อง ขายให้คนกลุ่มแมสหน่อย ขายกระป๋องละ 10 บาท เพื่อช่วยเหลือคนได้จะเป็นยังไง”

จากไอเดียในมื้อประหยัด สู่สินค้าราคาประหยัดเพื่อทุกคน

ปลากระป๋อง 10 บาท

“ออกแบบปลากระป๋องแบรนด์ Siam Fish ให้คนที่ซื้อไปกินกระป๋องเดียวอิ่มท้องอยู่ได้ ไม่เหลือไม่ขาด ใช้ปลาแมคเคอเรลตัวเล็กหน่อย ให้กินพอดีอิ่ม เนื้อไม่กระด้างและไม่คาว แถมปลาตัวเล็กเมื่อผ่านกระบวนการผลิตแล้วก้างจะอ่อนลง สามารถกินได้ทั้งก้าง ไม่ต้องกลัวก้างติดคอแถมได้แคลเซียมด้วย เทออกจากกระป๋องง่ายไม่ต้องแคะ ราคาย่อมเยากว่าราคาตลาดเยอะ มีประโยชน์ทั้งโปรตีนจากเนื้อปลาและวิตามินจากซอสมะเขือเทศ แถมยังได้ช่วยเหลืออุตสาหกรรมประมงไทยด้วย ผมคิดว่าถ้าเราทำสินค้าออกมาให้ดีแล้วเข้าถึงได้ก็น่าจะมีตลาดของเราบ้างนะ”

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่คุณออม จะได้แรงบันดาลใจในการทำปลากระป๋องจากมื้อประหยัด แบรนด์ Siam Produces เขามีสินค้าอยู่แล้วชนิดหนึ่ง นั่นคือ น้ำผึ้ง ซึ่งเป็น Hero Product ให้เขามีกำลังใจในการทำแบรนด์ Siam

“ช่วงโควิด ธุรกิจขายกระเป๋าของผมกับภรรยาโดนปิดหมด ต้นทุนก็สูงขึ้น เลยย้อนกลับมามองว่าตัวเองทำอะไรได้บ้าง พบว่าผมชอบอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่ทำให้สุขภาพดี ผมเคยทำอาชีพเป็นพ่อครัว และเคยผลิตเกี๊ยวซ่าขายมาก่อน ด้วยความที่เป็นของสดเลยมี Pain Point เรื่อง Shelf Life ว่าต้องแช่ฟรีซ แช่ตู้เย็น  เลยอยากขายเป็นสินค้าที่ Shelf Life นาน จัดการสต๊อกได้ แถมดีต่อสุขภาพ เลยคิดว่าน้ำผึ้ง น่าสนใจ”

น้ำผึ้งแท้

“ผมเน้นให้คนไทยเข้าถึงอาหารที่ทำให้สุขภาพดี อย่างน้ำผึ้ง 1,000 กรัม ขายอยู่ที่ราคา 100 บาท เป็นน้ำผึ้งแท้ที่ได้รับการรับรองคุณภาพมาเรียบร้อย มั่นใจได้เลยว่าไม่มีน้ำตาลเจือปนแน่นอน สามารถช่วยเรื่อง Health Benefit ของคนรายได้น้อยและรายได้ปานกลางด้วย พวกเขาสามารถเข้าถึงของที่มีประโยชน์ได้ในราคาที่ประหยัดที่สุด”

“ส่วนในอนาคต อยากทำให้น้ำผึ้งแบรนด์ Siam Bee Secret เป็นของฝากนักท่องเที่ยว เวลาเขาซื้อกลับไปประเทศของเขา ไม่ว่าจะเอาไปใช้เองหรือเป็นของฝากก็ตาม คำว่า Siam ในชื่อแบรนด์ก็จะติดไปด้วย พอคนต่างชาติได้รับรู้ถึงคุณภาพของสินค้าไทยแล้วก็หวังว่าจะทำให้เขาอยากรู้จักประเทศไทยมากขึ้น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหลังช่วงโควิด รวมถึงช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรไทยด้วย” เจ้าของเรื่องราว บอกอย่างนั้น

ตลอดชีวิตของคุณออม เขาให้ความสำคัญกับคนอื่นก่อนตัวเองเสมอ

“ผมเรียนจบหลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการครัวและภัตตาคาร จากวิทยาลัยดุสิตธานีมาครับ จบมาได้ประมาณ 15-16 ปีแล้ว ระหว่างที่เรียนอยู่ มีเป้าหมายอยากจะช่วยที่บ้านใช้หนี้หลัก 10 ล้านบาท เลยรู้สึกว่าถ้าอยู่เมืองไทย ทำงานได้ค่าแรงขั้นพื้นฐานมา กว่าจะใช้หนี้ได้คงเป็นไปไม่ได้ เลยมีเป้าหมายว่าจะทำงานต่างประเทศ ไปทำอาชีพอะไรก็ได้ ตอนไป Work and Travel ที่อเมริกาครั้งแรกเลยได้ไปทำงาน Housekeeping

แต่ด้วยความที่เราเรียนครัวเลยได้ไปทำงานในครัว เป็นตำแหน่งล้างจานก่อน จนวันหนึ่งที่พ่อครัวของเขาขาด เขาเลยให้ผมไปหั่นของ เขาเห็นฝีมือการหั่นของเรา เทคนิค ฝีมือ การใช้มีด การใช้มือ เป็นทักษะที่ผมได้จากวิทยาลัยดุสิตธานี บวกกับที่ผมทำงานได้ค่อนข้างไวมาก เขาก็เลยเห็นแววและให้เราเป็นพ่อครัวเต็มตัว ผมก็ได้โอกาสในการพัฒนาตัวเองมากขึ้นและส่งเงินกลับมาที่บ้านช่วยใช้หนี้ได้ประมาณหนึ่ง

เลยเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ได้กลายเป็นสายอาชีพพ่อครัวในต่างประเทศ หลังเรียนจบที่ไทย ผมก็กลับไปทำงานอยู่ที่อเมริกานานกว่า 5 ปี ได้มีโอกาสทำงานที่หลากหลาย ถ้าเราจะอยู่ต่อนานกว่านั้นก็ได้แต่ก็เลือกกลับมาที่ไทยเพราะเป้าหมายของเราคือหาเงินมาโปะหนี้และกลับมาอยู่กับครอบครัวที่บ้าน คุณพ่อคุณแม่อายุเยอะแล้ว อยากจะไปอยู่ใกล้ๆ ให้เขาได้เห็นหน้าเห็นตาเรา”

อยากให้คนไทยได้ทานของดี มีคุณภาพ

นอกจากทักษะครัวแล้ว สถานศึกษาแห่งนี้ก็ได้มอบสิ่งสำคัญให้กับเขา ทำให้เขาสามารถอุทิศตนให้คนอื่นได้จนถึงทุกวันนี้

“วิทยาลัยดุสิตธานี หล่อหลอมให้ค่อนข้างเยอะ ทั้งเรื่องความอดทน ระเบียบวินัย ความตรงต่อเวลานะครับ มีความสำคัญมากในการสร้างผมให้เป็นผมในวันนี้ และสามารถประยุกต์ใช้กับการทำธุรกิจได้แน่นอนครับ รวมถึงความรู้เรื่องการดูแลตัวเองและรักษาสุขภาพก็มาจากการเรียนด้านโภชนาการที่เป็นหนึ่งในวิชาที่ได้เรียนที่วิทยาลัยดุสิตธานีแห่งนี้ เพราะผมได้มีความรู้เรื่องสุขอนามัยและโภชนาการ

นอกจากจะทำให้ดูแลตัวเองได้ดีแล้ว ผมยังสามารถเลือกสินค้าที่ดีต่อผู้บริโภคได้ด้วย อย่างปลากระป๋องเป็นของนึ่งของต้ม ไม่มีสารก่อมะเร็ง ถูกสุขลักษณะ ทำให้คนที่ซื้อไปกินมีสุขภาพที่ดีได้ มีอีกหลายมิติที่ผมได้มาจากที่นี่ทั้งความรู้และประสบการณ์จากอาจารย์ เป้าหมายต่อไปคือ สร้างของน่ากินที่มีประโยชน์ให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกที่หลากหลายมากขึ้น”

แม้ว่าชีวิตจะมีขึ้นมีลง ต้องผ่านอุปสรรคมากมาย คุณออมยังทิ้งข้อคิดดีๆ ไว้สำหรับทุกคนในการสู้ต่อไป

“ชีวิตมีโอกาสขึ้นและมีโอกาสลงได้ตลอดเวลา จึงควรเตรียมทักษะที่เราสนใจให้พร้อม หาความรู้อย่างต่อเนื่อง เมื่อเจออุปสรรคต่างๆ ให้ถือว่าเป็นความรู้และเป็นครูให้กับเรา และวันหนึ่งเมื่อโอกาสมาถึง คนที่พร้อมก็จะสามารถคว้าโอกาสนั้นได้ ไม่ใช่ว่ายึดติดว่าคุณจะอยู่บนหอคอยตลอดเวลา คิดว่าเป็นเจ้าของแล้วไม่หาความรู้เพิ่มหรือพยายามเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้องค์กรอยู่รอด”