เผยแพร่ |
---|
เปิด 4 เทคนิค ส่งต่อ ‘ธุรกิจครอบครัว’ จากรุ่นสู่รุ่น ไม่ต้องเปิดศึกแย่งชิง เหมือนในละคร
การข้ามผ่านความเป็นครอบครัวไปสู่การบริหารธุรกิจอย่างมืออาชีพอาจเป็นเรื่องยากสำหรับหลายๆ ครอบครัว แต่ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถทำได้ ในประเทศไทยเอง มีหลายธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จและสามารถส่งต่อธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นได้
ล่าสุด เรื่องราวประเด็นปัญหาการส่งต่อธุรกิจ ได้ถูกนำมาถ่ายทอดเป็นซีรีส์เกาหลีที่ได้รับความนิยม เล่าเรื่องเกี่ยวกับตระกูลมหาเศรษฐีที่บริหารธุรกิจกันโดยสมาชิกในครอบครัว สะท้อนให้เห็นถึงปมปัญหาธุรกิจครอบครัวที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากรุ่นพ่อไปสู่รุ่นลูก
โดยที่พ่อยังยึดมั่นในธรรมเนียมดั้งเดิมที่ต้องการส่งต่อธุรกิจให้กับลูกชายคนโต เมื่อเกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรม พี่น้องจึงพร้อมแย่งชิงธุรกิจและทรัพย์สมบัติกันเองจนแทบไม่เหลือความเป็นครอบครัว
จากซีรีส์เกาหลีเรื่องดังกล่าว ได้สรุปเป็น 4 เทคนิคสำคัญที่จะช่วยให้การส่งต่อธุรกิจครอบครัวประสบความสำเร็จ ได้แก่ “วางแผน-กำหนดกติกา-สร้างการมีส่วนร่วม-บริหารอย่างมืออาชีพ” โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. วางแผน
สมาชิกในครอบครัวต้องร่วมกันกำหนดเป้าหมาย และร่วมกันวางแผนเพื่อให้สามารถเดินไปถึงเป้าหมายได้ นอกจากจะต้องวางแผนในเชิงธุรกิจแล้ว ระบบการจัดการภายในเป็นสิ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ดังนั้น ครอบครัวที่ประสบความสำเร็จจึงต้องมีการตั้งเป้าหมาย วิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของครอบครัว วางแผน และลงมือปฏิบัติเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้
เช่น ตั้งเป้าหมายให้ผลิตภัณฑ์ของครอบครัวเป็นสินค้าระดับโลก ธุรกิจครอบครัวจะต้องมีการปรับตัวอย่างไร สมาชิกต้องมีบทบาทและหน้าที่อะไรบ้าง สิ่งใดเป็นข้อดี สิ่งใดที่ยังขาด จะต้องมีการนำเรื่องเหล่านี้มากำหนดเป็นแผน และทำให้สมาชิกทุกคนเข้าใจตรงกัน เป็นต้น
2. กำหนดกติกา
สมาชิกครอบครัวจะต้องมีการกำหนดกติกาต่างๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน ลดความขัดแย้ง โดยสมาชิกจะต้องรับรู้ถึงบทบาท สิทธิและหน้าที่ของตนเอง รวมถึงผลประโยชน์ที่สมาชิกครอบครัวแต่ละคนจะได้รับ ซึ่งหากเป็นการตกลงร่วมกัน จะช่วยลดความรู้สึกไม่เป็นธรรม
นอกจากกติกาแล้ว การบริหารจัดการต้องแยกเสาหลักของการจัดการ “ธุรกิจ” และ “ครอบครัว” ออกจากกัน แต่ยังต้องมีความเชื่อมโยงซึ่งประสานประโยชน์ระหว่าง 2 เรื่องนี้ได้ เช่น การบริหารจัดการธุรกิจอาจทำเป็นระบบเช่นเดียวกับองค์กรธุรกิจทั่วไป แต่ในขณะเดียวกัน การตัดสินใจในฐานะผู้ถือหุ้น การปันผลเพื่อประโยชน์ของสมาชิกในครอบครัว ยังคงเป็นเรื่องภายในครอบครัว เป็นต้น
3. สร้างการมีส่วนร่วม
สมาชิกในครอบครัวไม่จำเป็นต้องเข้าไปมีส่วนในการดำเนินธุรกิจ หรือระบบการจัดการภายในครอบครัวทุกคน แต่สิ่งสำคัญคือ การยึดถือและมีส่วนร่วมในการปฏิบัติตามกติกาที่ครอบครัวได้ตกลงร่วมกันไว้ นอกจากนี้ การสื่อสารภายในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอจะช่วยสร้างความเข้าใจ ลดความเคลือบแคลงที่อาจเกิดเป็นปัญหาผิดใจกัน และส่งผลกระทบต่อธุรกิจได้
ในปัจจุบัน หลายๆ ครอบครัวมีการจัดกิจกรรมระหว่างสมาชิกครอบครัวในรุ่นต่างๆ เพื่อให้คนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น ลูกพี่ลูกน้อง ป้าหลาน ปู่ย่าตายาย มีความใกล้ชิดกัน นอกจากส่งผลดีในแง่ของความสัมพันธ์ในครอบครัวแล้ว ยังช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจครอบครัวมีความเข้มแข็งอีกด้วย
4. บริหารอย่างมืออาชีพ
หนึ่งในการข้ามผ่านความเป็นธุรกิจครอบครัว คือการบริหารอย่างมืออาชีพ บางครอบครัวอาจมีข้อตกลงร่วมกันที่จะว่าจ้างผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาบริหารธุรกิจครอบครัว เพื่อทำให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้ บางครอบครัวอาจจะยังให้สมาชิกในครอบครัวบริหารเองอยู่ แต่ก็จำเป็นจะต้องเรียนรู้ทักษะและประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อให้มีความพร้อมในการบริหารมากขึ้น
นอกจากตัวบุคคลแล้ว โครงสร้างของธุรกิจครอบครัว จะต้องมีการจัดระบบที่สามารถรองรับการบริหารอย่างมืออาชีพได้ แทนการบริหารจัดการธุรกิจแบบครอบครัวอย่างเดิม
ที่มา KBank Private Banking