เผยแพร่ |
---|
อร่อยแฝงโรค หากกินไม่ระวัง! เปิด 4 ประเภท อาหารดิบ คนไทยชอบบริโภค แต่ไม่ดีต่อสุขภาพ
ระยะหลังมานี้ เกิดกระแสการรับประทานอาหารพิสดารให้เห็นผ่านตาบนโซเชียลมากมาย ไม่ว่าจะเป็น หมึกช็อต หรือล่าสุด อึ่งช็อต ซึ่งการบริโภคอาหารในลักษณะนี้ มีความเสี่ยงทำให้เสี่ยงโรคพยาธิและโรคอื่นๆ ตามมาได้
เว็บไซต์ สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยข้อมูล จากผลการสำรวจการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพของกองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข โดยความร่วมมือจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ และศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 1-12
ระหว่างวันที่ 5-31 มีนาคม 2565 มีผู้ตอบแบบสำรวจ จำนวนทั้งสิ้น 113,847 คน อายุเฉลี่ยระหว่าง 25-26 ปี ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ผลการสำรวจ พบว่า ประชาชนนิยมกินอาหารดิบอย่างน้อย 1 อย่าง โดยเฉลี่ยร้อยละ 28 โดยแบ่งเป็นอาหารดิบแต่ละประเภท ดังนี้
1. นิยมกินอาหารทะเลดิบ เช่น ตำกุ้งสด ปลาหมึกช็อต ปลาแซลมอนซาชิมิ ยำปูทะเล ร้อยละ 22.2
2. นิยมกินสัตว์น้ำจืดดิบ เช่น ยำ/ตำ/ก้อย กุ้งฝอย ปลาดิบ ปูดิบ หอยดิบ ร้อยละ 10.9
3. นิยมกินเนื้อวัวดิบ เช่น ก้อยเนื้อ ซอยจุ๊ ก้อยมะนาว ลาบเลือด ส้มวัว ร้อยละ 7.3
4. นิยมกินเนื้อหมูดิบ เช่น ก้อยหมู หลู้หมู แหนมหมู ร้อยละ 5.9
อย่างไรก็ตาม การกินอาหารดิบที่ไม่ผ่านการปรุงสุก ไม่ผ่านความร้อน หรือใช้ความร้อนในระยะเวลาอันสั้น เช่น ยำปูสด ส้มตำหลากหลายรูปแบบ ลาบหมู ก้อยเนื้อ รวมถึงอาหารประเภทยำต่างๆ ที่มักจะรวนเนื้อสัตว์พอสุกเท่านั้น และเน้นรสชาติที่เผ็ดจัดหรือเปรี้ยวจัด อาจทำให้เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรค เสี่ยงต่อการเป็นพยาธิใบไม้ในปอด
โดยเฉพาะการกินปูดิบๆ เข้าไปมีโอกาสกินไข่ หรือตัวอ่อนของพยาธิเข้าไปด้วย ซึ่งสามารถชอนไชเข้าไปในปอด ฟักตัว และมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 1 เดือน ส่งผลให้มีอาการไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด และในบางรายอาจทำให้เสียชีวิตได้
ดังนั้น เพื่อป้องกันการเสี่ยงอันตรายต่อโรคต่างๆ ที่จะมาจากการกินอาหารดิบประเภทต่างๆ ประชาชนจึงควรหันมาสร้างพฤติกรรมการกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ สะอาด ผ่านความร้อนในระดับที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ โดยเฉพาะการกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ทุกชนิดต้องปรุงสุกถึงข้างใน
และก่อนนำวัตถุดิบต่างๆ มาปรุงประกอบอาหาร ควรล้างน้ำให้สะอาด เพื่อลดการปนเปื้อนของเชื้อโรค สารเคมีตกค้างที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ และโรคพยาธิต่างๆ ที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
แหล่งข้อมูล : กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข