ผู้ประกันตน เฮ! พ.ค.-ก.ค. นี้ ไฟเขียว ลดเงินสมทบประกันสังคม

ผู้ประกันตน เฮ! พฤษภาคม-กรกฎาคม นี้ ครม. ไฟเขียว ลดเงินสมทบประกันสังคม ผู้ประกันตน ทั้ง 3 มาตรา เหลือ 1% 1.9% และ เหลือ 42-60-180 ตามลำดับ 

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 เว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รานงานข่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ลดอัตราเงินสบทบของผู้ประกันตน 3 มาตรา คือ มาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ดังนี้

1. นายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ลดจ่ายเงินสมทบจากอัตราที่เท่ากัน 5% ต่อเดือน เหลือเป็น 1% ต่อเดือน เพื่อให้ลูกจ้างและนายจ้างสามารถมีกำลังในการใช้จ่ายและผู้ประกอบการสามารถมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในการดำเนินธุรกิจในช่วงถัดไป

2. ลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 39 จาก 9% เหลือ 1.9%

2.1 มาตรา 39 สำหรับผู้ที่เคยทำงานอยู่ในบริษัทเอกชน และมีประกันสังคมมาตรา 33 มาก่อน แล้วลาออกจากงาน หรือออกจากมาตรา 33 จากนั้นสมัครใจส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมต่อ เพื่อรับสิทธิทดแทนและคุ้มครอง 6 กรณี

คือ กรณีเจ็บป่วย/อุบัติเหตุ กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ โดยปกติผู้ประกันตนส่งเงินสมทบเข้ากองทุน 432 บาทต่อเดือน

3. ลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 โดยอัตราการจ่ายเงินสมทบมาตรา 40 เข้ากองทุนประกันสังคมมี 3 อัตรา

3.1 อัตราเดิมจ่ายในอัตรา 70 บาท/เดือน อัตราลดเป็น 42 บาท/เดือน มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย

3.2 อัตราเดิมจ่ายในอัตรา 100 บาท/เดือน อัตราลดเป็น 60 บาท/เดือน มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย และกรณีชราภาพ

3.3 อัตราเดิมจ่ายสมทบ 300 บาท/เดือน อัตราลดเป็น 180 บาท/เดือน มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย ชราภาพ และกรณีสงเคราะห์บุตร

ทั้งนี้ มาตรา 40 ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ สัญชาติไทย อายุ 15-65 ปีบริบูรณ์ ไม่เป็นลูกจ้างบริษัท หรือมีนายจ้าง ไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 รวมถึงไม่เป็นข้าราชการ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ