เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เสนอตั้ง สมาคมคนเคยลำบาก ดึงคนฐานราก พ้นความยากจน

เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เสนอตั้ง สมาคมคนเคยลำบาก ดึงคนฐานราก พ้นความยากจน

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดประชุมคณะกรรมการอํานวยการ สอวช. ครั้งที่ 2/2565 ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และผ่านระบบออนไลน์ โดยมี

ศาสตราจารยพิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าว ระหว่างเป็นประธานการประชุม ประชุมคณะกรรมการอํานวยการ สอวช. ครั้งที่ 2/2565 ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และผ่านระบบออนไลน์ เกี่ยวกับประเด็น การแก้ไขปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคม ตอนหนึ่ง ว่า

เป็นเรื่องที่ทั้งรัฐบาลและสังคมให้ความสนใจ และมีความเชื่อมโยงกับการขยับฐานะประชากรกลุ่มฐานราก หากสังคมใดมีการขยับฐานะประชาชนกลุ่มฐานรากให้สูงขึ้นได้ จะถือว่าดีมาก

ทั้งนี้ ดร.เอนก ยังได้ฉายภาพให้เห็นถึงการขยับสถานะประชากรกลุ่มฐานรากของไทย ที่เริ่มขึ้นมาตั้งแต่มีการเลิกทาสในรัชกาลที่ 5 และเริ่มให้ลูกหลานกลุ่มคนเหล่านี้ได้มีโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียน จนได้เป็นข้าราชการในกระทรวงหรือกรมต่างๆ ทำให้เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มชนชั้นนำของประเทศ ที่มาจากกลุ่มฐานรากขยับสถานะขึ้นเป็นชนชั้นนำ และเน้นย้ำว่า ต้องมองเห็นจุดสำคัญจุดนี้

“สังคมไทย มีศักยภาพในการผลิตคนชนชั้นล่างให้ขยับฐานะทางสังคมได้ แม้จะเป็นคนจน หรือคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ต่างก็เป็นคนที่มีคุณภาพได้ ถ้าได้รับโอกาส” ดร.เอนก กล่าว

ประชุมคณะกรรมการอํานวยการ สอวช. ครั้งที่ 2/2565

และว่า งานของกระทรวง อว. ต้องมองเรื่องการสร้างการศึกษาและการอบรมให้คนเกิดการขยับสถานะทางสังคมให้สูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนยากจน ต้องออกแบบหลักสูตรที่อาจไม่ต้องเน้นปริญญาบัตร แต่เน้นให้เกิดการสร้างอาชีพ หรือทักษะ อาทิ การพัฒนาคนให้เป็นนักวิชาชีพเฉพาะทาง อย่างแพทย์ พยาบาล อีกทางหนึ่งคืออาชีพที่สร้างรายได้ แต่ไม่ต้องอาศัยความรู้ทางเทคนิคมากนัก อย่าง กลุ่มช่างซ่อมรถ หรือการสร้างกลุ่มอาชีพทางด้านศิลปะ สุนทรียะ เป็นต้น

และส่วนสุดท้ายที่อยากส่งเสริมที่สุด คือ การสร้างให้เขาได้เป็นผู้ประกอบการ โดยการศึกษา ต้องไม่เน้นที่ความรู้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเน้นที่การเปลี่ยนแนวความคิดให้กลุ่มคนเหล่านี้ภูมิใจว่าเขาเป็นคนเก่ง มีความสามารถและยังมีโอกาสที่ดีรออยู่ ทำให้เกิดเป็นอาวุธทางความคิด ให้เขามีแง่คิดดีๆ ในชีวิต ใช้ความยากจนเป็นแรงเหวี่ยงให้เกิดความพยายาม เพื่อเป็นการสร้างแรงกระตุ้น สร้างแรงบันดาลใจให้เขา

นอกจากนี้ ดร.เอนก ยังได้เสนอให้มีการตั้ง สมาคมคนเคยลำบาก ที่สามารถขยับสถานะขึ้นมาเป็นชนชั้นนำได้ เพื่อมาช่วยเหลือ เป็นพี่เลี้ยงคนที่อยู่ในภาวะยากลำบาก โดยเสนอให้มีโครงการ To Be New Entrepreneur สนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ ที่เติบโตมาจากกลุ่มคนยากไร้ ซึ่งอาจจัดให้มีการมอบรางวัลให้กับกลุ่มนี้ เพื่อเป็นกำลังใจเป็นแรงบันดาลใจให้คนที่อยู่สภาวะเดียวกันได้มีแรงสู้และก้าวขึ้นมาให้อยู่ในจุดที่ประสบความสำเร็จได้เช่นเดียวกัน