รายได้เสริม เคยได้สูงสุด วันละ1,500 เป่าแคนเป็น มีข้าวกิน ตอนแรกไม่เชื่อ

รายได้เสริม เคยได้สูงสุด วันละ1,500 เป่าแคนเป็น มีข้าวกิน ตอนแรกไม่เชื่อ 

“เป่าแคนเป็น มีข้าวกิน เป็นคำของผู้เฒ่า เคยบอกกันไว้ ตอนแรกผมไม่เชื่อ กระทั่งได้เจอกับตัวเอง” นัด-สมพงษ์ ปัญญาสู้ เด็กหนุ่มจากจังหวัดอุบลราชธานี เริ่มต้นบทสนทนา ด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น

ก่อนเล่าให้ฟังต่อ ก่อนหน้านี้ อาศัยอยู่กับยาย ที่มีอาชีพก่อสร้างหารายได้ส่งเสียให้เขาเรียนจนจบม.ปลาย แต่เพราะฐานะครอบครัวไม่ดีนัก ทำให้ไม่ได้เรียนต่อ ต้องหันเหชีวิตมาช่วยยายทำอาชีพก่อสร้าง

แต่ด้วยความชื่นชอบหมอลำและรักในเสียงดนตรี พอเห็นคนอื่นเป่าแคนที่มีเสียงอันไพเราะ จึงสนใจอยากศึกษาเรียนรู้การเป่าแคนบ้าง เริ่มจากการหาความรู้ด้วยตัวเอง สอบถามจากปราชญ์ชาวบ้านในชุมชนที่เป็นหมอแคน และเรียนรู้จาก YouTube

นัด-สมพงษ์ ปัญญาสู้

หลังจากนั้นไม่นาน ทาง โครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา โดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 9 จังหวัด โครงการประสานงานเครือข่ายเชิงพื้นที่ เพื่อพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา พ.ศ. 2563 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้เข้ามาส่งเสริมให้เขาได้มีโอกาสเรียนรู้จากครูผู้เชี่ยวชาญด้านการเป่าแคนโดยตรง

ทั้งยังนำแคน มาให้ได้ฝึกซ้อมที่บ้าน กระทั่งมีทักษะและความสามารถในการเป่าแคนมากขึ้น และได้รับการยอมรับจากคนในชุมชน ซึ่งกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าว ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับเขาไม่น้อย โดยเฉพาะความกล้าพูด กล้าแสดงออก และยังสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการเป่าแคนไปสู่เพื่อนๆ และผู้สนใจได้อีกด้วย

“ตอนนี้ผมเป่าแคนเก่งขึ้นเยอะ ความรู้ที่ได้สามารถนำไปประกอบอาชีพเสริม สร้างรายได้ให้กับครอบครัว วันนี้ผมมีรายได้เข้ามาแบ่งเบาภาระพ่อแม่ โดยไม่ต้องแบมือขอเงินอีกแล้ว โดยรายได้ต่อวันสูงสุดที่เคยได้รับคือ 1,500 บาท ผมภูมิใจมาก เพราะเป็นเงินที่ผมหาได้ด้วยตัวเอง” นัด บอกก่อนยิ้มภูมิใจ

ออกงาน

และว่า ขอขอบคุณ กสศ. ที่ทำโครงการฯ ทำให้มีโอกาสเรียนรู้การเป่าแคนมากขึ้น มีคนรู้จักมากขึ้น มีงาน มีรายได้ไว้ใช้จ่ายในครอบครัว ในอนาคตวางแผนไว้ว่าอยากเปิดบ้านเป็น ศูนย์การเรียนรู้ ในหมู่บ้านไม่ว่าจะเด็กหรือคนรุ่นใหม่หรือใครก็ตาม ที่รักในมนต์เสน่ห์ของเสียงแคน สามารถมาเรียนรู้ได้ ยินดีสอนให้ เพื่อที่วันหนึ่งเสียงแคนจะดังก้องไปทั่วท้องทุ่งภาคอีสาน