เผยแพร่ |
---|
น้ำมันปาล์ม ม้ามืด! ติดอันดับ อุตสาหกรรมมาแรง ส่งท้ายปี 64
เว็บไซต์ มติชนออนไลน์ รายงานข่าว นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤศจิกายน 2564 อยู่ที่ระดับ 101.38 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.84 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และปรับขึ้นสูงกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2562
โดย 11 เดือนแรก ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.84 เติบโตสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ร้อยละ 65.81 ส่วน 11 เดือนแรกอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 63.50 ส่งสัญญาณดีขึ้น
นอกจากนี้ สถานการณ์การติดเชื้อของโรคโควิด-19 ของแรงงานในสถานประกอบการเดือนพฤศจิกายน ทยอยปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ สะท้อนจากดัชนีแรงงานอุตสาหกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.11 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน
สำหรับอุตสาหกรรมหลัก ที่ดัชนีผลผลิตส่งผลบวกในเดือนพฤศจิกายน 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
1. น้ำมันปิโตรเลียม ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.88 จากกลุ่มน้ำมันดีเซล และน้ำมันเครื่องบินเป็นหลัก เป็นผลจากการคลายมาตรการล็อกดาวน์ และเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวหลังประชาชนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนแล้ว ทำให้มีการเดินทางขนส่งและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นปกติได้มากกว่าปีก่อน
2. ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.16 ตามความต้องการในตลาดโลกที่ขยายตัวต่อเนื่องหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 โดย WSTS (World Semiconductor Trade Statistics) คาดการณ์ยอดขายทั่วโลกปี 2564 จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 25.60 และในปี 2565 จะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 8.80 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 11 ปี
3. เม็ดพลาสติก ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.00 จากกลุ่ม Polyethylene resin, Polypropylene resin, Ethylene, Propylene และ Benzene เป็นหลัก เนื่องจากการหยุดซ่อมบำรุงต่อเนื่อง รวมถึงการทำ Turn Around ของผู้ผลิตบางรายในปีก่อน
4. น้ำมันปาล์ม ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 55.92 จากผลผลิตปาล์มน้ำมันที่มีมากกว่าปีก่อน เนื่องจากต้นปาล์มมีความสมบูรณ์เต็มที่ โดยปีก่อนแหล่งเพาะปลูกภาคใต้ประสบปัญหาภัยแล้ง นอกจากนี้ ยังได้รับอานิสงส์ส่งออกน้ำมันปาล์มดิบได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากอินโดนีเซียและมาเลเซียขาดแคลนแรงงานในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ปริมาณน้ำมันปาล์มในตลาดโลกลดลงและมีราคาสูงขึ้น
5. เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.88 ตามความต้องการใช้ในโรงพยาบาลจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ส่งผลให้อุตสาหกรรมยายังคงเติบโตต่อเนื่อง รวมถึงต้องปฏิบัติตามนโยบายจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่กำหนดให้ผู้ผลิตต้องมีสินค้าเพียงพอต่อความต้องการของตลาด และต้องรายงานต่อ อย. ทุก 15 วัน
“ต้องติดตามสถานการณ์ปลายปีนี้ต่อเนื่องต้นปีหน้าว่าการระบาดระลอกใหม่จากโอมิครอนเป็นอย่างไร หากรุนแรงอาจส่งผลต่อกิจกรรมเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวให้ชะงักงันอีกครั้ง หากเกิดคลัสเตอร์อาจส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่อ่อนไหว อาทิ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น อุตสาหกรรมยานยนต์” นายทองชัย กล่าว