ผู้บริหาร สสว. ชมเอสเอ็มอีไทย ปรับตัวเก่ง ชี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเร็วสุด ปี 2566

ผู้บริหาร สสว. ชมเอสเอ็มอีไทย ปรับตัวเก่ง ชี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเร็วสุด ปี 2566

คุณวรพจน์ ประสานพานิช ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนองค์ความรู้และระบบให้บริการ SMEs สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เสวนาหัวข้อ “SME ในยุค Next Normal” ในกิจกรรมสัมมนาออนไลน์ “รู้แล้วรวย ฮีโร่ SMEs กู้วิกฤต ไปต่อแบบไม่มีร่วง” โดยเส้นทางเศรษฐีออนไลน์ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ว่า 2 ปีในช่วงโควิด ทำให้เห็นว่าโลกของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง เกิดคำว่า “เน็กซ์ นอร์มอล” หรือ “นิวนอร์มอล” ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะเศรษฐกิจและสังคมไทยมีวิวัฒนาการต่อเนื่องอยู่แล้ว เราจำเป็นต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และยอมรับให้ได้ เมื่อก่อนใครจะคิดว่าเราไม่ต้องเข้าธนาคาร แต่ทุกวันนี้เราแทบไม่ต้องเข้าธนาคาร เพราะทำธุรกรรมเกือบทุกอย่างบนออนไลน์ได้ และเร็วๆ นี้ที่จะเป็นนิว นอร์มอล คือ เราไม่ต้องพกบัตรเอทีเอ็มแล้ว เพราะสามารถกดเงินแบบไม่ใช้บัตรได้

อย่างไรก็ดี แม้โลกจะมีวิวัฒนาการต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี ดิสรัปชั่น ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้โลกอย่างรวดเร็ว แต่มีที่รวดเร็วกว่านั้นอีกคือโควิด ซึ่งส่งผลกระทบตั้งแต่ต้นปี 2563

“เดิมประเทศไทยมีวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นนับไม่ถ้วน เช่น วิกฤตน้ำมัน วิกฤตต้มยำกุ้ง ฯลฯ ซึ่งทุกครั้งสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ อย่างวิกฤตต้มยำกุ้งที่บริษัทใหญ่ล้มหายตายจาก ลูกจ้างก็ออกไปประกอบอาชีพหรือเริ่มต้นธุรกิจเอสเอ็มอีได้ แต่โควิด เป็นสิ่งที่แปลกกว่าทุกครั้ง เพราะเมื่อเกิดปุ๊บ มันหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของทั้งประเทศและของทั้งโลก เอสเอ็มอีจึงต้องหาทางเอาตัวรอดในภาวะปัจจุบัน” คุณวรพจน์ กล่าว

คุณวรพจน์ ประสานพานิช

ผู้บริหาร สสว. กล่าวอีกว่า เอสเอ็มอีบ้านเราเก่งมาก มีวิธีคิดและวิธีดิ้นรน เนื่องจากเอสเอ็มอีบ้านเรามีขนาดเล็ก จึงปรับตัวได้ง่าย ขณะที่บริษัทใหญ่ทำได้ยากนิดหนึ่ง เพราะสายการผลิตหรือเส้นทางธุรกิจเป็นแบบแผนมาก จะเปลี่ยนทีต้องใช้เวลา ขณะที่เอสเอ็มอี เช่น ร้านเพนกวิน อีท ชาบู สามารถปรับตัวช่วงโควิดด้วยการขายหม้อด้วย ขายชาบูด้วย หรือเมื่อระบาดระลอกสองก็เอาทุเรียนมาขาย

ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนองค์ความรู้และระบบให้บริการ SMEs กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยด้วยว่า จะฟื้นตัวระดับก่อนโควิดได้เร็วสุดในปี 2566 ดังนั้น ปี 2565 จะเป็นอีกปีที่เศรษฐกิจไม่ดีเท่าเดิม การเติบโตทางเศรษฐกิจจะเป็นรูปตัวเค คือ ความเหลื่อมล้ำในสังคมจะยิ่งมากขึ้นเหมือนขาของตัวเคที่ห่างออกจากกัน เอสเอ็มอีจึงต้องพยายามประคองตัวเพื่อให้อยู่รอดให้ได้ ธุรกิจขาขึ้นในกลุ่มดิจิทัล โซลูชั่น ยังไปได้ดี ส่วนธุรกิจท่องเที่ยวอาจยังลำบากอยู่

“เอสเอ็มอีมีความเปราะบางจากโควิดมากกว่า แต่เอสเอ็มอีบ้านเราเก่งตรงพลิกตัวได้ง่าย ปรับนิดเดียวก็ไปต่อได้ เมื่อก่อนอาจปรับปีละครั้ง แต่พอโควิดมา บางทีอาจปรับทุกเดือน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เอสเอ็มอีประสบความสำเร็จคือนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงการทำธุรกิจ อย่างตอนนี้จะขายของออฟไลน์ไม่มีแล้ว เพราะทุกอย่างจัดออนไลน์ ดังนั้น ต้องหาทางทำการตลาดบนออนไลน์ให้ได้”

“ส่วนสถานการณ์เศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้นแน่นอน และมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์เอสเอ็มอีประเทศ ดังนั้น เอสเอ็มอี ต้องเชื่อมั่นและมองหาโอกาสสร้างธุรกิจ ดูว่าสินค้าหรือบริการที่เรามีสามารถตอบโจทย์ลูกค้าหรือไม่ ในอนาคตธุรกิจที่ไหลลื่นและปรับตัวได้เร็วที่สุดจะเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ” ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนองค์ความรู้และระบบให้บริการ SMEs สรุป