การตลาดใหม่ ออมนิแชนเนล ต้องทำให้ได้ก่อนจีนตั้งฐาน ถึงเวลานั้นสู้ยังไงก็ไม่ชนะ

การตลาดใหม่ ออมนิแชนเนล ต้องทำให้ได้ก่อนจีนตั้งฐาน ถึงเวลานั้นสู้ยังไงก็ไม่ชนะ

จากการสัมมนา Online business opportunities สร้างโอกาสทางธุรกิจ ปั้นผู้ประกอบการสินค้าไทยให้ดีพร้อม จัดโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โดยคุณวรวุฒิ อุ่นใจ ผู้ก่อตั้งออฟฟิศเมท อดีตซีอีโอ บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันเป็น รองหัวหน้าพรรคกล้า ในฐานะวิทยากรรับเชิญ กล่าวว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคโควิด-19 มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงมาก ไม่เคยมียุคใดสมัยใดที่บังคับให้เราต้องนั่งทำงานอยู่ที่บ้าน ขณะเดียวกัน การเดินทางระหว่างประเทศก็ไม่มี ส่งผลให้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องปรับตัวแบบ 360 องศา ถ้าองศาไหนที่มองแล้วว่ามันดีและไปได้ก็ต้องไป

 

“สิ่งที่ยากกับการทำตลาด Omni Channel คือ ต้องมีระบบบริหารจัดการข้อมูล ที่เชื่อมต่อกันแบบไร้รอยต่อ พูดง่ายๆ คือ ในอนาคต ลูกค้าจะซื้อแบบรีเทลก็ได้ หรือจะซื้อออนไลน์ก็ได้ แต่การเปลี่ยนคืนสินค้า ต้องสามารถทำได้ในทุกระบบ เช่น ซื้อออนไลน์ มาเปลี่ยนหน้าร้านได้ หรือซื้อหน้าร้านก็สามารถเปลี่ยนช่องทางออนไลน์ได้ ข้อดีของตลาดแบบนี้ คือ เปิด 24 ชม. วิธีนี้มันเป็นเป้าหมายสูงสุดของการเทรดดิ้ง และคนที่ทำตลาดแบบนี้ได้ดีที่สุดคือ อาลีบาบา แพลตฟอร์มที่แข็งแกร่งที่สุดของจีน

คุณวรวุฒิ อุ่นใจ

ถามว่าบ้านเราทำได้ไหม ต้องบอกว่าทำได้ และต้องเร่งทำ แต่ความยากอยู่ที่ระบบปฏิบัติการและตัวฐานข้อมูล ต้องซิงก์และเชื่อมกันแบบไร้รอยต่อ ปัจจุบันยังไม่มีใครทำได้ดีเท่าจีน ดังนั้น หากไม่เร่งพัฒนาให้แล้วเสร็จภายใน 3-5 ปี หลังโควิด โอกาสที่จีนจะเข้ามาตีตลาดเป็นไปได้สูง และเมื่อถึงเวลานั้น เราจะไม่สามารถสู้เขาได้ ทั้งความพร้อมเรื่องโลจิสติกส์ ฐานข้อมูล ระบบเอไอ ที่คำนวณพฤติกรรมผู้บริโภค จีนเขานำไปมาก เวลานี้ผู้ประกอบการรายใหญ่และห้างดังๆ ส่วนใหญ่ปรับตัวมาใช้ระบบนี้กันมากขึ้น แต่ไม่ง่ายที่จะทำให้เสร็จในชั่วข้ามวัน ข้ามเดือน เนื่องจากต้องเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างสาขาและระหว่างแชนเนล ที่สำคัญ ลงทุนสูง แต่ที่น่าสนใจคือ เอสเอ็มอี จะทำได้ง่ายกว่า ด้วยความเล็กมีความยืดหยุ่นสูง ระบบการคอนโทรลไม่ซับซ้อนมากนัก” คุณวรวุฒิ กล่าว

นอกจากนี้ เขายังกล่าวถึงสินค้าที่โมเดิร์นเทรดต้องการ ว่า ต้องดูสินค้าที่มีความต้องการสูงในเวลานั้นคืออะไร ซึ่งเชื่อว่าทุกห้างหากันอยู่แล้ว แต่ถ้าสินค้าเหมือนกันโอกาสเลือกมันจะน้อย ที่ผ่านมาสิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับเอสเอ็มอี คือ เรื่องของดีไซน์แพ็กเกจจิ้ง สินค้าหลายตัวเป็นสินค้าที่ดีมาก แต่การตลาดสู้แบรนด์ดังไม่ได้ ทั้งการออกแบบแพ็กเกจ รวมถึงการออกแบบโปรโมชั่น เช่น ปัจจุบัน สินค้ากลุ่ม อาหารเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ที่มีความต้องการทางการตลาดสูง และการขายของแบบ Multi pack ก็จะเป็นที่นิยมเพราะคนนิยมซื้อสินค้าไว้คราวละมากๆ เพื่อไม่ต้องไปซื้อบ่อยครั้ง เหล่านี้คือการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภคแบบชาญฉลาดก็จะสามารถครองตลาดได้ และมักจะได้รับการคัดเลือกเข้าไปอยู่ในห้าง ปัญหาของเอสเอ็มอี คือต้องตีโจทย์ให้แตก ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ถ้าเป็นอาหาร สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ รสชาติที่ลูกค้าชอบไม่ใช่เราชอบ ให้เอาความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก คุณภาพจะขายตัวเองในระยะยาวโดยไม่จำเป็นต้องทำโปรโมชั่น

คุณวรวุฒิ ยังกล่าวถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ว่า ต้องพยายามหาข้อมูลให้ได้มากที่สุด การขาย บีทูบี บางครั้งไม่ต้องทำตลาดกับลูกค้าหลากหลายมากนัก แต่ต้องรู้ว่าใครมีอำนาจตัดสินใจซื้อ เข้าถูกคนหรือไม่ ขณะเดียวกัน ข้อมูลหลักฐานต้องเตรียมพร้อม เช่น สินค้าเครื่องไฟฟ้าต้องมี มอก. สิ่งที่ห้างกลัว คือ สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ หรือสินค้าปลอม ต้องเช็กให้ดี เพราะห้างจะเดือดร้อน นอกจากนี้ ศักยภาพและความพร้อมของผู้ประกอบการเป็นสิ่งสำคัญ เพราะบางครั้งต้องทำเป็นบิ๊กล็อต เพื่อวางจำหน่ายในสาขาของห้างทั่วประเทศ กำลังการผลิตพอไหม เงินทุนหมุนเวียน ที่จะนำมาใช้จ่ายมีเพียงพอหรือไม่ นอกจากนี้ ยังฝากข้อคิดไว้ด้วยว่า ข้อมูลที่เคยทำเป็นสินค้าออนไลน์ ได้รับความนิยม เป็นอีกหนึ่งจุดขายที่สำคัญ ที่ห้างจะชอบ

เอสเอ็มอี สู้ๆ

“ยุคนี้ลู่ทางที่จะทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น ต้องพยายามไปทุกที่ เพราะโควิดจะอยู่ไปอีกพักใหญ่ ถ้าเร่งการขายให้เกิดได้ก็ต้องไป เรื่องออนไลน์อย่าละเลย แม้บางครั้ง จะยังไม่ขายก็จริง แต่การทำการสื่อสาร ช่องทางออนไลน์มีประโยชน์มาก วันนี้คนไทยใช้โซเชียลมากกว่า 9 ชั่วโมงต่อวัน ช่องนี้จึงเป็นโอกาสมาก ต้องไปคิดตีโจทย์ให้แตก โดยเฉพาะ การค้าขายแบบ บีทูบี ถ้าเราทำออนไลน์ได้แข็งแรง การจัดซื้อจะตัดสินใจง่ายมาก” คุณวรวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย