“ปูเค็มอนามัยฉายรังสี” ใส่ส้มตำกินได้ปลอดภัย พลิกโฉมอาหารไทยมีมาตรฐาน

 

“ปูเค็มอนามัยฉายรังสี” ใส่ส้มตำกินได้ปลอดภัย พลิกโฉมอาหารไทยมีมาตรฐาน

‘ตลาดปูเค็ม’ ในไทยเป็นตลาดที่ใหญ่ จากผลการสำรวจ พบว่า คนไทยกินส้มตำปูเเต่ละเดือนเป็นล้านครก ตัวเลขนีัยังไม่รวมเมนูอื่นๆ ที่ทำจากปูเค็ม แต่ที่ผ่านมาปัญหาของปูดองเค็มมีสิ่งปนเปื้อนไม่ว่าจะเป็นพยาธิ เชื้อจุลินทรีย์ ล่าสุดมีผู้ประกอบการไทยแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการนำปูเค็มไปฉายรังสี

นายวสันต์ กอบุตร ผู้ผลิตปูดองเค็มฉายรังสี ภายใต้แบรนด์ ‘ปูฉาย ปูเค็มอนามั‘ เล่าว่า เมื่อปี 2562 ได้สร้างโรงงานปูเค็มเล็กๆ ซึ่งปูเค็มที่ขายแตกต่างจากในท้องตลาด เพราะเป็นปูเค็มดองที่ผ่านการฉายรังสีกับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) 

สาเหตุที่นำปูเค็มไปฉายรังสี เนื่องจากที่ผ่านมาปัญหาของปูเค็ม คือ ไม่สะอาด มีพยาธิ กินเเล้วท้องเสีย เพราะมีจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประกอบกับมองว่า ตลาดปูเค็มในไทยเป็นตลาดที่ใหญ่ จากผลการสำรวจ พบว่า คนไทยกินส้มตำปูเเต่ละเดือนเป็นล้านครก ตัวเลขนีัยังไม่รวมเมนูอื่นๆ ที่ทำจากปูเค็ม และประเทศไทยก็ยังต้องนำเข้าปูเค็มจากประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยเหตุผลเหล่านี้ เลยตัดสินใจทำปูเค็มขาย

สำหรับประโยชน์ของการฉายรังสี นอกจากฆ่าพยาธิ จุลินทรีย์ ช่วยยืดอายุปูเค็ม นอกจากนี้ยังเป็นการยกระดับอาหารพื้นถิ่น ซึ่งทาง ‘สทน.’ ยังให้ความสำคัญกับ การยกระดับสินค้าเกษตรของไทย

รศ.ดร. ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. กล่าวว่า เทคโนโลยีการฉายรังสีในประเทศไทยจะเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 จนกระทั่ง รัฐบาลไทยได้ให้ความเห็นชอบในการรับความช่วยเหลือจากประเทศแคนนาดา จึงดำเนินการสร้างโรงงานฉายรังสีแบบเอนกประสงค์ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมอาหารฉายรังสีในประเทศไทย แต่ข้อมูลการฉายรังสียังถูกรับรู้ในวงแคบ 

ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบถึงข้อมูลอาหารฉายรังสี หรือรับรู้แบบผิดๆ ว่าอาหารฉายรังสี คือ อาหารที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค ในส่วนของผู้ประกอบการที่มาใช้บริการฉายรังสีเอง ก็ไม่อยากบอกผู้บริโภคว่าผลิตภัณฑ์ของตนผ่านการฉายรังสี เพราะกังวลว่าผู้บริโภคจะเข้าใจผิด และอาจจะส่งผลกระทบกับต่อยอดขายสินค้า ทำให้อาหารฉายรังสีไม่เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับเท่าที่ควร อีกทั้งยังมีผู้ประกอบการอาหารอีกจำนวนมาก ยังไม่เข้าใจว่า กระบวนการฉายรังสีอาหารสามารถทำให้ผลิตภัณฑ์ปลอดเชื้อได้ ดังนั้น การฉายรังสีอาหารในผลิตภัณฑ์ที่คนไทยบริโภค จึงยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าที่ควร

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการของไทย ที่เห็นความสำคัญนำอาหารมาฉายรังสี เช่น กลุ่มอาหารแปรรูป อาหารแช่แข็ง ผลไม้ สมุนไพร เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ อาหารสุนัข สำหรับประโยชน์ที่ได้รับ นอกจากจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยในตัวสินค้าแล้ว ยังช่วยส่งเสริมในเรื่องการส่งออกอีกด้วย เพราะหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกต่างก็ให้การยอมรับว่าอาหารฉายรังสีมีความปลอดภัยสำหรับการบริโภค