“สยามราชธานี” ชี้ธุรกิจเอาต์ซอร์ซเติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจ เตรียมโรดโชว์ 2 จว.

“สยามราชธานี” ชี้ธุรกิจเอาต์ซอร์ซมีแนวโน้มเติบโตดี ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เหตุภาครัฐ เอกชนขนาดใหญ่ มีความสนใจใช้บริการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและลดต้นทุนองค์กร เตรียมโรดโชว์  2 จังหวัด เหนือ-ใต้ 

นายไกร วิมลเฉลา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน) หรือ SO ผู้ประกอบธุรกิจการจ้างเหมาบริการครบวงจรเปิดเผยถึงแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจบริการจัดหาบุคลากร (Outsourcing Services) ว่า ปัจจุบันการจัดหาบุคลากรจากภายนอก เข้ามาดำเนินการแทนในส่วนที่ไม่ใช่หน้าที่หลักของธุรกิจ อาทิ พนักงานสำนักงาน, พนักงานขับรถยนต์ และพนักงานช่างเทคนิค เป็นวิธีหนึ่งที่หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ สนใจใช้บริการเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเช่นนี้

ข้อมูลที่เป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นว่าธุรกิจเอาต์ซอร์ซยังมีโอกาสและทิศทางในการเติบโตที่ดีมาก สะท้อนได้จากข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างจากระบบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ซึ่งจะเห็นได้ว่าวงเงินงบประมาณและมูลค่าการทำสัญญาของโครงการการจัดซื้อจัดจ้างประเภทจ้างทำของและจ้างเหมาบริการมีมูลค่ามีการเติบโตทุกปี

โดยปี 2561 มีวงเงินงบประมาณดังกล่าวจำนวน 202,221 ล้านบาท และมีมูลค่าที่ทำสัญญาแล้ว 192,815 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 จำนวน 74,469 ล้านบาท และ 69,241 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 58 และร้อยละ 56 ตามลำดับ สอดคล้องผลสำรวจของ Monitor Deloitte และ Dubai Outsource City ประมาณการมูลค่าการใช้บริการเอาต์ซอร์ซของโลกมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5 ในช่วงปี 2562-2566 จาก 603.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2562 เป็น 731.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2566

ทั้งนี้ งานบริการของบริษัทมีหลากหลาย ครอบคลุมความต้องการของลูกค้า โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่

  1. ธุรกิจให้บริการจัดหาบุคลากร (Outsourcing Services) แบ่งการให้บริการออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
    • ธุรกิจบริการบริหารจัดการ ซึ่งครอบคลุม การบริหารจัดการพนักงานขับรถยนต์และพนักงานสำนักงานการบริหารจัดการพนักงานช่างเทคนิค และการบริหารจัดการงานบันทึกข้อมูล
    • ธุรกิจบริการดูแลภูมิทัศน์ ซึ่งครอบคลุมบริการดูแลสวนขนาดใหญ่ บริการออกแบบและจัดสวน และบริการตัดต้นไม้ใหญ่ (Tree Care)
  2. ธุรกิจให้เช่าและบริการ แบ่งการให้บริการออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
    • ธุรกิจบริการรถยนต์ให้เช่า ซึ่งบริษัทมีบริการรถยนต์ให้เช่าหลากหลายรูปแบบทั้ง รถเก๋ง รถกระบะ รถตู้ รถบรรทุก รวมทั้งรถยนต์ดัดแปลง
    • ธุรกิจให้เช่าพื้นที่สำนักงาน

สำหรับตัวอย่างลูกค้าที่ใช้บริการของบริษัท มีทั้งเอกชนรายใหญ่ เช่น บมจ.ปตท., บมจ.การบินไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารออมสิน, บมจ.ท่าอากาศยานไทย, บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย, บมจ.ไทยออยล์, บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เป็นต้น ในส่วนของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, การไฟฟ้านครหลวง, การประปาส่วนภูมิภาค, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงวัฒนธรรม, สำนักงานประกันสังคม, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน, การประปาส่วนภูมิภาค เป็นต้น

นายคมกฤต มีคำสัตย์ กรรมการผู้จัดการสายงานตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ อาร์เอชบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจําหน่ายหุ้น กล่าวว่า SO มีบริการสนองความต้องการของลูกค้าได้หลากหลาย และสามารถนำความต้องการของลูกค้ามาพัฒนาต่อยอดบริการใหม่ได้ในทุกภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ตลอดระยะเวลา 40 ปี ที่บริษัทดำเนินธุรกิจ สามารถสร้างกำไรได้ทุกปีและมีผลดำเนินงานเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2559 บริษัทมีรายได้รวม 1,670.27 ล้านบาท กำไรสุทธิ 138.35 ล้านบาท ปี 2560 มีรายได้รวม 1,732.32 ล้านบาท กำไรสุทธิ 116.11 ล้านบาท ปี 2561 มีรายได้รวม 1,850.88 ล้านบาท กำไรสุทธิ 101.01 ล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือน ปี 2562 มีรายได้รวม 929.10 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 48.04 ล้านบาท

ในเร็วๆ นี้ SO จะนำเสนอข้อมูลทิศทางการดำเนินงาน จุดแข็งและโอกาสการเติบโตในอนาคตให้แก่นักลงทุนทั่วไป 2 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทั้งปริมาณการซื้อขายและจำนวนนักลงทุน คือ เชียงใหม่และอ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อตอกย้ำความเชื่อมั่นให้นักลงทุนเห็นถึงศักยภาพการดำเนินธุรกิจ

สำหรับการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ในครั้งนี้มีจำนวนไม่เกิน 85 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 27.42 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน แบ่งเป็นขายให้แก่ประชาชนทั่วไปจำนวน 76.5 ล้านหุ้น และเสนอขายให้แก่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทจำนวนไม่เกิน 8.5 ล้านหุ้น บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายกิจการเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต รวมทั้งนำไปชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ปัจจุบัน SO มีทุนจดทะเบียน 310 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 310 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1.00 บาท มีทุนที่ออกและชำระแล้ว 225 ล้านบาท หรือ 225 ล้านหุ้น โดยมีครอบครัววิมลเฉลาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่