วิษณุ มั่นใจ เลือกตั้งไม่โมฆะ ล่ารายชื่อถอดกกต.ได้ แต่กระบวนการอีกยาว หากให้หยุดปฏิบัติหน้าที่

วิษณุ มั่นใจ เลือกตั้งไม่โมฆะ ล่ารายชื่อถอดกกต.ได้ แต่กระบวนการอีกยาว หากให้หยุดปฏิบัติหน้าที่

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 1 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี ที่มีการล่ารายชื่อถอดถอนคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เนื่องจากไม่พอใจในการปฏิบัติหน้าที่จัดการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า เท่าที่เห็นคิดว่าการล่ารายชื่อดังกล่าวยังไม่นำไปสู่อะไร เพราะในกระบวนการถอดถอนนั้นจะต้องผ่านการสอบสวน และอื่นๆ อีกมาก ใครจะล่ารายชื่อก็ทำไป แต่กระบวนการยังมีอีกยาว หากจะให้กกต.หยุดปฏิบัติหน้าที่ ถามว่าแล้วใครจะประกาศผลการเลือกตั้ง หรือมีความตั้งใจไม่อยากให้ประกาศผลการเลือกตั้ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากประกาศผลการเลือกตั้งไม่ได้จะส่งผลให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ถือว่าเป็นโมฆะ เพราะการเลือกตั้งจะเป็นโมฆะได้ก็ต่อเมื่อมีกรณีเดียว คือ จากคำสั่งศาลแต่ในวันนี้คดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งยังไม่ถึงชั้นศาลเลยแม้แต่เรื่องเดียว วันนี้จึงคิดว่ายังไม่มีเรื่องที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

เมื่อถามว่า มองว่าเจตนาของคนที่ล่ารายชื่อถอดถอนกกต.นั้น เป็นเพราะอะไร นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ เขาอาจจะเจตนาดีก็ได้ หรืออาจจะหวังอะไรตนก็ไม่ทราบ แต่อยากให้ช่วยดูจนสุดกระบวนการว่าที่สุดแล้วจะเป็นอย่างไร เรื่องนี้ฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อยได้ดูแลอยู่ เพราะภายใน 1-2 เดือนนี้ ที่จะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

จึงไม่ควรเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง นี่เป็นหนึ่งเหตุผล ที่จำเป็นต้องเลื่อนการเลือกตั้งจากวันที่ 24 ก.พ. 62 มาเป็นวันที่ 24 มี.ค.62 เพราะไม่อยากให้มีอะไรเกิดขึ้นในช่วงพระราชพิธี

เมื่อถามว่า ทางที่ดีกกต. ควรออกมาชี้แจงข้อสงสัยต่างๆ เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดเจนหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า กกต.ก็ได้ชี้แจงบ้างแล้ว และเห็นด้วยว่าควรจะต้องการชี้แจงอย่างเป็นระบบ กกต.ควรรวบรวมคำถามทั้งหลาย เพื่อตอบให้เกิดความกระจ่าง ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบ

แต่ต้องตอบให้ตรงกัน อย่างไรก็ตามกกต. ไม่ได้มาปรึกษาเรื่องอะไรกับตน และต้องเข้าใจด้วยว่า กกต.ชุดนี้คือกกต.ชุดใหม่ ซึ่งมีคณะทำงานใหม่ กฏหมาย และ วิธีการเลือกตั้ง รวมถึงการนับคะแนนใหม่


“คนไม่ค่อยเข้าใจหรอกว่า ในการเลือกบัตรใบเดียวนั้น เมื่อเลือกเสร็จแล้ว คะแนนต้องเอามาหาร รอบ 1 รอบ 2 รอบ 3 เมื่อมีหลายรอบเข้าก็ทำให้พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเพียง 30,000 คะแนน ได้ส.ส. มา 1 คน จากทีแรกตั้งหลักว่าต้องได้ถึง 60,000 – 70,000 คะแนน

จึงจะได้ส.ส. 1 คน ถามว่าแค่ 30,000 คะแนนทำไมจึงได้ 1 คน ก็เพราะว่ามันมีวิธีคิดของเขา ซึ่งกกต. ต้องอธิบายทั้งหมดอย่างเป็นระบบ เพราะเป็นวิธีใหม่จริงๆ ทั้งวิธีการเลือกตั้งและการนับคะแนน รวมถึงเจ้าหน้าที่ ซึ่งก็เห็นใจทุกอย่างที่ทำให้ทุกอย่างเกิดความวุ่นวายขึ้น”

ผู้สื่อข่าวถามว่า สรุปว่าได้ 30,000 คะแนนก็ได้ส.ส.มา 1 ที่นั่งแล้วใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า “เห็นเขาว่าอย่างนั้น เพราะการนับคะแนนมีการเฉลี่ยหลายรอบ รอบ 1, 2, 3 นั้น พรรคอื่น ได้ไปหมดแล้ว แต่เหลือเศษอยู่ จึงเฉลี่ยให้พรรคเล็กๆ”

เมื่อถามว่าอย่างนี้จะเกิดความเป็นธรรมแก่พรรคการเมืองขนาดใหญ่ หรือ นายวิษณุ กล่าวว่า พรรคใหญ่ ได้ผ่านการได้เปรียบไปหมดแล้ว จึงได้เฉลี่ยไปถึงพรรคเล็ก เป็นไปตามกฎกติกาที่มีมาตั้งแต่ต้น ไม่มีใครไปกลั่นแกล้งกัน ในเมื่อกฎกติการะบุไว้อย่างนี้ ผลที่ออกมาจึงช่วยไม่ได้ แต่ที่สุดแล้วควรให้กกต. เป็นผู้ประกาศ และเปิดเผยถึงวิธีการคิดเฉลี่ยคะแนน