ชิตา ออร์แกนิค ฟู้ด ปั้นแบรนด์ ‘ลำลำ’ ตอบโจทย์ตลาดเฮลตี้โลก

ชิตา ออร์แกนิค ฟู้ด ปั้นแบรนด์ ‘ลำลำ’

สินค้าออร์แกนิกคุณภาพ ตอบโจทย์ตลาดเฮลตี้โลก

จากธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตรขั้นต้นสำหรับอุตสาหกรรม พัฒนาเป็นสินค้ามีองค์ความรู้ด้านการผลิตอาหารและนวัตกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตรออร์แกนิก ผลิตภัณฑ์สำหรับอาหารไทยแบรนด์ ลำลำ (Lumlum) ที่มุ่งสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรคุณภาพ เพิ่มมูลค่าเน้นเจาะตลาดต่างประเทศ

คุณสมเกียรติ โอวรารินท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชิตา ออร์แกนิค ฟู้ด จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจหลักเป็นผู้ผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรคุณภาพ และผู้ซัพพลายวัตถุดิบขั้นต้นให้กับผู้ผลิตในอุตสาหกรรม โดยที่ผ่านมาเน้นทำ Contract Farming กับกลุ่มเกษตรกร แต่วัตถุดิบส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาเคมี ที่เราตระหนักว่าสารเคมี ยากำจัดวัชพืช ยาฆ่าแมลง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเกษตรกร และผู้บริโภคโดยตรง ประกอบกับช่วงที่ผ่านมา เทรนด์เรื่องสินค้าออร์แกนิกในตลาดต่างประเทศ ส่งผลให้แนวโน้มมูลค่าตลาดสินค้าอาหารที่เป็นออร์แกนิกเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกัน มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นในการตรวจสอบสารตกค้างในกลุ่มผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ภายใต้สถานการณ์และปัจจัยดังกล่าว จึงต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปอีกกลุ่มขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในตลาดออร์แกนิก

และสามารถส่งออกไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศที่มีมาตรการที่เข้มงวดในการตรวจสอบสารตกค้างในผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารได้ และดูเหมือนว่ามาตรฐานออร์แกนิกของแต่ละประเทศจะเป็นประตูที่เปิดกว้างสำหรับตลาดสินค้าที่มีมาตรฐานเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค

สร้างฟาร์มต้นแบบมาตรฐานออร์แกนิกสากล เพิ่มมูลค่าเกษตรแปรรูป คุณสมเกียรติ กล่าวว่า จัดการเรื่อง Farm Management ต้องให้สอดคล้องกับการผลิต เริ่มจากหาแปลงปลูกต้นแบบที่เป็นพื้นที่ของตนเองเพื่อให้สามารถบริหารจัดการภายในฟาร์มได้สอดคล้องกับมาตรฐานออร์แกนิกตามที่ตลาดต้องการ และก่อตั้ง บริษัท ชิตา ออร์แกนิค ฟู้ด จำกัด ในปี 2553 ขึ้นมาเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่แยกส่วนจากบริษัทแม่คือ บริษัท เอสแอนด์เจ โปรดักท์ จำกัด อย่างชัดเจน

โดยมีแนวคิดนำองค์วามรู้ด้านนวัตกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรที่เป็นความชำนาญของบริษัทแม่ มาผสานกับจุดแข็งของธุรกิจที่มีศักยภาพในการบริหารจัดการผลิต และแปรรูปวัตถุดิบสินค้าเกษตรขั้นต้นหลากหลายชนิดเพื่ออุตสาหกรรม มาต่อยอดเป็นสินค้าเกษตรแปรรูปคุณภาพ ปลอดสารเคมี และมีมาตรฐานออร์แกนิกรับรอง ตอบโจทย์กลุ่มคนรักสุขภาพ สามารถจำหน่ายในตลาดโลกด้วยราคาที่สูงขึ้นได้

รวมทั้งปั้น แบรนด์ลำลำ (Lumlum) เพื่อสื่อความหมายถึงการเป็นผู้ผลิตอาหารที่มาจากภาคเหนือของประเทศไทย และยังพ้องเสียงกับภาษาถิ่นของภาคเหนือที่แปลว่า ‘อร่อย’ ซึ่งขั้นตอนการดำเนินธุรกิจใหม่ต้องใช้เวลากว่า 3 ปี ตั้งแต่ปรับเปลี่ยนพื้นที่ฟาร์มทุกตารางนิ้วให้เป็นแปลงเกษตรที่ปราศจากการใช้เคมี การยื่นขอมาตรฐานสินค้าออร์แกนิกสำหรับผลผลิตในฟาร์มก็ให้สอดคล้องกับมาตรฐานตลาดได้ อาทิ การได้รับมาตรฐานสินค้าออร์แกนิกของสหภาพยุโรป EU และมาตรฐานสินค้าออร์แกนิกของสหรัฐอเมริกา (USDA) ใบรับรองออร์แกนิกของประเทศญี่ปุ่น (JAS Organic)

‘อาหารไทย’ โฟกัสตลาดออร์แกนิกต่างแดน ผลิตภัณฑ์หลักของ ‘แบรนด์ลำลำ’ ยังคงเป็นกลุ่มซอส เครื่องปรุงรส และเครื่องแกงไทย ดังนั้น วัตถุดิบที่ปลูกส่วนใหญ่ คือ พริก กระเทียม ขิง ข่า ตะไคร้ มะกรูด มะนาว โหระพา กะเพรา รวมถึงปลูกอ้อยที่ใช้ทำน้ำตาลทรายแดง และสับปะรดที่ใช้ทำน้ำส้มสายชู เป็นการปลูกโดยปราศจากสารเคมี บนพื้นที่กว่า 500 ไร่

Position ของ แบรนด์ ‘ลำลำ’ จึงต้องการแตกต่างจากผลิตภัณฑ์อาหารออร์แกนิกทั่วไป จึงเลือกผลิตสินค้าออร์แกนิกใน ‘กลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับอาหารไทย’ ที่มีความหลากหลายทั้งในแง่ของวัตถุดิบที่เป็นจุดแข็งของแบรนด์ และคุณภาพที่มาตรฐานรับรองจะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า และเราเป็นธุรกิจที่มีความชำนาญในด้านการแปรรูปสินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการนำไปผลิตเป็นอาหาร ที่มองว่าเป็นความยาก จึงทำให้ธุรกิจมีความได้เปรียบจากสินค้าอาหารออร์แกนิกในตลาดทั่วไป โดยช่วงแรกใช้กลยุทธ์การออกงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ อาทิ เทศกาลสินค้าออร์แกนิกที่ประเทศเยอรมนี ที่เป็นแหล่งรวมซัพพลายเชนด้านอาหารทั่วโลกมารวมตัวกันในงานนี้ เพื่อสังเกตและวิเคราะห์ตลาดในกลุ่มสินค้าออร์แกนิก ตลอดจนความต้องการของผู้บริโภคในประเทศเป้าหมาย

คุณสมเกียรติ กล่าวว่า เป้าหมายของธุรกิจใหม่คือต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่เป็นการต่อยอดและแตกแขนงจากธุรกิจเดิม เพื่อตอบสนองตลาดออร์แกนิกที่กำลังเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดต่างประเทศ ตลอดจนแนวคิดที่จะไม่หยุดนิ่งเฉพาะในการแปรรูปวัตถุดิบขั้นต้นเพียงอย่างเดียว แม้ช่วงแรกของการผลิตก็ยังใช้โรงงานของบริษัท เอสแอนด์เจ โปรดักท์ จำกัด ในการผลิตสินค้าเพื่อทดลองตลาด จนมีความมั่นใจในการเติบโตของธุรกิจ จึงได้มีการต่อตั้งโรงงานผลิต ชิตา ออร์แกนิค ขึ้นมา รวมทั้งการจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการผลิตสินค้าอาหารที่มีมาตรฐานรับรองด้านออร์แกนิก

ผลผลิตที่ต่ำกว่า แต่ขายได้ราคาสูง สำหรับปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรออร์แกนิก ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่หลากหลาย ทั้งในด้านคุณภาพ การเอาใจใส่ดูแล การบริหารจัดการภายใต้สภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่าง ผลผลิตกระเทียมที่เป็นการทำเกษตรเคมี ได้ผลผลิตประมาณ 3,000 กก./ไร่ ส่วนเกษตรแบบอินทรีย์ จากสถิติภายในแปลงปลูกของไร่ ชิตา ฟาร์ม ได้ผลผลิตประมาณ 1,500-2,000 กก./ไร่

คุณสมเกียรติ กล่าวว่า แม้จะมองว่าส่วนต่างของการทำเกษตรเคมีมีปริมาณผลผลิตต่อไร่สูงกว่าการทำเกษตรอินทรีย์พอสมควร แต่ต้องทราบด้วยว่า ผลผลิตของทั้ง 2 แบบมีตลาดที่แตกต่างกัน มูลค่าไม่เท่ากัน เพราะสินค้าออร์แกนิกที่ได้มาตรฐานสากลย่อมราคาสูงกว่าสินค้าเกษตรเคมีหลายเท่า จึงเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร

ทั้งนี้ ต้องศึกษาความต้องการของลูกค้าในตลาดเป็นหลัก เช่น เราผลิตน้ำปลาสำหรับกลุ่มวีแกน ซึ่งเป็นผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มจำนวนไม่มากนัก เพียงแต่มองว่าตลาดนี้มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เราจึงเลือกที่จะผลิตน้ำปลาออร์แกนิก โดยใช้ถั่วเหลืองแทนปลา และใช้วัตถุดิบอื่นเสริมเพื่อให้ได้กลิ่นและรสตรงตามรสนิยมของผู้บริโภค สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการนำแนวคิดด้านนวัตกรรมมาพัฒนาสินค้าออร์แกนิกเพื่อตอบสนองความต้องการตลาดเฉพาะกลุ่ม ซึ่งเรามุ่งมั่นที่จะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

จัดการฟาร์มเกษตรออร์แกนิก อีกหนึ่งความท้าทายที่ตั้งใจไว้ คือการตั้งเป้าหมายปริมาณผลผลิตที่เก็บเกี่ยวในแต่ละรอบให้สอดคล้องกับสินค้าที่ผลิต ตลอดจนประเมินแนวโน้มการเติบโตของตลาดหลักทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ที่จะออกสินค้าใหม่ๆ วางจำหน่ายเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น เราจึงศึกษาตลาดเพื่อนำมาวิเคราะห์ ตั้งแต่การกำหนดพื้นที่เพาะปลูกพืชในแต่ละรอบการเก็บเกี่ยวซึ่งจะต้องมีการวางแผนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 6 เดือน เพื่อกระจายการปลูกพืชตามพื้นที่ที่เหมาะสม โดยการจัดการในแต่ละรอบมีขั้นตอนมากมายเพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุดิบที่เป็นสินค้าเกษตรคุณภาพ ปลอดสารเคมี นับเป็นความยากในการบริหารจัดการทรัพยากรทุกอย่างให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่วางไว้

ทั้งยังมีปัจจัยอื่น เช่น สภาพแวดล้อม แมลงศัตรูพืช เชื้อรา และโรคระบาดในพืช สิ่งเหล่านี้จะเพิ่มความยากในการทำเกษตรอินทรีย์ขึ้นไปอีก เนื่องจากการใช้ปุ๋ยและชีวภัณฑ์ต่างๆ ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของมาตรฐานสินค้าออร์แกนิกของแต่ละประเทศอีกด้วย

ต่อยอดโมเดลธุรกิจแปลงเกษตรคุณภาพยกระดับเกษตรกร สำหรับการจัดสรรพื้นที่กว่า 500 ไร่ ใน ‘ชิตา ฟาร์ม’ ที่เป็นแปลงปลูกสินค้าเกษตรของ บริษัท ชิตา ออร์แกนิค ฟู้ด จำกัด ได้มีการทำโมเดลการพัฒนาพื้นที่แปลงปลูกด้วยการทำเกษตรที่เป็นมาตรฐานออร์แกนิกที่ตลาดสากลรองรับเพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำของวัตถุดิบเกษตรคุณภาพ ผ่านโมเดล 3 รูปแบบ คือ

1. จ้างเหมาเกษตรกรเข้ามาปลูกพืชภายในพื้นที่ฟาร์ม โดยมีการกำหนดรูปแบบ วิธีการ ประเภทของพืช ปริมาณการปลูกเพื่อให้สอดรับกับความต้องการ ตลอดจนรับผิดชอบด้านปัจจัยการผลิตต่างๆ ทั้งหมด

2. เชิญชวนเกษตรกรมาเช่าปลูกภายในพื้นที่ฟาร์ม โดยเราจัดสรรพื้นที่และเตรียมปัจจัยการผลิตให้ อาทิ ปุ๋ยธรรมชาติ ตลอดจนสารชีวภัณฑ์ต่างๆ ส่วนจำนวนไร่ขึ้นอยู่กับศักยภาพของเกษตรกรแต่ละราย โดยมีการประกันราคาผลผลิต และรับซื้อวัตถุดิบทั้งหมด

3. Contract Farming กับเครือข่ายเกษตรกรที่มีพื้นที่และรวมกลุ่มกันเอง โดยเราเข้าไปส่งเสริม ประกันราคา และกำหนดประเภทและปริมาณความต้องการผลผลิตในแต่ละปี ตลอดจนการแบ่งปันความรู้เพื่อพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพสูงยิ่งขึ้น โดยบริษัทฯ จะประสานกับหน่วยงานที่ให้การรับรองมาตรฐานด้านสินค้าเกษตรอินทรีย์ มอบองค์ความรู้ ประเมินคุณภาพ และให้การรับรองมาตรฐานพื้นที่แปลงปลูกของเกษตรกร โดยที่บริษัทฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด

คุณสมเกียรติ แนะนำว่า เกษตรกรที่อยากเข้าร่วมกับเรา อย่างน้อยจะต้องมีพื้นที่ซึ่งได้มาตรฐานรับรองเบื้องต้น คือ มาตรฐาน Organic Thailand เพื่อที่จะไม่ต้องเสียเวลาเริ่มต้นใหม่ ส่วนเราจะมีบทบาทในการส่งเสริมให้เกษตรกรได้พัฒนามาตรฐานการรับรองไปสู่มาตรฐานที่สูงกว่าเดิมเพื่อสามารถส่งออกตลาดต่างประเทศได้

คู่แข่งสินค้าออร์แกนิกในตลาดโลก คุณสมเกียรติ ประเมินว่า คู่แข่งสินค้าออร์แกนิกในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารไทย ยังเป็นตลาดที่มีคู่แข่งไม่มาก เนื่องจากสินค้าเรามีความแตกต่าง และหลากหลายในส่วนของวัตถุดิบที่นำมาแปรรูปเป็นสินค้ายังทำได้ยาก ดังนั้น ขั้นตอนต่อไปคือ ทำอย่างไรให้สินค้าเป็นที่ยอมรับในตลาดโลกทั้งในด้านรสชาติ คุณภาพ และราคาที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม การตั้งราคาสินค้าออร์แกนิกไว้สูงมากเกินไป นับเป็นอุปสรรคสำคัญในการนำสินค้าออร์แกนิกไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ แนวคิดของเราจึงเน้นการจัดการที่ลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนหาแนวทางเพิ่มการผลิตให้ได้ปริมาณมากขึ้นเพื่อลดต้นทุนต่อหน่วยลง

ปัจจุบันแบรนด์ ‘ลำลำ’ ส่งออก 95% ไปยังยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และหาตลาดใหม่อยู่เสมอ เพื่อลดความเสี่ยงจากตลาดหลักเหล่านี้ รวมถึงมีเป้าหมายในการรุกตลาดในประเทศตะวันออกกลางมากขึ้น รวมถึงเน้นการจัดการใช้ผืนดินทุกตารางนิ้วอย่างมีศักยภาพมากที่สุด ตั้งแต่การปรับปรุงดินเพื่อให้เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร อย่างไรก็ตาม มองว่าการนำเทคโนโลยีในด้านการลดต้นทุนการผลิต เช่น เครื่องปลูกพืช โดรนฉีดพ่นสารชีวภาพ ตลอดจนเครื่องมือและอุปกรณ์ในการจัดการส่วนต่างๆ เพื่อควบคุมต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กระนั้น ภายใน ชิตา ฟาร์ม ก็ยังคงเน้นคนในการออกไปสังเกตการณ์ในแปลงปลูกซึ่งจะได้ข้อวินิจฉัยที่แม่นยำมากกว่าเทคโนโลยี

ติดตามอ่านเรื่องราวดีๆ รวมไปถึงบทความที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่จะช่วยให้ข้อคิด แนวคิด และเคล็ดลับในการบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้ที่ www.Bangkokbanksme.com

รู้จัก บริษัท ชิตา ออร์แกนิค ฟู้ด จำกัด ได้ที่ Website : https://www.chitaorganicfood.co.th/