กรุงศรี เปิดเวทีอัปเดตโอกาสต่อยอดทางธุรกิจ พร้อมเผยเส้นทางพลิกโฉมซัพพลายเชนสู่ความสำเร็จในโลกอนาคต

(จากซ้ายไปขวา) 1. นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) 2. ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี 3. นายบุนเซอิ โอคุโบะ ประธานกลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ (JPC/MNC Banking) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) 4. นายศุภกร ทัพเจริญ ผู้อำนวยการ สายงานบริการที่ปรึกษาธุรกิจ และหัวหน้าฝ่ายซัพพลายเชนและโอเปอร์เรชัน EY ประเทศไทย 5. นางสาวมันตินี อัครเสริญ ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารสายงานการตลาดลูกค้าธุรกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

กรุงศรี เปิดเวทีอัปเดตโอกาสต่อยอดทางธุรกิจ

พร้อมเผยเส้นทางพลิกโฉมซัพพลายเชนสู่ความสำเร็จในโลกอนาคต

 

กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) เปิดเวทีอัปเดตสถานการณ์เศรษฐกิจ ชี้โอกาสการลงทุนเพื่อต่อยอดทางธุรกิจ พร้อมเผยกลยุทธ์พลิกโฉมซัพพลายเชนเพื่อปรับตัวสู่โลกอนาคต ในงานสัมมนา Krungsri Business Talk : Reinventing Business for the Future สำหรับลูกค้าธุรกิจ โดยได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดการเงินของกรุงศรี ร่วมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และที่ปรึกษาด้านซัพพลายเชน จาก EY ประเทศไทย ที่มาร่วมแบ่งปันและแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับทิศทางและโอกาสในการปรับตัวทางธุรกิจสู่ความสำเร็จในโลกอนาคต เมื่อเร็วๆ นี้ ณ โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ

นายบุนเซอิ โอคุโบะ ประธานกลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ (JPC/MNC Banking) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
นายบุนเซอิ โอคุโบะ ประธานกลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ (JPC/MNC Banking) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

นายบุนเซอิ โอคุโบะ ประธานกลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ (JPC/MNC Banking) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้ให้เกียรติกล่าวเปิดงานสัมมนาในครั้งนี้ว่า “ช่วงที่ผ่านมา ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมายทั้งเรื่องของ Supply Chain การเติบโตของกลุ่มประเทศอาเซียน และการเติบโตของ EEC ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจต่างๆ จำเป็นจะต้องเรียนรู้และปรับตัวเพื่อให้ก้าวทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาและสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างยั่งยืน

กรุงศรีจึงได้จัดกิจกรรมเพื่อแบ่งปันความรู้ แลกเปลี่ยนมุมมองพร้อมอัปเดตข้อมูลข่าวสารต่างๆ ให้กับลูกค้าของธนาคาร นอกจากนี้ กรุงศรียังพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของลูกค้าธุรกิจผ่านผลิตภัณฑ์ บริการ และความเชี่ยวชาญทางการเงิน เพื่อช่วยขยายโอกาสและขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจ รวมทั้งช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้เติบโตไปพร้อมๆ กัน”

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี
ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี

ในโอกาสนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี มาร่วมอัปเดตโอกาสในการลงทุนผ่านแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนา EEC (พ.ศ. 2566-2570) ว่า “การพัฒนาพื้นที่ EEC มีเป้าหมายสำคัญคือ พัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกให้กลายเป็นหมุดหมายใหม่แห่งการลงทุนของประเทศ

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 คลัสเตอร์สำคัญ ได้แก่ การแพทย์และสุขภาพ ดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์สมัยใหม่ (EV) เศรษฐกิจ BCG และการบริการ เพื่อช่วยผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน โดยมีแผนปฏิบัติการสู่เป้าหมายด้วยเม็ดเงินลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท ได้แก่

1. การสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) เพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงการพัฒนาเมือง พัฒนาธุรกิจในพื้นที่ สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ พร้อมยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งนอกจากโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เริ่มดำเนินการก่อสร้างและจะเริ่มเปิดดำเนินการในปี 2570 แล้วนั้น ยังมีแผนผลักดันโครงการลงทุน PPP ใหม่ที่สำคัญ อาทิ โครงการโรงพยาบาลซึ่งจะยกระดับด้านบริการสาธารณสุขให้คนในพื้นที่ EEC รวมไปถึงโครงการต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น

2. มีการกำหนดสิทธิประโยชน์และมาตรการพิเศษในการชักชวนการลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะตัว (Exclusive) อาทิ มาตรการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลหรืออากรขาเข้า มาตรการส่งเสริมที่ใช่ภาษี รวมถึงการช่วยอำนวยความสะดวกในการอนุมัติ อนุญาต ภายใต้ พ.ร.บ. อีอีซี เป็นต้น

3. เน้นการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน (Collaborative) เพื่อทำให้การลงทุนเกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน อาทิ ผลักดันการพัฒนาบุคลากรร่วมกับภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง และด้วยกรอบการพัฒนาข้างต้น เชื่อว่าจะสามารถดึงดูดการลงทุน รวมถึงมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ และกระจายต่อเพื่อพัฒนาชุมชน เศรษฐกิจ และสังคมระยะยาวต่อไป”

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

ด้าน นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมแบ่งปันมุมมองต่อทิศทางตลาดเงินว่า “อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ เป็นปัจจัยชี้นำสำคัญสำหรับค่าเงิน ซึ่งปัจจุบันเฟดยังคงเปิดช่องสำหรับการขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งหากจำเป็น อย่างไรก็ตาม การขึ้นอัตราดอกเบี้ยผ่านจุดพีกมาแล้ว รวมถึงอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง จึงมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะการชะลอตัวที่สามารถจัดการได้ (Soft Landing)

ทั้งนี้ กรุงศรีคาดว่าเฟดจะประกาศลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกช่วงเดือนมิถุนายนปีหน้า สำหรับค่าเงินหยวนในช่วงที่ผ่านมาอ่อนค่ามากที่สุดในกลุ่มสกุลเงินประจำภูมิภาค ทั้งนี้ เนื่องจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ภาคอสังหาริมทรัพย์ อัตราการว่างงานของผู้มีอายุน้อย และยังมีแรงเสียดทานจากปัญหากับสหรัฐฯ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนหลังจากการปลดล็อกนโยบายปลอดโควิดผิดไปจากที่คาดการณ์ไว้

สำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่นช่วงที่ผ่านมา BOJ ยังคงย้ำจุดยืนที่จะเดินหน้าใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ โดยคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นติดลบสวนทางกับนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักทั่วโลกเพื่อช่วยแก้ปัญหาภาวะเงินฝืดเรื้อรัง อย่างไรก็ตาม ตลาดคาดการณ์ว่า BOJ น่าจะเข้าใกล้จุดเปลี่ยนนโยบายทางการเงินแล้ว ในส่วนของค่าเงินบาทมองว่าเริ่มเข้าสู่เสถียรภาพและสะท้อนปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยมากขึ้น

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว แต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจโลกและการส่งออกที่ลดลง จึงอาจมีการปรับลด GDP ปีนี้ลงเล็กน้อย ในส่วนของอัตราดอกเบี้ย กรุงศรีมองว่าความจำเป็นในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีน้อยลง จึงคาดว่าน่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% แต่จะเป็นการคงไว้ในระยะยาว (Extended Period)”

ด้วยปัจจัยด้านโอกาสที่เอื้อต่อการลงทุน รวมไปถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เริ่มจะทยอยฟื้นตัว จากนี้ธุรกิจจะต้องเริ่มวางแผนปรับเปลี่ยนเพื่อคว้าโอกาสในการเติบโตต่อไป ในช่วงท้ายของการสัมมนา นายศุกร ทัพเจริญ ผู้อำนวยการ สายงานบริการที่ปรึกษาธุรกิจ และหัวหน้าฝ่ายซัพพลายเชนและโอเปอร์เรชัน EY ประเทศไทย ได้ให้มุมมองว่า หลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ (Disruptions) ทั้งที่เป็นเมกะเทรนด์โลกหรือแม้แต่กับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ไม่คาดคิด เช่น โควิด อัตราเงินเฟ้อ ฯลฯ ธุรกิจและซัพพลายเชนจะต้องรู้จักปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

โดยได้แนะนำแนวทางในการพลิกโฉมกลยุทธ์ด้านซัพพลายเชน เพื่อปรับตัวสู่โลกธุรกิจใหม่และจัดการกับ Disruptions ได้อย่างรวดเร็ว ผ่านหลักการบริหารจัดการ 5 ข้อ ได้แก่ 1. กำหนดทิศทางกลยุทธ์และเป้าหมายของซัพพลายเชน ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์และเป้าหมายหลักขององค์กรเพื่อให้ทั้งองค์กรมีเป้าหมายที่ชัดเจน และเพื่อให้การพัฒนากระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้องกับซัพพลายเชนตอบสนองต่อเป้าหมายขององค์กรได้ดียิ่งขึ้น

2. การจัดทำระบบซัพพลายเชนที่ยืดหยุ่น ตรวจสอบได้ (Transparency and Resiliency) และสามารถประสานงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนได้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เช่น ผู้ผลิตสินค้าและวัตถุดิบตลอดจนลูกค้าและผู้บริโภค เพื่อการบริหารจัดการได้อย่างรวดเร็วและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด 3. การประเมินและบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ องค์กรจำเป็นต้องเข้าใจต้นทุนอย่างละเอียดและจัดลำดับความสำคัญของการพัฒนาหรือลดต้นทุนในการบวนการทำงาน เพื่อที่จะรับรู้ผลประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพจะเป็นรากฐานสำคัญของการลงทุนและพัฒนาซัพพลายเชนอย่างต่อเนื่องด้วย

4. การคำนึงถึงความยั่งยืนผ่านการประยุกต์ใช้ Circular Economy นั่นคือ ผลิต บริโภคและนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งสามารถลดต้นทุน ลดความเสี่ยงด้านการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต และยังสามารถดึงดูดผู้บริโภคและนักลงทุนได้อีกด้วย และ 5. ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ Blockchain, AI/ML, Digital Twin หรือ Control Tower เพื่อช่วยย่นระยะเวลาในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในซัพพลายเชนและต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ในทุกๆ การเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาการทำงานที่เกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือ การให้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง (People at the center) ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าหรือพนักงาน ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะต้องคำนึงในการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ เพื่อให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านเป็นไปได้อย่างราบรื่น

นายศุภกร ทัพเจริญ ผู้อำนวยการ และหัวหน้าฝ่ายซัพพลายเชนและโอเปอร์เรชัน EY ประเทศไทย
นายศุภกร ทัพเจริญ ผู้อำนวยการ และหัวหน้าฝ่ายซัพพลายเชนและโอเปอร์เรชัน EY ประเทศไทย

งานสัมมนาครั้งนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อช่วยเสริมสร้างศักยภาพด้านธุรกิจของลูกค้าธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่ออัปเดตสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงแบ่งปันข้อมูลความรู้ให้ลูกค้าธุรกิจได้เข้าถึงข้อมูลเชิงลึกจากวิทยากรชั้นแนวหน้า พร้อมสร้างแรงบันดาลใจ และโอกาสในการต่อยอดธุรกิจให้กับลูกค้า ผู้สนใจสามารถรับชมสัมมนาออนไลน์ย้อนหลังผ่านช่องทาง Krungsri Business Empowerment Facebook และ Krungsri.com

 

เกี่ยวกับกรุงศรี

กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) เป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของไทยด้านสินทรัพย์ สินเชื่อ และเงินฝาก และเป็น 1 ใน 6 สถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) โดยดำเนินธุรกิจมานานถึง 78 ปี

กรุงศรีเป็นบริษัทในเครือของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) กลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดระดับโลก กลุ่มกรุงศรีให้บริการทางการเงินการธนาคารอย่างครบวงจร ทั้งในด้านสินเชื่อเพื่อรายย่อย การลงทุน การบริหารจัดการกองทุน รวมทั้งผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินอันหลากหลายแก่กลุ่มลูกค้าบุคคล ลูกค้าเอสเอ็มอี และลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ผ่านสาขาของธนาคารกว่า 603 สาขา (เป็นสาขาที่ให้บริการทางการเงินในรูปแบบปกติ 563 สาขา และสาขาที่ให้บริการเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 40 สาขา) และช่องทางการขายกว่า 33,918 แห่งทั่วประเทศ

นอกจากนี้ กรุงศรียังเป็นผู้ออกบัตรเครดิตรายใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยมีจำนวนบัญชีบัตรเครดิตและสินเชื่อเพื่อการผ่อนชำระ/สินเชื่อส่วนบุคคลมากกว่า 10 ล้านบัญชี และเป็นผู้ให้บริการด้านสินเชื่อรถยนต์ชั้นนำ (กรุงศรี ออโต้) พร้อมทั้งมีบริษัทบริหารจัดการกองทุนที่มีอัตราเติบโตสูงที่สุดแห่งหนึ่ง (บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงศรี จำกัด) ทั้งยังเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้มีรายได้น้อย (บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน)) อีกด้วย

กรุงศรีมีพันธสัญญาในการดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างสูงสุด ธนาคารและบริษัทในเครือได้ผ่านการรับรองการเป็นสมาชิกอย่างสมบูรณ์ของ “แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต” โดยมุ่งร่วมมือกับองค์กรชั้นนำในไทยและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียของธนาคาร เพื่อให้การดำเนินธุรกิจปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่น

 

เกี่ยวกับมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG)

มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) เป็นหนึ่งในกลุ่มสถาบันทางการเงินชั้นนำระดับโลก มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ กรุงโตเกียว ด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานในการดำเนินธุรกิจกว่า 360 ปี MUFG มีเครือข่ายสำนักงานราว 2,400 แห่ง ในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานกว่า 170,000 คน

MUFG นำเสนอบริการทางการเงินที่หลากหลายครอบคลุมทั้งธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ทรัสต์แบงกิ้ง ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจบัตรเครดิต ธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อย ธุรกิจหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธุรกิจเช่าซื้อ MUFG มีเป้าหมายที่จะเป็น “กลุ่มสถาบันทางการเงินที่ได้รับความเชื่อถือมากที่สุดในโลก” ด้วยการผสานศักยภาพในการดำเนินธุรกิจเพื่อตอบสนองทุกความต้องการทางการเงินของลูกค้าโดยคำนึงถึงสังคมและการแบ่งปันสู่ความเติบโตอย่างยั่งยืน

MUFG จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ตลาดหลักทรัพย์นาโกยา และตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ MUFG กรุณาเยี่ยมชมเว็บไซต์ https://www.mufg.jp/english