เดินหน้า ‘บัญชีบริการดิจิทัล’ เต็มตัว หลังราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่กฎกระทรวง

เดินหน้า ‘บัญชีบริการดิจิทัล’ เต็มตัว หลังราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่กฎกระทรวง

กำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน

 

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่กฎกระทรวงฉบับใหม่ของกระทรวงการคลัง กำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2566 โดยมีผลบังคับใช้แล้ว ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้สินค้าหรือบริการดิจิทัลของผู้ประกอบการไทยที่ขึ้นทะเบียนในบัญชีบริการดิจิทัลจาก ดีป้า ขณะเดียวกัน มีการเตรียมพร้อมแพลตฟอร์ม TECHHUNT ให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงและเลือกใช้ได้โดยสมัครใจ

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่กฎกระทรวง กำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2566 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญที่ได้รับการระบุในหมายเหตุแนบท้ายถึงเหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้คือ สมควรกำหนดให้พัสดุส่งเสริมดิจิทัลเป็นพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน เพื่อให้มีการใช้สินค้าหรือบริการดิจิทัลของผู้ประกอบการดิจิทัลของประเทศไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีบริการดิจิทัลของ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า รวมทั้งกำหนดให้สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) เป็นที่ปรึกษาประเภทหน่วยงานของรัฐที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า เปิดเผยว่า บัญชีบริการดิจิทัล คือกลไกยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลไทยที่มีการรวบรวมสินค้าและบริการดิจิทัลจากผู้ประกอบการและผู้ให้บริการดิจิทัลไทยที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและเป็นไปตามข้อกำหนดด้านมาตรฐานและราคา ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นตัวช่วยในการคัดกรองสินค้าและบริการดิจิทัลที่มีคุณภาพในราคาที่สมเหตุสมผล อำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่มองหาสินค้าหรือบริการดิจิทัล ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนาการให้บริการประชาชน

นอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการดิจิทัลไทยเข้าสู่ตลาดภาครัฐ โดยรัฐสามารถใช้กระบวนการทางพัสดุด้วยวิธีคัดเลือกหรือเฉพาะเจาะจงในการซื้อหรือเช่าซื้อสินค้าและบริการดิจิทัลจากบัญชีบริการดิจิทัลได้อย่างสมัครใจ ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเป็นไปอย่างเที่ยงธรรม มีมาตรฐาน และสามารถตรวจสอบได้ ขณะเดียวกัน ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากบริการภาครัฐที่ได้รับการยกระดับด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นของคนไทย สอดรับกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น

ทั้งนี้ ดีป้า ถือเป็นหน่วยงานหลักในการรับขึ้นทะเบียนบัญชีบริการดิจิทัล โดยจะตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ประกอบการและผู้ให้บริการดิจิทัลไทย รวมถึงสินค้าและบริการที่ขอรับการขึ้นทะเบียน ไม่ว่าจะเป็น Software, Software as a Service, Digital Content Service, Smart Devices และ Hardware and Firmware ฯลฯ ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดด้านมาตรฐานของสำนักงานฯ อาทิ CMMI, ISO สำหรับ Software และ dSURE สำหรับ Smart Devices ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานด้านความปลอดภัยการใช้งาน และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ มั่นใจข้อมูลถูกจัดเก็บในประเทศไทย ไม่รั่วไหล โดยจะต้องมีการระบุราคาที่ชัดเจน เชื่อถือได้ เป็นไปตามข้อกำหนดของกรมบัญชีกลาง

พร้อมกันนี้ ดีป้า ยังเตรียมพร้อมแพลตฟอร์ม TECHHUNT (https://techhunt.depa.or.th) ที่รวบรวมสินค้าและบริการดิจิทัลจากผู้ประกอบการและผู้ให้บริการดิจิทัลไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนบัญชีบริการดิจิทัลแล้ว ซึ่งแพลตฟอร์ม TECHHUNT เปิดเป็นสาธารณะให้ทุกคน ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงและเลือกใช้ได้อย่างสมัครใจ