แกะซองถอดกลยุทธ์ ‘กรีนฟู้ดส์ โกลบอล’ สเกลอัพธุรกิจ จากสินค้า OTOP สู่ปลาสลิดทอดกรอบมาตรฐานสากลโตไกลต่างแดน

แกะซองถอดกลยุทธ์ ‘กรีนฟู้ดส์ โกลบอล’ สเกลอัพธุรกิจ จากสินค้า OTOP สู่ปลาสลิดทอดกรอบมาตรฐานสากลโตไกลต่างแดน

จากปลาสลิดทอดกรอบสินค้าโอทอปที่ คุณสตรัฐ  กาญจนสกุล กรรมการ บริษัท กรีนฟู้ดส์ โกลบอล จำกัด มุ่งมั่นพัฒนาจนสามารถบินไกลถึงต่างแดน ด้วยสโลแกน ‘ฉีกปุ๊บ ทานปั๊บ’ กับปลาสลิดทอดกรอบ ทองกรีน ด้วยรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ ที่การันตีคุณภาพและความสะอาด จนสามารถก้าวสู่ตลาดต่างประเทศได้

เส้นทางธุรกิจเริ่มจาก สินค้าโอท็อปเล็กๆ

คุณสตรัฐ  กาญจนสกุล กรรมการ บริษัท กรีนฟู้ดส์ โกลบอล จำกัด เล่าถึงเส้นทางธุรกิจนี้ว่า เริ่มจากการที่ได้ไปเทคโอเวอร์ ธุรกิจ ปลาสลิดทอดกรอบ ซึ่งเป็นสินค้า OTOP ของจังหวัดสมุทรปราการ ของ SME เล็กๆ ที่ประสบปัญหาด้านการเงินจึงบริหารต่อไม่ไหว โดยได้ซื้อ Brand พร้อม Know How รวมถึงเช่าโรงงานในการผลิตปลาสลิดทอดกรอบ 

“เรานำมาปรับปรุงคุณภาพ และ Rebrandingใหม่ ภายใต้แบรนด์ ‘ปลาสลิดทองกรีน’ (Salid Thong Green) รวมถึงออกแบบ Packaging ใหม่ให้ดึงดูดและได้มาตรฐานเก็บได้นานขึ้น”

ทำไมสินค้า OTOP จึง Scale Up ได้ยาก

ปัญหาดังกล่าว คุณสตรัฐ  อธิบายว่า การที่สินค้า OTOP หรือวิสาหกิจชุมชนจะสามารถขยายตลาดไปสู่ระดับประเทศหรือส่งออกต่างประเทศได้นั้น ส่วนหนึ่งสินค้าต้องได้มาตรฐาน USFDA (United States Food & Drug Administration) ซึ่งเปรียบเหมือน อย. ของต่างประเทศ และมาตรฐานที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ มาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practices) เป็นการทำการเกษตร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีและปลอดภัยตามมาตรฐานที่กำหนดไม่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม 

ซึ่งมาตรฐานเหล่านี้ต้องใช้เงินทุนสูงมาก นอกจากนี้ยังมีค่าแล็บรวมถึงค่าออดิทด้วย ซึ่งต้องใช้เงินปีละหลายแสนบาท ซึ่งสินค้าท้องถิ่นหรือ OTOP วิสากิจชุมชนส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมลงทุนในระดับนั้น แต่ถ้าผู้ประกอบการมีทุนพอสิ่งที่ได้กลับมาคือ จะสามารถขยายตลาดได้กว้างขึ้น

ใช้เทคโนโลยี เพิ่มคุณภาพการผลิต ยกระดับผลิตภัณฑ์

สำหรับการพัฒนากระบวนการผลิตจากสินค้า OTOP มาเป็น ‘ปลาสลิดทอดกรอบ ทองกรีน’ ต้องปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง คุณสตรัฐ เผยว่า เมื่อ 5 – 6 ปีก่อน บริษัทใช้วิธีตากปลาด้วยแสงแดด ต้องประสบปัญหาเรื่องแสงแดดที่ไม่สม่ำเสมอ ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ หากฝนตกก็เสี่ยงต่อการเน่าเสีย

จึงมองหาเทคโนโลยีที่จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว ปัจจุบันเราจึงนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาช่วยเพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพและได้มาตรฐานมากขึ้น 

โดยใช้เทคโนโลยีเครื่องอบลมร้อนมาแทนการตากแดด ส่วนการทอดจากเดิมที่ใช้กระทะใบบัวขนาดใหญ่โดยใช้แรงงานคนล้วนๆ ปัจจุบันเราเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีเครื่องทอดระบบสายพาน แล้วนำไปลวกกึ่งทอดพอให้สุกเพื่อแกะเอาก้างออกได้ง่าย แล้วจึงนำมาทอดอีกครั้งผ่านเครื่องทอดระบบสายพาน จากนั้นจึงนำไปผ่านกระบวนการสลัดน้ำมันออกแล้วนำไปอบแห้งอีกครั้งหนึ่ง ทำให้ปลาสลิดมีความกรอบโดยที่ไร้น้ำมัน ทำให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้น 

“เมื่อก่อนเราใช้วิธีตากปลาสลิดด้วยแสงแดด ทำให้มีปัญหาเรื่องสภาพอากาศที่ไม่สม่ำเสมอ ส่วนการทอดก็ใช้แรงงานคนทอดในกระทะใบบัวใหญ่ๆ ทำให้ควบคุมคุณภาพการผลิตไม่ได้ แต่พอนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย สามารถควบคุมอากาศ ความชื้น และความกรอบ ช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น และยังช่วยเพิ่มคุณภาพการผลิตให้มีมาตรฐานมากขึ้นอีกด้วย”

คุณสตรัฐ  บอกอีกว่า หลังจากนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิตทำให้ผลิตภัณฑ์มีความพรีเมียมมากขึ้น สร้างโอกาสในตลาดมากขึ้น เนื่องจากสามารถเก็บได้นานขึ้น ตอบโจทย์ความอร่อยให้ผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี โดยปัจจุบันส่งออกไปยังอเมริกาและยุโรปบางประเทศ ส่วนในประเทศจะจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตและโมเดิร์นเทรดต่างๆ 

ความโดดเด่นของปลาสลิดทองกรีน ‘ฉีกปุ๊บ ทานปั๊บ’

คุณสตรัฐ บอกถึงจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ ว่า บริษัทใช้วัตถุดิบจากฟาร์มที่ได้มาตรฐาน GAP และเป็นปลาสลิดที่ได้มาตรฐานรับรองจากกรมประมง ประกอบกับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าช่วยพัฒนา คุณภาพ และมีมาตรฐาน ทำให้สามารถเก็บได้นานถึง 2 ปี โดยปราศจากการใส่สารกันบูด หรือสารเคมีใดๆ ที่ทำลายสุขภาพของผู้บริโภค โดยบรรจุในซองเป็นแบบซิปล็อกสามารถเปิดรับประทานได้หลายครั้ง 

สำหรับปลาสลิดที่ใช้จะต้องมีขนาดไม่เล็กหรือใหญ่เกินไปเพื่อที่จะสามารถทำให้ทอดแล้วกรอบอร่อย ทำให้รสชาติของปลาสลิดมีความสม่ำเสมอ

“อีกหนึ่งจุดเด่นของเราคือ ปลาชิ้นหนึ่งเท่ากับปลาครึ่งตัว และแทบจะไม่มีไขมันเลย โปรตีนสูงมากและไร้ก้าง ใช้เนื้อปลาคุณภาพ นำก้างออก พร้อมรับประทานได้ทันที”

จะเห็นได้ว่า การยืดอายุการเก็บรักษาอาหาร (Shelf Life) เป็นสิ่งสำคัญ ในขณะเดียวกันคุณภาพของสินค้าที่ได้มาตรฐานจะทำให้การธุรกิจสามารถเติบโตได้ จากการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาคุณภาพสินค้าให้นานขึ้น ทำให้มีโอกาสขยายช่องทางการจำหน่ายที่กว้างขึ้นด้วย 

เจาะตลาดต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องได้มาตรฐานสากล

คุณสตรัฐ บอกว่า สำหรับการตลาดที่เราใช้ในประเทศส่วนใหญ่จะเป็นการบอกต่อ และโพสต์บนโซเชียลมีเดีย YouTube และ Facebook เป็นหลัก เช่น รายการทำอาหารบน YouTube ที่สอนทำสูตรอาหารโดยใช้ปลาสลิดทอดกรอบของเราเป็นส่วนประกอบ 

“ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนการจำหน่ายในประเทศประมาณ 15 – 20% และในต่างประเทศ 80% โดยลูกค้าในต่างประเทศส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการร้านอาหาร และร้านขายของชำ รวมถึงคนไทยที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ”

คุณสตรัฐ กล่าวอีกว่า บริษัทเรามุ่งมั่นพัฒนา ลงทุนด้านมาตรฐานการผลิตต่างๆ อย่างต่อเนื่องจนสามารถส่งออกโดยทำตลาดผ่านตัวแทนจำหน่ายซึ่งเป็นคู่ค้ากันมานานกว่า 10 ปี คุณสตรัฐ ยอมรับว่า การทำ Marketing ในต่างประเทศ ถือเป็นช่องทางการจำหน่ายที่ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหารที่ต้องผ่านขั้นตอน และได้รับมาตรฐานในเรื่องความปลอดภัยที่แต่ละประเทศกำหนดเท่านั้น เพื่อให้ผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าสากลมากที่สุด 

โดย ‘ปลาสลิดทอดกรอบ ทองกรีน’ นอกจากจะได้รับมาตรฐานจาก อย. (องค์การอาหารและยา) แล้ว ยังได้รับมาตรฐาน USFDA (United States Food & Drug Administration) ซึ่งเปรียบเหมือน อย. ของประเทศสหรัฐอเมริกา และมาตรฐานที่สำคัญที่ต้องมี คือ GAP (Good Agriculture Practices) เป็นการทำการเกษตร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีและปลอดภัยตามมาตรฐานที่กำหนด โดยขบวนการผลิตจะต้องปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค ปราศจากการปนเปื้อนของสารเคมีไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

มาตรฐานดังกล่าวจึงเป็นเหมือนใบเบิกทางในการส่งสินค้าไปยังต่างประเทศได้ ซึ่งในปัจจุบันปลาสลิดทอดกรอบของเราสามารถส่งไปยังประเทศ สหรัฐอเมริกา เป็นหลัก

ธุรกิจผ่านช่วงวิกฤตโควิด 19 มาได้อย่างไร

คุณสตรัฐ ยอมรับว่า วิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ทำให้ 2 ปีที่ผ่านมาบริษัทประสบปัญหาหนักพอสมควร เพราะส่งผลกระทบธุรกิจทั่วโลก ด้วยค่าระวางเรือที่ปรับสูงขึ้นเป็น 2 – 3 เท่า ทำให้บริษัทเราส่งออกไม่ได้ ยอดขายหายไปถึง 80% เนื่องจากเราส่งออกเป็นหลัก 

เราจึงมองหาโปรดักส์อื่นที่สามารถหล่อเลี้ยงบริษัทให้ผ่านวิกฤตตรงนี้ไปให้ได้ โดยเรารับผลิตหัวหอมทอดที่ใช้เป็นส่วนประกอบในเบอร์เกอร์ชื่อดัง นอกจากนี้ยังรับผลิตหนังปลาแซลมอนทอดกรอบ โดยรับจ้างผลิตในรูปแบบ OEM จึงมีรายได้จากตรงส่วนนี้มาทดแทนช่วงที่ส่งออกไม่ได้ โดยเราใช้ทักษะและเทคโนโลยีที่เรามี คือความเชี่ยวชาญในการอบและทอดมาปรับใช้กับสินค้าทั้ง 2 โปรดักส์นี้

“เราใช้ทักษะและเทคโนโลยีที่เรามี คือความเชี่ยวชาญในการอบและทอดมาปรับใช้กับสินค้าทั้ง 2 โปรดักส์นี้ จนสามารถก้าวข้ามวิกฤตเศรษฐกิจช่วงโควิด 19 มาได้ ที่สำคัญในช่วงที่เศรษฐกิจย่ำแย่ขาดสภาพคล่อง ได้เงินทุนสนับสนุนสำหรับผู้ประกอบการและ SME จากธนาคารกรุงเทพที่มีให้ทั้งคำแนะนำและเงินทุนระยะยาวเข้ามาช่วยประคองธุรกิจ ทำให้เราผ่านช่วงวิกฤตนี้มาได้อย่างมั่นคง”

ก้าวต่อไปของ ‘ปลาสลิด ทองกรีน’ 

คุณสตรัฐ เผยถึงทิศทางในอนาคตของ ‘ปลาสลิด ทองกรีน’ ว่า บริษัทมีแผนจะพัฒนา 3 เรื่องหลักๆ ด้วยกันคือ พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีรสชาติที่หลากหลายขึ้น และปรับขนาดสินค้าให้มีขนาดเล็กลงให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่าย อย่างร้านสะดวกซื้อต่างๆ เป็นต้น ที่สำคัญคือ การพัฒนาเรื่องการผลิตโดยจะลงทุนเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเช่น เทคโนโลยีระบบอัดอากาศที่เราจะนำเข้ามาใช้ ช่วยให้ปลาสลิดมีความกรอบนอกแต่เนื้อในนุ่มกว่าเดิม เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าให้สามารถส่งออกไปยังตลาดโลกได้กว้างขึ้น

ปัจจุบัน ‘ปลาสลิด ทองกรีน’ ส่งออกต่างประเทศเป็นหลัก ผ่านตัวแทนจำหน่าย (Distributor)ในต่างประเทศ ซึ่งเป็นคู่ค้าที่ร่วมธุรกิจกันมากว่า 10 ปี โดยตลาดหลักๆ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา 

“สำหรับแผนการตลาดในอนาคต นอกจากส่งออก สหรัฐอเมริกาแล้ว เราวางแผนพัฒนาคุณภาพสินค้าเพื่อเจาะตลาดในประเทศแถบยุโรปมากขึ้น โดยการเน้นพัฒนามาตรฐานให้ได้ตามที่เขากำหนด ซึ่งมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของยุโรปจะสูงมาก เช่น การใช้แรงงานต้องเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย ค่าแรงต้องเป็นธรรม มีสวัสดิการครบถ้วน แป้งที่ใช้ทอดต้องไม่มีสารฟอกขาว น้ำมันที่ใช้ต้องได้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำมันปาล์มก็ต้องไม่ทำลายป่าไม้เพื่อปลูกปาล์ม”

สะท้อนให้เห็นว่า การจะนำพาธุรกิจไปอยู่ในตลาดการค้าโลกได้นั้น การทำธุรกิจสมัยใหม่ต้องหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจจึงจะสามารถประสบความสำเร็จและเติบโตได้อย่างยั่งยืน (Sustainability)

รู้จัก ‘บริษัท กรีนฟู้ดส์ โกลบอล จำกัด’ เพิ่มเติมได้ที่ 

https://www.facebook.com/crispysalid

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพ
คลิกหรือสายด่วน1333