ลดเวลา ‘Credit Term’ SME ได้ประโยชน์อย่างไร?

การแพร่ระบาดของโควิด 19 ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้ SME มียอดขายลดลง ส่งผลต่อการขาดสภาพคล่อง ขาดเงินทุนหมุนเวียน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจาก ‘การถูกคู่ค้ายืดหรือขยายระยะเวลาการชำระสินเชื่อการค้าหรือระยะเวลา Credit Term’ เนื่องจากทำธุรกิจของไทยส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบ B2B มีการให้สินเชื่อแก่คู่ค้าที่ซื้อ-ขายสินค้าและบริการร่วมกันนั่นเอง

โดยในปี 2563 ระยะเวลา Credit Term ที่ SME ได้รับจากคู่ค้าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวมาอยู่ที่ 60 วันโดยเฉลี่ย และในบางธุรกิจขยายไปสูงถึง 120 วัน ซึ่งสูงกว่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เช่น ไต้หวัน 45 วัน อินโดนีเซีย 34 วัน และสิงคโปร์ 29 วัน เป็นต้น

นอกจากนี้ SME ที่ทำธุรกิจหรือเป็นคู่ค้า (Supplier) ให้กับธุรกิจขนาดใหญ่ มีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากมักจะถูกขยายระยะเวลา Credit Term ให้ยาวนานขึ้นผ่านการใช้อำนาจการต่อรองที่เหนือกว่า

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

ส่งผลให้ SME ต้องรับความเสี่ยงคือ

– ต้องออกเงินค่าต้นทุนเอง เพราะสินค้าที่ขายได้ยังไม่ได้รับเงิน การที่จะซื้อวัตถุดิบมาผลิตสินค้าครั้งใหม่ SME จึงจำเป็นต้องใช้เงินตัวเองลงทุนไปก่อน

– ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ ขึ้นชื่อว่าสินเชื่อปัญหาที่หนีไม่พ้นก็คือปัญหาการไม่จ่ายหนี้ ในกรณีที่ SME ซึ่งเป็นผู้ขายให้ Credit Term กับผู้ซื้อแล้วผู้ซื้อไม่จ่ายหนี้ นอกจากจะขาดทุนแล้ว อาจจะส่งผลต่อเนื่องกับสภาพคล่องของกิจการด้วย เพราะการให้ Credit Term นั้น SME ต้องควักเงินออกค่าวัตถุดิบเองก่อนในการผลิตครั้งต่อไป

กำหนด Credit Term ไม่เกิน 45 วัน

ด้วยเหตุดังกล่าว ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) จึงได้ดำเนินการพิจารณากำหนดมาตรฐานระยะเวลาการให้สินเชื่อการ (Credit Term) สำหรับผู้ประกอบการ SME โดยจัดประชุมหารือร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสํานักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งศึกษาแนวทางของหน่วยงานในต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความะสมและเป็นธรรมกับ SME ไทยมากที่สุด

นำไปสู่การกำหนดระยะเวลา Credit Term สำหรับสินค้าทั่วไปให้ไม่เกิน 45 วัน และสินค้าทางการเกษตรไม่เกิน 30 วัน ตามประกาศฯ ของ กขค. ซึ่งจะช่วยรักษาสมดุลของวงจรกระแสเงินสดและเกิดสภาพคล่องทางการเงินกับธุรกิจ SME โดยสามารถกำหนดเป็นระยะเวลาอื่นได้ แต่ต้องมีเหตุผลอันสมควร

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการนับระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า ที่จะต้องเริ่มต้นนับตั้งแต่วันส่งมอบสินค้าหรือบริการที่มีความถูกต้องครบถ้วน ในกรณีฝากขาย (Consignment) ต้องนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ขายสินค้าครบตามจำนวนหรืออัตราที่ตกลงกัน

บทลงโทษเมื่อมีการกระทำความผิด

หากผู้ประกอบการธุรกิจมีพฤติกรรมทางการค้าที่เข้าข่ายเป็นการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ซึ่งจะต้องรับความผิดทางปกครองในอัตราค่าปรับไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด

การกำหนดระยะเวลา Credit Term ถือเป็นหนึ่งในกลไกการแก้ไขและบรรเทาปัญหาสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SME ช่วยรักษาสมดุลของวงจรกระแสเงินสด (Cash Flow) สามารถนำเงินมาหมุนในการทำธุรกิจ ช่วยรักษาสภาพคล่อง ลดปัญหาหนี้สินจากการกู้ยืม เพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันและเพิ่มโอกาสเติบโตให้กับ SME และลดความเหลื่อมล้ำในการต่อรองระหว่าง SME และธุรกิจขนาดใหญ่

แหล่งอ้างอิง :

https://www.bot.or.th/

https://otcc.or.th/

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพ
คลิกหรือสายด่วน 1333