ผู้เขียน | เส้นทางศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ไปหัวหิน ทำไมต้องรับประทานข้าวเหนียวมูนกับมะม่วง…?
เพราะอำเภอหัวหินเป็นเมืองชายทะเล ที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปเยือนในช่วงฤดูร้อน ตรงกับที่มะม่วง กำลังให้ผลผลิต
ข้าวเหนียวมูน คือเมนูอร่อยนิยมรับประทานควบคู่กับมะม่วงสุก จึงมีผู้ผลิตจำหน่ายหลายรายเลือกยึดอาชีพนี้ แต่ที่เห็นเก่าแก่ เรียกว่าเริ่มต้นทำกันมาตั้งแต่รุ่นคุณย่า จนบัดนี้เข้าสู่รุ่นหลาน รวมระยะเวลากว่า 75 ปี “ร้านมีชัย” หรือที่รู้จักในชื่อ “ข้าวเหนียวมูนเสวยแม่นงนุช” ยังคงตั้งตระหง่าน ต้อนรับผู้บริโภค
ฤดูร้อนมูนข้าวเหนียวขาย
รายได้ วันละ 20 กะละมัง
คุณอัจนิริยา ศิลปสุนทร ทายาทรุ่นหลาน เปิดเรื่องเล่าเท้าความให้เส้นทางเศรษฐี ฟังว่า กิจการค้าขายข้าวเหนียวมูน เริ่มต้นจากคุณย่า ซึ่งขณะนั้นแบ่งพื้นที่บริเวณชั้นล่างของโรงแรม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่คุณย่าดำเนินการมา เปิดขายข้าวเหนียวมูนกับมะม่วง เฉพาะช่วงฤดูร้อน
“ตั้งแต่จำความได้ เห็นคุณย่าทำข้าวเหนียวมูนขายมาตลอด รวมระยะเวลาจนถึงบัดนี้กว่า 75 ปีแล้ว ซึ่งเมื่อก่อนเปิดธุรกิจโรงแรมด้วย บริเวณพื้นที่ว่างชั้นล่างจำหน่ายสินค้าของที่ระลึก และพอถึงฤดูร้อน คุณย่าทำข้าวเหนียวมูนขายคู่กับมะม่วงสุก เรียกว่าเป็นสินค้าตามฤดูกาล”
สูตรโบราณ ถึงเครื่องถึงรส ส่งผลให้ลูกค้าทยอยเดินทางมาอุดหนุน จนกระทั่งเกิดกระบอกเสียงบอกต่อ กลายเป็นสินค้าดังในอำเภอหัวหิน
“ทำธุรกิจโรงแรมควบคู่ค้าขายข้าวเหนียวมูนได้หลายปี กระทั่งคุณพ่อเสียชีวิต ซึ่งคุณย่ามีลูกชายเพียงคนเดียว จึงไม่มีใครสืบทอดกิจการโรงแรมต่อ จำต้องปิดตัวลง ส่วนข้าวเหนียวมูน คุณย่ายังคงยึดไว้เป็นอาชีพหลักสร้างรายได้ ทำขายต่อเนื่อง โดยมีหน้าสังขยา ปลา กุ้ง และหน้ากระฉีก เป็นทางเลือกให้ลูกค้า แต่ในฤดูร้อน มะม่วงได้รับความนิยมมาก เหมือนกับว่าลูกค้ารอคอยที่จะทาน”
ฤดูร้อนคือเวลานาทีทอง ลูกค้าสั่งซื้อข้าวเหนียวมูนมากถึงคนละ 20 – 30 กิโลกรัม ซึ่งถ้านับจำนวนยอดขายข้าวเหนียวมูน ตกวันละ 30 กะละมัง (1 กะละมัง ประมาณ 30 กิโลกรัม) ส่วนราคาขายเริ่มต้นในยุคคุณย่ากิโลกรัมละไม่กี่สิบบาท
“เมื่อก่อนผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันมี 2 ราย แต่ปัจจุบันผู้ผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งถ้ามองเรื่องการแข่งขันย่อมกระทบบ้าง แต่ไม่ถือว่าเดือดร้อน เพราะต่างฝ่ายต่างมีลูกค้าของตนเอง แต่สิ่งที่ทำให้ยอดขายลดลง น่าจะมาจาก 2 ปัจจัยหลักคือ ผู้บริโภครักสุขภาพมากขึ้น สินค้าทำให้อ้วน แม้อร่อย ก็จะยั้งๆ ไว้ ไม่ทานเยอะ กับอีกปัจจัยน่าจะมาจาก การผลิตสินค้าทำต่อเนื่องทุกฤดูกาล เพราะมะม่วงออกนอกฤดูได้แล้ว ไม่ต้องมารอเฉพาะฤดูร้อน สัดส่วนยอดขายแต่ละวันจึงลดน้อยลง”
เสริมทัพสินค้าใหม่
ขนมไทยกว่า 60 เมนู
คุณอัจนิริยา กล่าวเพิ่มเติมถึงสินค้าอื่นที่ผลิตขึ้นมาเสริมยอดขายว่า หลักๆ ได้คุณแม่ ซึ่งถือเป็นเจเนอเรชั่นที่ 2 รับไม้ต่อจากคุณย่า แล้วพัฒนาจนจังหวะก้าวรื่นไหล
“คุณแม่ ชอบทำขนม ชอบคิดสินค้าใหม่มาทดลองตลาด จนบัดนี้กว่า 60 เมนูแล้ว ซึ่งจะสลับกันไป แต่ข้าวเหนียวมูน และขนมเทียน ทั้ง 2 สูตรของคุณย่าที่ขายควบคู่กันมาตั้งแต่ต้น ยังคงทำคะแนนยอดขายติดอันดับหนึ่ง”
สำหรับราคาขายสินค้า ปัจจุบัน ข้าวเหนียวมูนกิโลกรัมละ 240 บาท
“เมื่อก่อนกะทิสำหรับทำขนมกิโลกรัมละ 12 บาท ปัจจุบัน 80 บาท ส่วนวัตถุดิบอื่น ไม่ว่าจะเป็นข้าวเหนียว น้ำตาลทราย ขึ้นราคาหมด ทำให้ต้องขยับราคาขายสินค้าตามไปด้วย แต่ก็ยอมชี้แจงกับลูกค้าว่าทำไมต้องขึ้นราคา ดีกว่าลดปริมาณวัตถุดิบและส่วนผสมลง เพราะจุดดึงดูดทำให้ข้าวเหนียวมูนเสวยแม่นงนุช เติบโตมาจนทุกวันนี้ คือ คุณภาพ และความอร่อย ฉะนั้น เมื่อ 60 ปีก่อน รสชาติเป็นเช่นไร วันนี้ก็ยังคงรสเดิม”
เมื่อรายการสินค้าเพิ่มมากขึ้น ลำพังสมาชิกในครอบครัวมิอาจรองรับการผลิตได้ทัน จึงต้องจัดจ้างแรงงานเข้ามาช่วย รวมประมาณ 10 คน โดยจะแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ และสำคัญคือวางแผนการผลิตสินค้าทุกวัน เพื่อความสดใหม่ และทันกับยอดขาย
“สินค้าเน้นความสดใหม่ อย่างข้าวเหนียวมูน ทำทีละกะละมัง แล้วนำออกมาจำหน่าย สำหรับกะทิ ซึ่งเป็นส่วนผสมหลักให้ผู้ขายคั้นสดมาส่ง พอจะทำใหม่ก็สั่งใหม่ ส่วนสินค้าอื่นค่อยๆ ทยอยทำ เนื่องด้วยขนมไทยแทบทุกรายการมีอายุการเก็บสั้น ยิ่งกับสินค้าของร้านข้าวเหนียวมูนเสวยแม่นงนุช ไม่ใส่สารกันบูด ความพิถีพิถันจึงสำคัญมาก ตั้งแต่คัดเลือกวัตถุดิบ”
เอ่ยถึงตรงนี้ จึงขอถามถึงแหล่งวัตถุดิบนำมาใช้ผลิต เริ่มต้นจากข้าวเหนียว คุณอัจนิริยา ว่า สั่งซื้อกับผู้ขายในพื้นที่ เป็นข้าวเหนียวเขี้ยวงูจากจังหวัดเชียงราย ซึ่งได้ขึ้นชื่อว่าเป็นข้าวคุณภาพดี เม็ดสวย ขึ้นเงา ไม่แตกหักง่าย
สำหรับมะพร้าวมาจากอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีความมันเหมาะกับการทำขนม โดยให้ผู้ผลิตเจ้าประจำปอกและคั้นกะทิส่งให้ แต่ถึงกระนั้น คุณอัจนิริยา ว่า ก่อนผลิตจะตรวจสอบทุกครั้ง โดยสังเกตจากสีและกลิ่น
ใช้ระบบชั่งตวงวัด
มาตรฐานความอร่อย
ไม่เพียงเท่านั้น ยังเผยเคล็ดลับ นึ่งข้าวเหนียวอย่างไรให้เม็ดสวย ก่อนอื่นนำข้าวเหนียวไปซาวน้ำเบาๆ มือ จนน้ำใส แล้วแช่น้ำทิ้งไว้อย่างน้อย 2 ชั่วโมง จึงนึ่งให้สุก แล้วมูนกับส่วนผสมของกะทิ น้ำตาลทราย เกลือ ที่ผสมรวมกันไว้เรียบร้อยแล้ว เทราดลงบนข้าวเหนียว ใช้ไม้พายคนให้เข้ากัน ปิดฝาทิ้งไว้สักครู่ ให้ส่วนผสมซึมสู่เม็ดข้าวเหนียว จึงนำออกไปจำหน่าย
“วัตถุดิบ อุปกรณ์ ใช้ในการผลิตมีไม่มาก แต่สิ่งสำคัญคือ ฝีมือ ต้องมีสูตรลงตัว และการทำทุกครั้งถ้าจะให้ได้มาตรฐานต้องใช้ระบบชั่งตวงวัด ซึ่งส่งผลถึงรสชาติคงเดิม”
และนี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งทำให้ลูกค้าติดใจข้าวเหนียวมูนเสวยแม่นงนุช…
คุณอัจนิริยา ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงรสชาติข้าวเหนียวมูนเสวยแม่นงนุช ว่า เข้มข้น มันกะทิ แต่ไม่หวานเกินไป “คุณย่า พูดเสมอว่า อย่าให้ผู้บริโภครู้สึกในคำแรกว่ารสหวาน เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นปริมาณการกินจะน้อยลง หรือไม่กินต่อ แต่ต้องทำขนมให้ออกมา กลมกล่อม”
ย้อนถามไปถึงกลุ่มลูกค้า ซึ่งหลายคนเข้าใจว่า ขนมไทย กลุ่มเป้าหมายน่าจะอยู่ในวัยกลางคนขึ้นไป ต่อเมื่อถามคุณอัจนิริยา จึงรู้ว่าความเข้าใจดังกล่าว เป็นความเข้าใจผิด เพราะปัจจุบันกลุ่มผู้บริโภควัยรุ่น ให้ความสนใจลิ้มรสขนมไทยมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้ประกอบการรู้วิธีเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ดังเช่นคุณอัจนิริยา ซึ่งเป็นเจเนอเรชั่นที่ 3 เข้ามาสานต่อธุรกิจข้าวเหนียวมูนเสวยแม่นงนุช โดยมีคุณย่าและคุณแม่เป็นพี่เลี้ยงดูแล
ด้วยสภาพพื้นที่ตั้งจำหน่าย เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ไม่ว่าชาวไทย และชาวต่างชาติ ให้ความสนใจเดินทางมาเยือนมิได้ขาด เหตุนี้กลุ่มลูกค้าหลักของข้าวเหนียวมูนเสวยแม่นงนุช จึงเป็นนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวไทย ซึ่งคุณอัจนิริยา ว่า บางคนเดินทางมาจากภาคเหนือ ด้วยจุดมุ่งหมายติดใจในรสชาติ
“ถ้าจะกล่าวถึงกลุ่มเป้าหมายหลัก ส่วนใหญ่มาจากกรุงเทพฯ จนเคยคิดจะเปิดร้านจำหน่ายในกรุงเทพฯ แต่ติดตรงวัตถุดิบ โดยเฉพาะมะพร้าว คุณภาพไม่เท่าของทับสะแก และถ้าจะให้ขนส่งวัตถุดิบไปคงลำบาก เรื่องการขยายสาขา จึงระงับไว้ก่อน
กับอีกรูปแบบหนึ่ง เคยคิดส่งสินค้าไปจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าใจกลางกรุงเทพฯ แต่ติดข้อจำกัดตรงระยะเวลาเก็บรักษาสั้น อย่างข้าวเหนียวมูนเก็บได้ 1 วัน 1 คืน เท่านั้น และไหนจะรายจ่ายค่าขนส่งที่เพิ่มเข้ามา ทำให้ต้องบวกราคาขายสูงขึ้น ตรงนี้บอกตรงๆ ว่ายังเกรงใจผู้บริโภคอยู่”