พืชไร่ราคาตก ชาวสวนอุทัยฯ หันปลูกทุเรียน ได้ผลดี เนื้อแห้ง หวาน หอม กลิ่นไม่ฉุน

ช่วงนี้กระแสฟีเวอร์ทุเรียนดูจะมาแรงนัก หลายพื้นที่ หลายแห่งที่เป็นจุดขายทุเรียน ไม่ว่ารถเร่ แผงขาย หรือตามตลาด มักพบเห็นผู้คนยืนจับกลุ่มเลือกทุเรียนกันอย่างคับคั่ง

การเปิดตัวของทุเรียนทางจังหวัดภาคตะวันออกสร้างความคึกคักต่อตลาดทุเรียนในจังหวัดอื่นที่กำลังเริ่มมีผลผลิต สร้างแรงขับเคลื่อนในการพัฒนาคุณภาพให้กับชาวสวนทุเรียนอีกหลายพื้นที่เพื่อหวังให้มีราคาสูง

อุทัยธานี นับเป็นอีกจังหวัดที่ปลูกทุเรียนได้มีคุณภาพ อันเป็นผลจากความอุดมสมบูรณ์ของสภาพอากาศตลอดถึงทรัพยากรทางธรรมชาติ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่อำเภอบ้านไร่ ซึ่งชาวบ้านหันมาปลูกทุเรียนและไม้ผลผสมผสานแทนการปลูกพืชไร่ที่สร้างปัญหากับราคาตกต่ำ

เช่นเดียวกับ คุณวิโรจน์ เผ่าพันธุ์โพธิ์ อยู่บ้านเลขที่ 20 หมู่ที่ 7 ตำบลคอกควาย อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี  ซึ่งเคยยึดอาชีพปลูกพืชไร่หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น สับปะรด ข้าวโพด และมันสำปะหลัง แต่ประสบปัญหาราคาตกต่ำ จึงเปลี่ยนมาปลูกทุเรียนเป็นหลัก แล้วเสริมด้วยไม้ผลหลายชนิดแบบผสมผสาน พร้อมเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ดึงนักชิมผลไม้เข้ามาอุดหนุนสร้างรายได้อย่างงดงาม

คุณวิโรจน์ เผ่าพันธุ์โพธิ์

ภายหลังความสำเร็จจากการปลูกทุเรียนของชาวบ้านบางรายในเขตอำเภอบ้านไร่ ส่งผลต่อรายได้ที่ดีกว่าพืชไร่ ได้สร้างแรงจูงใจเป็นแบบอย่างให้คุณวิโรจน์ตัดสินใจปลูกทุเรียนเมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมา ด้วยการไปหาซื้อกิ่งพันธุ์ทุเรียนมาจากจังหวัดจันทบุรี ได้แก่ หมอนทอง ก้านยาว และชะนี ปลูกรวมกันในพื้นที่ 25 ไร่ ลักษณะพื้นที่ปลูกทุเรียนในสวนคุณวิโรจน์รุ่นแรกจะปลูกไปตามสภาพทางธรรมชาติ ไม่ได้กำหนดเป็นแถว/แนว เพียงแต่มีระยะห่างต้น ประมาณ 8-10 เมตร

คุณวิโรจน์ ปลูกทุเรียนได้ประมาณ 4 ปี ก็เก็บผลผลิตได้ และพบว่า ผลดกมากเพียงแต่ยังขาดการปรับปรุงคุณภาพ จึงทำให้รูปทรงยังไม่สวย ผลบิดเบี้ยว ขนาดผลไม่เท่ากัน ส่วนเนื้อมีความแห้ง กรอบ รสหวานพอดี กลิ่นไม่แรง

แต่พอทางสำนักงานเกษตรอำเภอได้เข้ามาส่งเสริม แล้วพาไปดูการปลูกทุเรียนแบบคุณภาพจากสวนมาตรฐานหลายแห่งทางจังหวัดระยองและจันทบุรี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปัดดอก การตัดแต่งกิ่ง การใส่ปุ๋ย ดูแลโรค/แมลง จึงทำให้เขาได้นำเทคนิคเหล่านั้นกลับมาพัฒนาปรับปรุงวิธีการปลูกและการดูแลทุเรียน จนประสบความสำเร็จสามารถผลิตทุเรียนคุณภาพได้มาตรฐาน

ทุเรียนรุ่นแรกปลูกตามลักษณะพื้นที่ธรรมชาติยังไม่มีแถวแนว

เมื่อคุณวิโรจน์ปลูกทุเรียนสำเร็จมีคุณภาพดีตามมาตรฐาน ได้พบว่า ทุเรียนในสวนของเขามีรสชาติอร่อย เนื้อแห้งกรอบ เมล็ดลีบเล็ก ไม่แพ้เจ้าถิ่นทุเรียนแถวภาคตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นหมอนทองชุดแรกที่ให้ผลผลิตเก็บได้ มีจำนวน 100 ต้น ก้านยาว จำนวน 20 ต้น และชะนี มีเพียง 3 ต้น โดยจนถึงวันนี้ทุเรียนในสวนของเขาให้ผลผลิตสร้างรายได้มาไม่น้อยกว่า 15 ปี

ฉะนั้น เมื่อเห็นว่าปลูกทุเรียนได้ผลตามเป้าหมาย จึงเพิ่มไม้ผลปลูกอีกหลายชนิดเพื่อสร้างรายได้อีก ไม่ว่าจะเป็นเงาะ มังคุด กระท้อน หรือแม้แต่ยังลองปลูกไม้ผลทางเหนืออย่างลำไยด้วย

คุณวิโรจน์ จะดูแลตัดแต่งกิ่งภายหลังเก็บผลผลิตรุ่นสุดท้ายเสร็จ ประมาณเดือนกรกฎาคม เมื่อตัดแต่งเสร็จแล้วจะใส่ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยชีวภาพ ในอัตรา 1 ต่อ 2 กระสอบ ปุ๋ยเคมีที่ใช้เป็นสูตรเสมอ 15-15-15 ส่วนปุ๋ยชีวภาพผลิตเองเป็นเม็ดจากธาตุอาหารหลัก พร้อมกับขี้วัว ขี้ค้างคาว ทั้งนี้จะใส่ปุ๋ย จำนวน 4-5 กระสอบ ต่อทุเรียน จำนวน 100 ต้น โดยจะใส่ปุ๋ยในช่วงหน้าฝน

ทุเรียนจะออกดอกประมาณเดือนมกราคม โดยก่อนจะออกดอกจะใส่ปุ๋ย สูตร 8-24-24 เพื่อต้องการเปิดตาดอก แล้วขณะที่ทุเรียนมีดอกจะต้องฉีดเพลี้ยไฟไรแดงป้องกันไว้ พอหลังจากดอกบานแล้ว ใช้เวลา 120 วัน จะมีผลอ่อนในราวเดือนมิถุนายน

ฉีดพ่นฮอร์โมน

คุณวิโรจน์ ชี้ว่าที่ผ่านมาศัตรูพืชไม่ค่อยรบกวน เพราะพื้นที่บริเวณบ้านไร่มักจะมีฝนตกบ่อย ดังนั้น เมื่อไม่มีศัตรูพืชรบกวนจึงทำให้ผลผลิตทุเรียนมีความสมบูรณ์ดี แล้วไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีเพื่อป้องกันโรค/แมลง จึงถือว่าเป็นทุเรียนที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคด้วย แล้วความเด่นของทุเรียนบ้านไร่คือ มีความหอมมัน รสหวานพอดี เนื้อแห้ง (เพราะน้ำไม่ขังในดิน) เมล็ดลีบ

ผลผลิตทุเรียนที่ติดทั้งต้น คุณวิโรจน์ จะเก็บไว้ทั้งหมดทุกผลโดยไม่ตัดทิ้ง ทั้งนี้ เพราะไม่ได้ตั้งใจทำส่งขายต่างประเทศ ซึ่งการเก็บไว้ทั้งหมดจะขายในราคาเดียวแบบเหมา ในราคา 150 บาท ต่อกิโลกรัม โดยมีลูกค้าเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาชมสวน หรือพ่อค้าที่เข้ามารับซื้อ

คุณวิโรจน์ เผยว่า ราคาขายทุเรียนที่อำเภอบ้านไร่มีราคาดีมาตลอด แล้วมีราคาขยับขึ้นทุกปี เพราะมีคุณภาพทัดเทียมกับทางจันทบุรีหรือระยอง ซึ่งที่ผ่านมามีแม่ค้าไปรับซื้อทุเรียนจากทางภาคตะวันออกมาขายที่อุทัยธานี แต่พอเจอทุเรียนบ้านไร่ที่มีคุณภาพเหมือนกัน แล้วใหม่สดกว่า เพราะไม่ต้องเสียเวลาขนส่ง จึงทำให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวหันมาซื้อทุเรียนบ้านไร่กันอย่างคึกคักจนไม่พอขาย

เนื้อผลแห้งไม่ติดเปลือก เม็ดเล็ก

แม้ว่าการปลูกทุเรียนที่สวนของคุณวิโรจน์จะยังไม่ได้มาตรฐานเท่ากับทางภาคตะวันออก ขณะเดียวกันผลผลิตบางส่วนยังมีความเสียหาย แต่ผลผลิตรวมจากปีที่ผ่านมา (2560) สวนทุเรียนของเขาได้ปริมาณกว่า 9 ตัน แล้วคิดว่าภายหลังจากที่ได้ศึกษาข้อมูล ตลอดจนเรียนรู้เทคนิคอื่นๆ เพิ่มเติม อย่างเรื่องการผสมเกสรในตอนกลางคืน เนื่องจากดอกจะบานเต็มที่ในช่วงกลางคืน ทำให้การผสมเกสรมีประสิทธิภาพดีมาก ช่วยให้ผลทุเรียนมีความสมบูรณ์ทั้งขนาดและรูปทรง ช่วยลดความเสียหาย แล้วเพิ่มผลผลิตได้อีกมาก ทำให้ทรงผลมีความกลมกว่าเดิมที่บิดเบี้ยว มีขนาดเท่ากัน จึงทำให้ผลผลิตมีอัตราสูงขึ้นแน่นอน สามารถขายได้ราคาที่เพิ่มขึ้น

“เคยส่งผลผลิตไปขายในห้างดัง ก็ได้รับความสนใจ และเมื่อลูกค้าชิม ได้รับคำตอบว่า อร่อยมาก แต่คิดว่าไม่ได้ตั้งใจนำไปขาย เพราะลูกค้าประจำจับจองทุเรียนกันหมด จึงเห็นว่าเพียงขายอยู่กับบ้านก็ไม่พอ เนื่องจากที่สวนเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยไม่มีการเก็บเงิน จะเปิดให้นักท่องเที่ยวมาเดินชมสวนแล้วชิมผลไม้ชนิดต่างๆ พร้อมกับซื้อกลับบ้าน ดังนั้น คงไม่จำเป็นต้องนำไปวางขายตามสถานที่ต่างๆ อีกทั้งยังต้องใช้บุคลากรเพิ่มเป็นการสิ้นเปลืองต้นทุน”

ทางด้าน คุณวัฒนา ชัยวลี เกษตรอำเภอบ้านไร่ เผยว่า พื้นที่ของอำเภอบ้านไร่ เหมาะกับการปลูกไม้ผลมาก เพราะที่ผ่านมาได้ทดลองปลูกหลายชนิดก็ล้วนประสบความสำเร็จ แล้วมีคุณภาพเท่ากับทางภาคตะวันออก ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติซึ่งไม่เคยผ่านการใช้สารเคมีมาอย่างหนัก มีคุณภาพดินร่วนซุย มีปริมาณน้ำดี

นอกจากทุเรียนแล้ว สวนคุณวิโรจน์ยังปลูกผลไม้ชนิดเดียวกับทางภาคตะวันออกเพิ่มอีก ไม่ว่าจะเป็น เงาะโรงเรียน จำนวน 70 ต้น มีคุณภาพดี แต่ผลเล็กที่สำคัญมีเนื้อแห้ง กรอบ หวาน ล่อน แล้วยังปลูกมังคุด จำนวน 30 กว่าต้น กระท้อนปุยฝ้าย ลำไยอีดอ

“ถือว่า ทุเรียน เป็นไม้ผลชนิดใหม่ของชาวบ้านไร่ อุทัยธานี ทั้งนี้หลายปีที่ผ่านมามีชาวบ้านจำนวนมากหันมาปลูกทุเรียนกับไม้ผลกันมากขึ้น แล้วคิดว่าคงไม่กระทบกับราคา เพราะตลาดในพื้นที่ภาคกลางมีความสนใจผลไม้ที่ปลูกในอำเภอบ้านไร่กันมาก ถึงขนาดรอกินทุเรียนอุทัยโดยไม่สนทุเรียนทางภาคตะวันออก” คุณวิโรจน์ กล่าว

สำหรับแฟนพันธุ์แท้ทุเรียน หากสนใจต้องการลองลิ้มชิมรสทุเรียนบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ติดต่อเข้าชมสวนโดยตรงที่ คุณวิโรจน์ โทรศัพท์ (095) 319-3828, (095) 407-8254  line : 561227620 fb: สวนเงาะ-ทุเรียน นายวิโรจน์ เผ่าพันธุ์โพธิ์

 

เกษตรกรชาวสวนอย่าหลงเชื่อบุคคลแอบอ้างรู้จักกับผู้สื่อข่าวเพื่อโอนเงินหรือส่งของ หากสงสัยโปรดติดต่อสอบถามมาก่อนได้ ที่ กอง บ.ก. เทคโนโลยีชาวบ้าน โทรศัพท์ (02) 589-0020 ต่อ บ.ก. เทคโนฯ