สบายใจ ไม่รวย แต่พอกิน! คนรุ่นใหม่ทำเกษตร ปลูกผักสลัดบนดอย มีรายได้หลักหมื่น

สบายใจ ไม่รวย แต่พอกิน! คนรุ่นใหม่ทำเกษตร ปลูกผักสลัดบนดอย มีรายได้หลักหมื่น
สบายใจ ไม่รวย แต่พอกิน! คนรุ่นใหม่ทำเกษตร ปลูกผักสลัดบนดอย มีรายได้หลักหมื่น

สบายใจ ไม่รวย แต่พอกิน! คนรุ่นใหม่ทำเกษตร ปลูกผักสลัดบนดอย มีรายได้หลักหมื่น แถมได้ดูแลพ่อแม่

ถามว่ามีความสุขไหม ทำเกษตรแรกๆ คือร้องไห้เลย มือแตก มือลอก รู้สึกว่า “กูปิ๊กมาอะหยังวะ” ท้อมาก แม่ก็ไล่กลับไปอยู่เวียง (เชียงใหม่) แต่เรารู้สึกว่าไม่สนุก เลยกลับมาสู้ต่อ เพราะทำเกษตรสบายใจกว่า ไม่ต้องแข่งกับใคร แข่งกับตัวเองพอ ขยันมากก็ได้มาก และได้กลับมาอยู่กับพ่อแม่ด้วย”  

คำบอกเล่าจาก คุณกระแต-วนิดา สุขกำแหง สาววัย 27 ปี เธอเติบโตมาในครอบครัวชาวสวนลำไย จึงซึมซับวิถีเกษตรมาตั้งแต่เด็ก อีกทั้งเมื่อได้ลองทำงานประจำ แต่ไม่ตรงใจ การกลับมาทำเกษตร อาชีพดั้งเดิมของพ่อแม่ จึงเป็นความตั้งใจจริง นำมาสู่การสร้างรายได้ต่อเดือนที่มั่นคงจากผักสลัด ที่เริ่มจากปลูกเล็กๆ ในสวนลำไย สู่การเช่าพื้นที่บนดอยเพิ่มผลผลิต

คุณกระแต-นิดา สุขกำแหง สาววัย 27 ปี
คุณกระแต-นิดา สุขกำแหง สาววัย 27 ปี

งานประจำไม่ใช่ทาง

คุณกระแต เล่าให้ฟังว่า เธอไม่มีทุนเรียนต่อปริญญาตรี หลังจบ ปวส. ด้านอุตสาหกรรมการเกษตร ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ จึงหยุดเรียนเพื่อหาทุนศึกษาต่อ โดยเลือกทำงานประจำ เป็นบาริสต้า เปิดร้านกาแฟ และเป็นบาร์เทนเดอร์

ใช้ชีวิตเป็นมนุษย์เงินเดือนนาน 2 ปี ซึ่งการทำงานก็ทำให้ค้นพบว่างานประจำไม่ใช่สำหรับเธอ จึงตั้งใจแน่วแน่ หากเรียนจบปริญญาตรีจะกลับไปสานต่ออาชีพเกษตรของพ่อแม่ที่เป็นชาวสวนลำไย

สวนลำไย
สวนลำไย

“หลังจากดร็อปเรียนไป 2 ปี เรากลับมาเรียนต่อปริญาตรี ด้านการบริหารจัดการ เพราะอยากเอามาพัฒนาอาชีพเกษตรของพ่อแม่ ระหว่างนั้นก็ลงทุนเลี้ยงไก่ไข่ ไก่เนื้อ เลี้ยงหมู เลี้ยงปลา ปลูกผักสวนครัว พวกมะเขือเปราะ กะเพรา โหระพา ชะอม ปลูกผักสลัด ทยอยทำไปเรื่อยๆ อยู่ในสวนลำไยที่ตำบลแม่สอยของพ่อกับแม่นั่นแหละ พื้นที่ 7 ไร่ วันธรรมดาก็ให้พ่อแม่ช่วยดู วันเสาร์อาทิตย์เราก็กลับมาดู

พวกวิธีการเลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู เลี้ยงปลา หรือการปลูกผักก็ดูจากยูทูบ และซึมซับจากพ่อแม่มาตั้งแต่เด็ก เพราะพ่อเคยทำงานโครงการหลวง เราก็มีโอกาสได้ติดสอยห้อยตามไป แม่ก็เป็นชาวบ้านที่มีวิถีชีวิตทำเกษตรอยู่แล้ว เลยไม่ใช่เรื่องไกลตัวมาก และจากที่ทยอยทำมาตั้งแต่สมัยเรียน พอเรียนจบเลยทำให้เรามีทุกอย่างพร้อมต่อยอดได้เลย”

ปลูกผักสลัดบนดอย
ปลูกผักสลัดบนดอย

ปลูกผักสลัดบนดอย

คุณกระแต เล่าต่อว่า การทำสวนลำไยมีรายได้เพียงปีละครั้ง ซึ่งแต่ละปีก็ได้ไม่แน่นอน บางปีก็ขาดทุน หรือบางสวนต้องกู้เงินมาลงทุน ทำให้มองว่า แล้วมีเกษตรอะไรบ้างที่ไม่ต้องลงทุนเยอะ แต่สามารถสร้างรายได้ทุกเดือน

“เริ่มกลับมาเอาจริงเอาจังกับการปลูกผักสลัด แรกๆ ปลูกไปขายตามตลาดนัด แต่ทำไปทำมารู้สึกอยากขยาย ก็ไปปรึกษาเพื่อน เขาแนะนำให้ทำส่งบริษัท แต่ต้องมีจำนวนผลผลิตเยอะๆ เลยไปหาเช่าที่รายปีบนดอยตำบลบ้านแปะเพื่อปลูกผักสลัดส่ง

พื้นที่ 1-2 ไร่ โล่งๆ เปล่าๆ เลย ต้องทำแปลงเอง ต่อน้ำเอง ค่าเช่าปีละหมื่นบาท ถามว่าเอาเงินจากไหนมาลงทุน ก็เงินจากการขายลำไย มาปลูกทั้งกรีนโอ๊ก เรดโอ๊ก เรดคอรัล เบบี้คอส และคอส ส่งบริษัทที่รับซื้อผลผลิตทางการเกษตร”

โดยใน 1 เดือน คุณกระแตจะเก็บผักสลัดส่งบริษัท 1 ครั้ง ครั้งละ 600-700 กิโล รวมทั้งนำผลผลิตไปขายปลีกกิโลละ 80 บาท ขายส่งกิโลละ 65 บาท 10 กิโลขึ้นไป ตามตลาดนัด ตามโรงพยาบาล หรือตามออร์เดอร์ที่ลูกค้าสั่งอีก ทำให้ 1 เดือนมีรายได้จากการขายผักสลัดราวๆ 20,000-40,000 บาท และนอกจากนี้ ยังไปชวนเกษตรกรบนดอยมาเป็นลูกสวนปลูกผักสลัดส่งด้วย เพราะบริษัทต้องการผักมากถึงอาทิตย์ละ 2,000 กิโล

ผลผลิตจากสวน
ผลผลิตจากสวน

ส่วนผักสวนครัว ไก่ไข่ หมู ปลา เธอเก็บเอาไว้ทำอาหารกินในครอบครัว แต่ถ้ามีเหลือก็จะนำไปขายตามหมู่บ้าน และนำเงินที่ได้ให้พ่อแม่

“การขายของ เราต้องซื้อใจลูกค้า ต้องพูดจาดีๆ เพราะๆ บวกกับเราเป็นเด็กพูดเก่งด้วย และถ้ามีกะหล่ำปลี ผักกาดขาว หรือผักอื่นๆ เราก็แถมไปด้วย แล้วส่งตามบ้าน 30 กว่ากิโลก็ไป เราไม่ได้อะไรเลย แต่ได้ใจ จากลูกค้าหน้าใหม่ ก็กลายเป็นลูกค้าประจำ” เกษตรกรสาว เผยเทคนิค

เลี้ยงไก่
เลี้ยงไก่

ก่อนแนะนำ วิธีการปลูกผักสลัดว่า

1. เตรียมดิน พรวนดินแล้วนำไปผสมกับปุ๋ยคอกและแกลบดิบ ในอัตรา 1:1 จากนั้นรดน้ำให้ชุ่มแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วทิ้งไว้ 1 อาทิตย์

2. นำต้นกล้าที่เพาะไว้มาปลูกลงดิน ในแปลงที่เตรียมไว้

3. หมั่นรดน้ำให้ดินชุ่มชื้น เช้า-เย็น และให้สารอาหารแก่พืชด้วยปุ๋ยคอก

4. ฉีดพ่นน้ำหมักไล่แมลง และฮอร์โมนไข่ ฮอร์โมนนม 5-7 วันครั้ง

5. สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตหลังจากเพาะเมล็ด ภายใน 40-45 วัน

ผักสลัด
ผักสลัด

ถึงปัจจุบัน คุณกระแตเป็นเกษตรกรเต็มตัวมา 6 เดือน จากที่เมื่อก่อนทยอยปลูก ทยอยทำไว้ระหว่างเรียนปริญญา โดยวันจันทร์ถึงศุกร์ เธอจะอยู่ที่สวนผักสลัด ส่วนวันเสาร์ถึงวันอาทิตย์จะอยู่ที่สวนลำไย

“เราลองปลูกก่อน ไม่เวิร์กก็ทิ้ง แล้วปลูกใหม่ ไม่ได้ใช้งบเยอะ ซื้อกล้ามาหลักสิบ เพื่อดูว่าปลูกแล้วไปรอดไหม เราดูแลได้ไหม สลัดขาดน้ำไม่ได้เลย ต้องใส่ใจ ตอนแรกอยู่กับมันทุกวัน แต่พอเรียนการจัดการมา เราก็เอามาปรับใช้ และรู้ว่าเราไม่ต้องเสียเวลา 1 วันรดน้ำเอง แต่เราจ้างชาวบ้านได้ แล้วจะได้มีเวลาว่างทำอย่างอื่น”

ผักสลัด
ผักสลัด

ทำเกษตรต้องอดทน ไม่รวย แต่มีพอกิน

เกษตรกรสาว เล่าต่อว่า จากการทำเกษตรเธอได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง สิ่งแรกคือความอดทน 

“มันต้องใช้ความอดทน ความพยายามเยอะมาก ปลูกผักถ้าเราไม่ใส่ใจ ไม่ดูแลมันก็ตาย แต่ถ้าเราดูแลดี ผักจะสวย มีน้ำหนัก เราก็สามารถมีรายได้จากการขายได้ รู้สึกมีความสุขกว่าตอนทำงานประจำ ได้อยู่กับพ่อแม่ ได้กินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตา ถามว่าเหนื่อยไหม เหนื่อยอยู่แล้ว แต่ความสบายใจได้เต็มๆ แล้วจะกินอะไรก็มีในสวน สามารถเอามาทำอาหารได้ทุกอย่าง อนาคตก็อยากมีร้านกาแฟ สวนผัก และโฮมสเตย์เล็กๆ สัก 2-3 หลัง”

ก่อนทิ้งท้ายถึงอาชีพเกษตร ว่าเป็นทางเลือกที่ดี แต่ถ้าเป็นหนี้ไม่แนะนำให้ทำ เพราะรายได้ไม่แน่นอน

“บางคนไม่รู้ตัวว่าจะปลูกอะไร ปลูกแล้วมีตลาดไหม ขายให้ใคร ต้องศึกษาให้ชัวร์ก่อน ไม่งั้นมีหนี้อยู่แล้วก็จะมีหนี้เพิ่ม แต่คนที่อยากใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ ไม่มีหนี้ อยากทำ อันนี้ได้ ทำเกษตรไม่ได้รวย แต่มีพอกินมีสบายใจ อยากกินอะไรก็ปลูก คนละฟิลกับที่ซื้อกินเลย และห้ามท้อ ต้องมีความพยายาม”