อีกหนึ่งอาชีพทำเงิน! นักสืบตามหา “เพื่อนสี่ขา” หนีออกจากบ้าน

Masataka Endo , Representative of Japan Lost Pet Rescue, at Musashi Koganei, Kodaira city, on March 10, 2018. May reports. YOSHIAKI MIURA PHOTO

กระแสสัตว์เลี้ยง ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้คนยินดีเป็นทาสของเพื่อนรักต่างเผ่าพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นแมว สุนัข นก กระต่าย และอีกสารพัดสัตว์ ที่แสนจะน่ารักในสายตาแต่ละคน

ความรักสัตว์เช่นนี้ทำให้เกิดธุรกิจตามมามากมาย ทั้งสินค้าเพื่อสัตว์เลี้ยงต่างๆ บริการสปาสำหรับน้องหมาน้องแมว แต่อีกธุรกิจที่หลายคนอาจคิดไม่ถึง นั่นคือ “นักสืบสารพัดสัตว์เลี้ยง” ซึ่งมักเป็นที่พึ่งของเหล่าทาสในยามที่เจ้านายสี่ขาหนีออกจากบ้าน

“เจแปนไทม์ส” เล่าถึงอาชีพนี้ที่มีงานเข้ามาไม่ขาดสาย โดยหยิบยกเรื่องราวของ “มาซาตากะ เอนโดะ” หนุ่มวัย 41 ปี ที่ทำงานนี้มา 20 ปีแล้ว ใช้เวลาเดินตามหาสัตว์เลี้ยงที่หายออกจากบ้านเฉลี่ยวันละ 30 กิโลเมตร

สัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่ที่เอนโดะตามหา คือ แมว ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการหนีออกจากบ้าน เคล็ดลับของเขาอยู่ที่การมองในมุมเดียวกับเจ้าเหมียวที่ต่ำกว่าระดับสายตามนุษย์

ปัจจุบัน เอนโดะเป็นผู้นำทีมที่มีทั้งหมด 10 คน ในบริษัท “เจแปน ลอสต์ เพ็ต เรสคิว” ที่ให้บริการตามหาสัตว์เลี้ยง โดยเริ่มต้นทำธุรกิจนี้มาตั้งแต่ปี 2553

สาเหตุที่แมวเป็นสัตว์เลี้ยงยอดฮิตในการตามหา ก็เพราะคนญี่ปุ่นชื่นชอบแมวมาแต่ไหนแต่ไร เห็นได้จากวรรณกรรม รายการโทรทัศน์ ไปจนถึงภาพยนตร์ที่มีพวกมันปรากฏตัวอยู่เสมอ แม้แต่ถูกตั้งให้เป็นนายสถานีประจำสถานีรถไฟหลายแห่ง แถมมีร้านคาเฟ่แมว และร้านค้าที่ตกแต่งเกี่ยวกับแมวเต็มไปหมด

สมาคมอาหารสัตว์แห่งญี่ปุ่น เผยแพร่ผลสำรวจที่สอบถามคนกว่า 50,000 คน เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนว่าจำนวนแมวที่ถูกเลี้ยงแซงหน้าน้องหมาไปเรียบร้อยแล้ว โดยประเมินตัวเลขของแมวที่มีการเลี้ยงในญี่ปุ่นเมื่อปี 2560 อยู่ที่ 9.53 ล้านตัว ส่วนจำนวนหมาอยู่ที่ 8.92 ล้านตัว

ยิ่งจำนวนการเลี้ยงแมวเพิ่มขึ้นเท่าไร ก็หมายถึงจำนวนแมวที่หนีออกจากบ้านเพิ่มขึ้นตามไปด้วย “เจแปน ลอสต์ เพ็ต เรสคิว” รับจ้างตามหาสัตว์เลี้ยงราวๆ ปีละ 500-600 ครั้ง ซึ่ง 70-80 เปอร์เซ็นต์ เป็นภารกิจตามหาแมว ส่วนอีก 20-30 เปอร์เซ็นต์ เป็นการตามหาเจ้าตูบ ที่เหลือไม่มากก็เป็นสัตว์เลี้ยงอื่นๆ เช่น นก กระต่าย งู เฟอร์เรตที่เป็นสัตว์ตระกูลเดียวกับพังพอน

สำหรับลูกค้าก็มักจะอยู่ในกรุงโตเกียวและพื้นที่ใกล้เคียง รวมไปถึงเมืองที่มีประชากรจำนวนมาก อย่างโอซากา นาโกยา และฟูกูโอกะ

บ่อยครั้งที่เจ้าของประเมินความสามารถของเจ้าเหมียวต่ำเกินไป พวกมันฉลาดพอที่จะเปิดประตูแบบบานเลื่อนได้เอง นอกจากนี้ บรรดาทาสแมวมือใหม่ก็อาจจะไม่คุ้นเคยกับพฤติกรรมหนีเที่ยวของพวกมัน รวมถึงช่วงฤดูผสมพันธุ์

เจ้าของหลายรายพลัดกับสัตว์เลี้ยงระหว่างเดินทางท่องเที่ยว หรือกลับไปเยี่ยมบ้านต่างจังหวัด เพราะพวกมันจะหนีไปเที่ยวภูเขา หรือหายตัวไประหว่างหยุดพักระหว่างเดินทาง

จริงๆ แล้วในญี่ปุ่น หากสัตว์เลี้ยงหาย เจ้าของสามารถไปแจ้งทางการ เช่น หน่วยงานของเมือง จังหวัด หน่วยควบคุมสัตว์ เพื่อจะได้ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับพวกมันหรือไม่ รวมถึงแจ้งตำรวจเหมือนกรณีสิ่งของสูญหาย

กรณีของ “เอนโดะ” เขามักได้รับแจ้งหลังสัตว์เลี้ยงหายไปแล้ว 3 วัน จนถึง 1 สัปดาห์ และเจ้าของก็พยายามทำทุกวิธีแล้ว แต่ก็ไม่พบบรรดาเจ้าตัวดี

น่าสนใจว่า เจ้าเหมียวที่หายตัวไปมักจะถูกหาพบในบ้านของเพื่อนบ้าน หรือแม้แต่บ้านตัวเอง หลังจากมันหายตัวไป 1 สัปดาห์

“เจแปน ลอสต์ เพ็ต เรสคิว” อ้างว่า ประสบความสำเร็จในการค้นหาแมวหายได้ราว 85 เปอร์เซ็นต์ โดยใช้เวลาค้นหานาน 3 วัน ส่วนการค้นหาเจ้าตูบสำเร็จอยู่ที่ 80 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่นกไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ และสัตว์เลี้ยงอื่นๆ เช่น เฟอร์เรต งู กระต่าย เต่า อยู่ที่ 75 เปอร์เซ็นต์

สิ่งสำคัญที่สุดในการค้นหาสัตว์เลี้ยง คือ เริ่มตามหาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยหลังจากสอบถามรายละเอียดจากเจ้าของ นักสืบก็จะแจกใบปลิวภาพสัตว์เลี้ยงในบริเวณใกล้เคียง ติดโปสเตอร์ ทำความรู้จักกับเพื่อนบ้าน พูดคุยกับผู้คนแถวนั้น และตามหา

สำหรับค่าเหนื่อยของเหล่านักสืบ ราคามาตรฐานในการตามหาเป็นเวลา 3 วัน ซึ่งรวมถึงการให้คำแนะนำ อยู่ที่ราว 79,000 เยน ไม่ว่าจะตามหาสัตว์เลี้ยงพบหรือไม่ก็ตาม

ในอังกฤษก็มีบริการตามหาสัตว์เลี้ยงเช่นกัน “ทอม วัตกินส์” ก่อตั้ง “แอนิมอล เสิร์ช ยูเค” ที่แต่ละเดือนตามหาสัตว์เลี้ยงคืนเจ้าของได้กว่า 2,000 ตัว โดยมีอัตราความสำเร็จอยู่ที่ 80 เปอร์เซ็นต์ ค่าบริการก็มีทั้งแพ็กเกจ 200 ปอนด์ สำหรับโปสเตอร์ และกระจายข่าวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และแพ็กเกจราคา 1,000 ปอนด์ ที่จะได้ทีมผู้เชี่ยวชาญออกค้นหาเป็นเวลา 10 หรือ 15 ชั่วโมง

 ว่ากันว่า ในแต่ละปีมีสัตว์เลี้ยงในอังกฤษพลัดพรากกับเจ้าของมากถึง 40,000 ตัว

 

 

 เครดิตภาพจาก www.japantimes.co.jp

เครดิตภาพจาก https://www.catcafesd.com

เครดิตภาพจาก https://i2.wp.com/tokyobyfood.com

เครดิตภาพจาก http://www.abc.net.au