โอท็อปไปโลด ขึ้นขายบนสายการบิน

เป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองของวงการโอท็อปอีกครั้ง สำหรับโครงการ “ประชารัฐพัฒนา OTOP Potential Growth” อันเป็นความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กับ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ และเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรของกรมการพัฒนาชุมชนที่ขับเคลื่อนงานในพื้นที่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง คุณอภิชาติ โตดิลกเวชช์ อธิบดี พช. พร้อมด้วย รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ได้ร่วมลงนามความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงาน

img_8586

คุณอภิชาติ เกริ่นว่า ในส่วนของ พช. ซึ่งรับผิดชอบเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ประกอบการโอท็อปใน 5 ด้าน คือ 1) การเข้าถึงปัจจัยการผลิต 2) การบริหารจัดการ 3) องค์ความรู้ 4) การตลาด และ 5) การประชาสัมพันธ์และการรับรู้ เพื่อให้โอท็อปเติบโตอย่างมีคุณภาพ เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมต่อไป แต่หากติดตามข่าวคราวจะเห็นว่ายังมีจุดอ่อนในหลายเรื่อง โดยเฉพาะในด้านการตลาด

 

นำพัฒนากรอบรมเพิ่มกึ๋น

ดังนั้น เพื่อให้มีการพัฒนาสินค้าโอท็อปอย่างต่อเนื่อง พช. จึงได้ร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ โดย ศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (PIM HR Excellence Center) สถาบันการศึกษาในสังกัด บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) จัดทำแนวทางหลักสูตรฝึกอบรมพัฒนาการอำเภอเพื่อเป็นพี่เลี้ยงพัฒนากร และฝึกอบรมพัฒนากรให้มีความสามารถในการเป็นที่ปรึกษาแก่ผู้ประกอบการโอท็อป โดยใช้ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน 11 แห่ง ทั่วประเทศเป็นสถานที่ฝึกอบรม

ทั้งนี้ มี 2 หลักสูตร โดยใช้รูปแบบการเรียนรู้แบบ Action Learning และเรียนรู้จาก Best Practice คือ 1. หลักสูตรการทำงานแบบพันธมิตรธุรกิจ สำหรับฝึกอบรมพัฒนาการอำเภอและหัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน เพื่อสร้างแนวคิดการทำงานแบบพันธมิตรธุรกิจกับผู้ประกอบการโอท็อป และเป็นพี่เลี้ยงให้กับพัฒนากร จำนวน 954 คน

  1. หลักสูตรการเป็นที่ปรึกษาธุรกิจโอท็อป สำหรับฝึกอบรมพัฒนากร เพื่อให้ความรู้ทางธุรกิจ เป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่มโอท็อป และความรู้การจัดทำแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อกระตุ้นยอดขายรายผลิตภัณฑ์ จำนวน 3,745 คน

อธิบดี พช. ระบุว่า โครงการนี้คาดหวังว่าพัฒนากรจะสามารถเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการโอท็อปได้ และที่สำคัญที่สุดคือ มีแผนพัฒนาโอท็อป ระดับ 1-3 ดาว ในความรับผิดชอบรายผลิตภัณฑ์ 1 รายการ ต่อ 1 คน เพื่อเพิ่มยอดขายตามแผน และในส่วนของความร่วมมือกับ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กรมได้หารือเบื้องต้นเกี่ยวกับช่องทางการนำสินค้าโอท็อปจำหน่ายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ซึ่งจะมีความชัดเจนมากขึ้นในโอกาสต่อไป

ปัจจุบัน ตลาดสินค้าโอท็อปมีมูลค่าทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง รวมกว่า 100,000 ล้านบาท ต่อปี มีสินค้าโอท็อป 40,600 กลุ่มสินค้า รวมกว่า 80,000 รายการ

 

ร่วมมือไทยเบฟ 4 เรื่อง

img_2077

คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี ในช่วงลงพื้นที่ที่จังหวัดเพชรบุรี เยี่ยมชมสินค้าโอท็อปและสินค้าเกษตร

คุณอภิชาติ ให้ข้อมูลด้วยว่า ตามที่รัฐบาลชุดนี้มีนโยบายสานพลังประชารัฐ เอกชนก็พยายามเข้ามามีส่วนร่วมกับทางรัฐบาล ซึ่งมีหลายภาคส่วนด้วยกัน ในส่วนของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่มี คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ กำลังร่างเอ็มโอยูความร่วมมือกันใน 4 เรื่องคือ 1. เรื่องการพัฒนาสินค้าโอท็อป 2. เรื่องการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงมาปรับใช้ ให้ขยายผลในวงกว้าง 3. แลกเปลี่ยนอบรมบุคลากรที่ทำงานด้านการพัฒนาชุมชนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ 4. การใช้เครื่องไม้เครื่องมือด้วยกัน

“คุณฐาปนทำงานสักพักเห็นว่าการพัฒนาช่วยเหลือพี่น้องในชนบทมีความขาดแคลนมาก และมีความตั้งใจจริงอยากช่วย วิธีช่วยก็มีหลายรูปแบบ 1. ผ่านทาง บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด ที่ทำอยู่แล้ว 2. มาพัฒนาร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เช่น เรามีประสบการณ์ด้านฝึกอบรมประชาชน ไทยเบฟมีประสบการณ์ทางด้านธุรกิจเครือข่ายการทำมาค้าขาย ก็มาใช้เครือข่าย ใช้สถานที่ด้วยกัน เช่น กรมมีศูนย์ฝึกอบรมที่จะขยายผลในเรื่องการทำมาค้าขายได้มากขึ้น 11 ศูนย์”

นอกจากนี้ ในโรงเรียนมีคณะทำงานภาคเอกชน E5 ที่มี คุณศุภชัย เจียรวนนท์ เป็นประธาน เอกชนก็ลงไปช่วยดูโรงเรียน ซึ่งตรงนี้กับคอนเซ็ปต์ของกรม คือ Young OTOP เพราะฉะนั้น ถ้านำหลักการของยังโอท็อปเข้าไปขยายผลในโรงเรียน ด้วยการสอนเด็กตั้งแต่เด็กเล็กขึ้นมา หรือเด็กที่อยู่ในโรงเรียนประถมศึกษา-มัธยมศึกษา ฝึกเด็กให้ทำมาค้าขายได้ตั้งแต่เด็ก เป็นการปูพื้นฐาน วิธีการเรียนการอบรมก็ง่ายๆ ให้เด็กได้ทำจริง เช่น นำบัญชีครัวเรือนเข้าไป ให้เด็กรู้ว่าทำไมต้องเก็บ รายได้ รายรับรายจ่าย

img_4415

เนกไท-ผ้าพันคอขายดี

คุณอภิชาติ แจกแจงถึงเรื่องที่การบินไทยนำสินค้าโอท็อปไปขายบนเครื่องบินว่า สินค้าที่ขายดีส่วนใหญ่เป็นของที่ระลึก เช่น เนกไท ผ้าพันคอ ออร์เดอร์เพิ่มเติมหลายครั้งแล้ว ราคาขายก็จะไม่แพง จะแพงกว่าขายข้างล่างประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นเอง เพราะเป็นค่าบริหารจัดการและค่าภาษีบวกแวต

นอกจากนี้ ทาง พช. ยังได้ร่วมมือกับสายการบินอื่นด้วย อย่างเช่น บางกอกแอร์เวย์ส ซึ่งทางสายการบินอยากทำคล้ายๆ การบินไทย คือพัฒนาสินค้า ทาง พช. ก็ลงไปช่วย ไปกระตุ้นให้ชาวบ้านพัฒนาสินค้าร่วมกับบางกอกแอร์เวย์ส

“ตอนนี้อยู่ในช่วงปรับปรุงสินค้า ถ้าสินค้ามีคุณภาพสูง มีความโดดเด่น ทางบางกอกแอร์เวย์สคงนำขึ้นไปขายบนเครื่องในอนาคต เพราะขายสินค้าบนเครื่องอยู่แล้ว ส่วนแอร์เอเชีย ความร่วมมือเป็นลักษณะคล้ายๆ การบินไทย คือนำโอท็อปขึ้นเครื่อง เป็นโครงการสานพลังประชารัฐที่เอกชนพยายามหาวิธีเชื่อมว่าจะกระโดดขึ้นรถไฟเที่ยวนี้ได้อย่างไร”

คุณอภิชาติ บอกว่า การนำโอท็อปขึ้นเครื่องถือว่าประสบความสำเร็จ หลายประเทศไม่มีแบบนี้ สิ่งที่ได้นอกเหนือจากตัวเงินคือความภูมิใจที่นำสินค้าภูมิปัญญาของประเทศไปโชว์บนเครื่องบินให้ต่างชาติได้เห็น สิ่งที่ได้ไม่ใช่ได้เฉพาะนักท่องเที่ยวซื้อหรือไม่ซื้อ แต่มีการขายทางอินเตอร์เน็ตต่อเนื่อง ผู้ที่สนใจสามารถทยอยสั่งในอินเตอร์เน็ตได้

img_4391

เน้นความสามารถ 5 เก่ง

ทีนี้ลองมาฟังในซีกของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ รศ.ดร.สมภพ มองว่า เรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์โอท็อป แม้จะมีความหลากหลายก็จริง แต่ต้องมีมาตรการทำให้ดีขึ้นด้วย และถ้าผลิตภัณฑ์พัฒนาดี แต่ถ้าขายไม่ดีก็มีปัญหาได้ ฉะนั้น ต้องขายให้เป็น เรื่องการเงินก็สำคัญ จะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาโอท็อปไปได้ในระดับหนึ่ง แค่แสนกว่าล้านบาทต่อปี ความจริงน่าจะไปได้อีกเยอะ ถ้าดูจากแนวโน้มของหลายประเทศอย่างเช่นที่ญี่ปุ่นพัฒนาไปไกลมาก แต่ปรากฏว่ายังสามารถรักษาธุรกิจขนาดเล็กไว้ได้มากมาย

“ฉะนั้น เมื่อเป็นอย่างนี้ ต้องสร้างความสามารถ 5 เก่งขึ้นมาให้ได้ 1. เก่งผลิต 2. เก่งขาย 3. เก่งคน 4. เก่งเงิน 5. เก่งไอที 5 ตัวนี้ถ้าสามารถสร้างให้พัฒนาได้เมื่อไหร่จะทำให้เราพัฒนาได้มากยิ่งขึ้นไปอีก โอท็อปขาดเรื่องการตลาด ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เช่น ปีหนึ่งจัดขายสักหนก็มีช่องทางน้อย ทำอย่างไรให้มีช่องทางจำหน่ายมากขึ้น แต่ต้องมีคุณภาพ และมีความหลากหลาย อย่างสินค้ากว่า 80,000 รายการ บางทีก็ซ้ำกันไปมา ทำอย่างไรให้มีความหลากหลายและมีความแตกต่าง”

อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ระบุว่า ปัจจุบันไอทีเป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นตัวเข้าถึงลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะทุกวันนี้คนใช้มือถือ ขายผ่านอีคอมเมิร์ซหมด เมื่อเป็นอย่างนี้ถ้า 5 เก่งทำให้ดีจะพัฒนาได้แน่นอน ซึ่งที่ผ่านมาเรื่องไอทีของผู้ประกอบการโอท็อปค่อนข้างมีปัญหา ชาวบ้านเองห่างไกลจากเรื่องนี้ ซึ่งการใช้ไอทีต้องรู้ว่าใช้เพื่ออะไร ใช้เพื่อหาข้อมูล พัฒนาสินค้าให้ดีขึ้น ลดต้นทุนได้ สำคัญที่สุดคือ ช่องทางการขาย ต้องผลิตให้ดี ขายให้เป็น

เชื่อว่าหลังจากนี้ผู้ประกอบการโอท็อปจำนวนไม่น้อยคงมีความสามารถ 5 เก่ง อย่างแน่นอน