“น้ำตาลมะพร้าว” ออร์แกนิก ผลิตเกรดพรีเมี่ยม ขายได้ราคากว่าทั่วไปอีกเท่าตัว

 

คุณปรีชา เจี๊ยบหยู อยู่บ้านเลขที่ 62/1 หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านปรก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม เผยว่า เดิมทีการทำน้ำตาลมะพร้าวในจังหวัดสมุทรสงครามมีทำกันเป็นจำนวนมาก ต่อมาเมื่อสังคมเมืองมีการขยายตัว ทุกคนมีทางเลือกมากขึ้น จึงได้ตัดสินใจไปทำอาชีพอื่นแทน จึงส่งผลให้การทำน้ำตาลมะพร้าวค่อยๆ สูญหายไป เขาจึงได้ทำการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง โดยนำชาวบ้านที่มีองค์ความรู้มารวมกลุ่ม จนทำให้ทุกวันนี้การทำน้ำตาลมะพร้าวของกลุ่มสามารถทำรายได้เลี้ยงสมาชิกได้ถึง 12 ครัวเรือนกันเลยทีเดียว

 

คุณปรีชา เล่าให้ฟังว่า เมื่อสมัยปี 2500 พื้นที่บริเวณนี้มีชาวบ้านที่ทำน้ำตาลมะพร้าวถึง 52 บ้าน ทำแบบเชิงเป็นธุรกิจของครอบครัวที่ไม่ได้รวมกลุ่ม ต่อมาจังหวัดสมุทรสงครามเริ่มมีถนนพระราม 2 ตัดผ่านและมีการเปิดใช้งานจึงทำให้ชาวบ้านในชุมชนมีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากขึ้น จึงทำให้การทำน้ำตาลมะพร้าวเริ่มมีจำนวนที่ลดลงไปด้วย คือเหลือประมาณ 2 เตาในปี 2534 ซึ่งผู้ที่ขึ้นปาดน้ำตาลในขณะนั้นก็เป็นผู้สูงอายุแทบทั้งสิ้น เพราะเด็กรุ่นใหม่ๆ ไม่ได้สนใจในอาชีพนี้มากนัก

ต่อมาเมื่อมองเห็นถึงความสำคัญของการทำน้ำตาลมะพร้าวให้คงอยู่ คุณปรีชา บอกว่า จึงได้ทำการรวมกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ที่ยังมีใจรักการทำน้ำตาลมะพร้าว ซึ่งประกอบไปด้วยชาวบ้าน 12 ครัวเรือน โดยมีต้นมะพร้าวผลิตน้ำตาลอยู่ประมาณ 480 ต้น ซึ่งใน 1 วัน สามารถให้น้ำตาลมะพร้าวประมาณ 25 ปี๊บ หรือ 500 กิโลกรัม สามารถผลิตน้ำตาลมะพร้าวได้ประมาณ 80 กิโลกรัมต่อวัน

“พอผมมีแนวคิดที่จะเริ่มทำน้ำตาลมะพร้าวขึ้นมา ก็เลยรวบรวมชาวบ้านที่ยังมีใจรักมารวมตัวกัน โดยไม่ทำแบบเชิงบ้านเดี่ยวๆ แต่จะให้ทุกคนมารวมตัวกัน โดยแบ่งหน้าที่กันทำอย่างชัดเจน ก็จะทำให้การทำน้ำตาลมะพร้าว ไม่เหนื่อยเหมือนสมัยก่อนอีกต่อไป ที่ต้องทำทุกอย่างเพียงครัวเรือนเดียว แต่เรารวมให้ทุกคนมาช่วยเหลือกัน ก็จะทำให้ทุกคนมีหน้าที่อย่างชัดเจน” คุณปรีชา บอกอย่างนั้น

การแบ่งงานของสมาชิกที่ทำงานแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ คือ

กลุ่มเจ้าของที่ดินคือผู้ที่จะช่วยปลูกดูแลมะพร้าว

คนขึ้นปาด จะทำหน้าที่ปาดและเก็บน้ำตาลเพียงอย่างเดียว

คนเคี่ยวน้ำตาลก็จะคอยเคี่ยวน้ำตาลที่ได้มาในแต่ละวัน และ

คนหาฟืนหรือไม้ที่ใช้ในการเคี่ยวน้ำตาล โดยรายได้แบ่งกันไปตามสัดส่วนที่แต่ละกลุ่มพึงพอใจ จึงทำให้กลุ่มมีความแข็งแรงและสามารถทำน้ำตาลมะพร้าวกันมาได้จนถึงทุกวันนี้ (ข้อมูลจาก สุรเดช สดคมขำ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน)

คุณปรีชา เจี๊ยบหยู

“วิธีการนี้น่าจะเป็นวิธีการแบบใหม่ ที่น่าจะเอาไปใช้ในหลายๆ พื้นที่เพราะการจัดการกลุ่มเล็ก ง่ายกว่าการจัดการในกลุ่มใหญ่ เพราะกลุ่มใหญ่ มากคน ก็เรื่องเยอะ จริตแต่ละคนที่เข้ามาไม่เหมือนกัน” คุณปรีชา กล่าว

จนถึงปัจจุบัน เขารวมกลุ่มมาแล้ว 6 ปี โดยก่อนหน้านั้นศึกษาหาข้อมูลอยู่ 8 ปี

อย่างที่ทราบราคามะพร้าวมีขึ้นมีลง ช่วงราคาขึ้น ก็ขึ้นสูง ดังนั้น การทำน้ำตาลมะพร้าวแบบนี้ กับการปล่อยให้ติดลูกขายผลสด แบบไหนจะดีกว่ากัน

คุณปรีชา อธิบายว่า “เราคำนวณอย่างนี้ จากจำนวนต้นใน 1 ไร่ มี 40 ต้น 1 ต้น ได้ 10 ลูกต่อเดือน ก็จะได้มะพร้าว 400 ลูก ขายหน้าสวนได้ลูกละ 10 บาท จะได้ 4,000 บาท แต่ถ้าเราเอามาทำน้ำตาล ได้วันละ 11 กก. ขายได้ กก.ละ 70 บาท เราจะได้ 770 บาทต่อวัน หรือ 1.6-1.7 หมื่นบาทต่อ 25 วัน (ต่อ 1 ไร่)” ดังนั้น  การทำน้ำตาลมะพร้าวจึงมีรายได้ดีกว่าแน่นอน อีกทั้งยังกระจายรายได้สู่ชุมชนด้วย

นอกจากนี้ การผลิตน้ำตาลมะพร้าว ยังแน่ใจได้ว่า ผลิตโดยวิธีธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช้ย่าฆ่าแมลง ไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า ไม่ใส่ปุ๋ยเคมี แต่ใช้วิธี โกยดิน จากก้นร่อง ได้เลนธรรมชาติที่อุดมไปด้วยสารอาหาร

คุณปรีชา บอกว่า น้ำตาลมะพร้าว ของที่กลุ่มเขา ขายแพงกว่าน้ำตาลมะพร้าวที่อื่น 100 เปอร์เซ็นต์ นั่นคือที่อื่นขาย กก.ละ 35 บาท แต่เขาขาย 70 บาท ด้วยการผลิตที่เอาใจใส่ ให้ความมั่นใจกับผู้บริโภค พูดง่ายๆ ว่า ขายของคุณภาพนั่นเอง

นอกจากนี้ ยังไม่มีหน้าร้าน  แต่ขายที่บ้าน ขายผ่านโซเชียล ซึ่งช่วยได้เยอะมาก  สั่งกันมา แล้วส่งทางไปรษณีย์

สำหรับการผลิต ใน 1 เดือน จะผลิตได้ราว 2.5 ตัน โดยมีลูกค้าประจำที่เป็นร้านอาหารสั่งทุกเดือน เดือนละ 1 ตัน

ทั้งหมดนี้ ส่งผลให้สมาชิกในกลุ่มมีรายได้ตกเดือนละ 1.8-2 หมื่นบาทต่อเดือน ซึ่งคุณปรีชาว่า การทำแบบนี้ยังช่วยให้คนที่มีภูมิปัญญาในเรื่องการทำน้ำตาลมะพร้าว แต่ไม่รู้หลักการตลาด ก็พลอยอยู่รอดไปด้วยกัน เรียกว่า แบ่งกันกิน โดยที่เขาเองก็ไม่เสียผลประโยชน์อะไรเลย

 

สำหรับใครที่สนใจ ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณปรีชา เจี๊ยบหยู หมายเลขโทรศัพท์ (087) 555-0999