ลาออกจากงานมาเป็นชาวนาเมืองลุง ปั้นแบรนด์ข้าวสังข์หยด ไลฟ์ขายใน TikTok Shop กระจายรายได้ชุมชน

“ผมเป็นชาวนาเมืองลุงที่พัฒนา อะไรที่ต่อยอดได้เราก็ทำ เป้าหมายในอนาคตของผมคือต้องมีทรัพย์กิน ในทีนี้หมายถึงความยั่งยืน ความยั่งยืนสำคัญกว่าเงินในกระเป๋า ไม่มีเงินก็ไม่อด ตื่นมาก็มีกินแล้ว”

คำบอกเล่าจาก “คุณคูณ-รณชัย อเปสริยโย” หนุ่มใหญ่วัยกลางคนผู้ตัดสินใจกลับมาพัฒนาบ้านเกิดเมืองพัทลุง ด้วยการนำ “ข้าวสังข์หยด” ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นข้าว GI มาสร้างแบรนดิ้งใหม่ภายใต้แบรนด์ชิดภิรมย์ ก่อนนำมาไลฟ์ขายใน TikTok Shop ส่งต่อให้ผู้บริโภคทั่วประเทศได้กินข้าวคุณภาพดีเหมือนที่แม่ของเขาเคยได้กิน 

“เรามาทำข้าวขายกันไหมแม่”

เส้นทางของแบรนด์ชิดภิรมย์ เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 6 ปีก่อน 

แม่ของคุณคูณกำลังป่วยด้วยอายุที่มากขึ้น จากอาการต่างๆ รุมเร้า ทั้งคอเลสเตอรอล ไขมัน เส้นเลือด ในฐานะลูกชายจึงตัดสินใจลาออกจากงานบนเรือบรรทุกแก๊ส มาดูแลแม่วัยชราที่อาศัยอยู่ในจังหวัดพัทลุง 

“ตอนนั้นแม่ผมไม่สบาย ถ้าผมยังทำงานอยู่ในทะเลแล้วถ้าแกเป็นอะไรขึ้นมา ผมคงไม่ได้มาดูแล ท่านเป็นข้าราชการเกษียณที่กลับมาสร้างบ้าน ทำนาอยู่ที่พัทลุง อยู่กันสองตายาย การที่มีลูกกลับมาดูแล พาไปหาหมอมันอุ่นใจกว่ามาก

นอกจากพาไปหาหมอ ผมก็ดูแลเรื่องอาหารการกิน ให้แกทานอาหารดีๆ จนได้เห็นว่าบ้านเรามีของดี คือข้าวสังข์หยด แต่ตอนนั้นผมต้องไปซื้อข้าวมาต้มให้พ่อแม่กินนะ เพราะเรามีที่นาจริงแต่ให้คนอื่นเขาเช่าทำ ยอมรับว่ายังมองไม่เห็นคุณค่าของมัน และยุคนั้นก็ไม่รู้ว่าการที่เรากลับไปพัฒนาหมู่บ้านมันดียังไง” คุณคูณ เล่าย้อนให้ฟัง 

การที่แม่ของคุณคูณได้ทานข้าวสังข์หยด ทำให้รู้สึกว่าสุขภาพดีขึ้น เพราะในข้าวสังหยดมีคุณค่าทางโภชนาการ มีกากใยสูง และมีธาตุเหล็กสูง เขาจึงไม่รอช้าเอ่ยปากชวนแม่มาสร้างแบรนด์ 

“เรามาทำข้าวขายกันไหมแม่ นี่คือคำชวนของผม ผมลาออกจากงานมาเพราะแม่ ก็เอาชื่อแม่มาตั้งซะเลย ชิดคือแม่ ภิรมย์คือพ่อ รวมกันเป็นชิดภิรมย์ ผมขายข้าวสังข์หยด ข้าวเล็บนก ข้าว กข43 เจาะตลาดนิช กลุ่มคนรักสุขภาพ” 

รวมกลุ่มชาวนา ผลิตข้าวคุณภาพ

ในการสร้างแบรนด์ ด้วยที่นาของตัวเองไม่อาจเพียงพอ คุณคูณจึงรวมกลุ่มชาวนาในชุมชนเข้าด้วยกัน ในชื่อวิสาหกิจชุมชนชาวนาเมืองลุงพัฒนา เพื่อผลิตข้าวสังข์หยดที่มีคุณภาพออกจำหน่ายภายใต้สโลแกน “ข้าวปลอดภัย ใส่ใจทุกคำ”

ซึ่งการรวมชาวบ้านให้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ก็มาจากต่างคนต่างพบเจอปัญหาและวิกฤตเดียวกัน นั่นคือ เมล็ดพันธุ์ และราคา

“เราจะต้องหาเมล็ดพันธุ์ที่ดีเพื่อให้ได้ข้าวคุณภาพดี ส่วนเรื่องราคา ในพัทลุงถ้าเอาข้าวใส่ถุงมัดยางราคาขายไม่เกิน 45-50 บาท และทำออนไลน์ไม่ได้ ผมเลยสร้างแบรนด์สร้างการรับรู้ว่า ถ้าทำแบบนี้จะได้มูลค่าเพิ่ม ทำบรรจุภัณฑ์ให้ดี พ่อเฒ่าแม่แก่ถ้าใครมีลูกหลานอยู่กรุงเทพฯ ก็เอาข้าวไปแพ็กแล้วให้ลูกหลานไปขาย พอเขาเห็นคุณค่าก็จะไม่ด้อยค่าสินค้า เพราะข้าวสังข์หยดเป็นข้าว GI เป็นข้าวท้องถิ่น”

ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ เมื่อ 6 ปีก่อน คุณคูณ บอกว่า ไม่ได้มีพื้นฐานในเรื่องนี้มากนัก แต่การลงมือทำและศึกษาความรู้เพิ่มเติมด้วยตัวเอง ทำให้เขาได้รู้จักการทำตลาดและการขายออนไลน์ ที่สามารถนำมาปรับใช้ให้ชาวบ้านได้ประโยชน์จริงๆ

เปิดตลาดออนไลน์ “ไม่รู้จักแต่สนิทกันได้”

การขายในช่วงแรก คุณคูณเริ่มต้นด้วยออนไลน์ เขาเปิดเว็บไซต์ขึ้นมาโดยเฉพาะ จากนั้นขยับสู่ TikTok Shop ช่องทางการไลฟ์ขายในปัจจุบัน ที่เขามองว่าเป็นทางรอดและทางออกในยุคนี้

“ทำไมผมเลือกขายออนไลน์ ถ้าดูแผนที่บ้านผมอยู่ไกล 2 ทุ่มก็มืดแล้ว จะขายให้ใคร เราก็ทำออนไลน์ 1 ทุ่มยังขายได้ เที่ยงคืนยังขายได้ ผมมองว่า TikTok เป็นช่องทางสร้างรายได้ ผมทำคอนเทนต์ให้คนได้เห็นชีวิตกลางทุ่งนา วิดีโอแรกคือคอนเทนต์นั่งกินแกงไตปลาของแม่กับข้าว 

ใน TikTok ยิ่งเราแสดงตัวตน ทำให้คนเชื่อมั่น มั่นใจ ยิ่งทำให้ผมขายข้าวได้ พอทำได้ เงินก็เข้ามา ผมอยู่บ้านทำเกษตร แต่ผมแพ็กของส่งทุกวัน ช่วยให้ผมส่งของง่ายขึ้น ไม่ต้องรับภาระว่าค่าส่งต้องคิดไหม เพราะเขาคิดมาให้แล้ว มันง่ายสำหรับผู้ประกอบการ ผมอยากส่งต่อให้เห็นว่า TikTok เป็นทางรอด เป็นทางออกในยุคสมัยนี้

การไลฟ์ของผม ไม่มีสคริปต์ คิดอะไรได้ก็พูดออกไป ลูกค้าถามอะไรก็ตอบ ไขความกระจ่างให้เขา ลูกค้าของผมส่วนใหญ่เป็นคนกรุงเทพฯ และกลุ่มคนรักสุขภาพจริงๆ เขาชอบสั่งข้าวแบบแพ็กซีลพลาสติก มากกว่ากล่องกระดาษ เพราะมองว่าไม่เป็นขยะ 

มีลูกค้าสั่งกันประจำเป็นปีๆ จนเหมือนผูกปิ่นโตกันแล้ว ทั้งๆ ที่ไม่เคยเจอหน้า การขายออนไลน์ไม่ได้เป็นกำแพง ผมกับลูกค้าไม่รู้จักกันแต่สนิทกันได้เพราะออนไลน์ ปัจจุบันต่อเดือนผมขายแค่ 700 กิโลกรัม เท่านี้พอแล้ว ชาวบ้านมีรายได้แล้ว”

สอดคล้องกับ กรมการพัฒนาชุมชนที่มุ่งมั่นสนับสนุนผู้ประกอบการ OTOP ให้สามารถจำหน่ายสินค้าใน TikTok Shop 

คุณชยชัย แสงอินทร์ รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้ขับเคลื่อนภารกิจส่งเสริมพี่น้องประชาชนทั่วประเทศให้ผลิตสินค้า หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP โดยร่วมมือกับ TikTok Shop ส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซ 

ซึ่งเริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2566 และตั้งเป้าขยายฐานผู้ประกอบการให้เข้ามาขายสินค้าใน TikTok มากขึ้นในปี 2567 โดยได้ร่วมกันติดอาวุธผู้ประกอบการแต่ละจังหวัด ไม่ว่าจะเป็น การให้ความรู้เรื่องเทคโนโลยี การใช้เครื่องมือการขาย การไลฟ์สตรีม การสร้างคอนเทนต์ และเทคนิคกระตุ้นยอดขาย เป็นต้น 

“ผมรู้สึกดีใจที่ได้สนับสนุนผู้ประกอบการ OTOP ให้มีช่องทางการจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น เรามีผู้ประกอบการกระจายอยู่ทั่วประเทศ รัฐบาลก็พยายามส่งเสริมเพราะอยากให้พี่น้องประชาชนคนที่ลำบาก ไม่มีอาชีพ สามารถผลิตสินค้าในพื้นที่ตัวเองเพื่อนำมาจำหน่ายได้ การที่ TikTok เข้ามาช่วย ผมมั่นใจว่าจะทำให้ผู้ประกอบการของเราสามารถขายสินค้าได้เพิ่มขึ้น จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่เราพยายามรณรงค์และส่งเสริม”

มีทรัพย์กิน ไม่มีเงินก็ไม่อด 

ถึงปัจจุบัน นอกจากขายข้าวสังข์หยด ข้าวเล็บนก ข้าวไรซ์เบอร์รี และข้าว กข43 แล้ว คุณคูณยังขายผลิตภัณฑ์กลุ่มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ปลาลูกเบ้ ปลาดุกร้า ปลาส้ม เวชสำอาง น้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างรถ ถ่านลดสิวอักเสบ สบู่ และสครับจากจมูกข้าว ซึ่งได้องค์ความรู้มาจากหน่วยงานที่เข้ามาช่วยอัปสกิล

“สินค้าบางตัวผมทำมาแล้วไม่โดน ผมก็เปลี่ยน มาคิดตัวใหม่เพิ่ม ผมบอกแล้ว ผมเป็นชาวนาเมืองลุงที่พัฒนา อะไรที่ต่อยอดได้เราก็ทำ เป้าหมายในอนาคตของผมคือ ต้องมีทรัพย์กิน ในที่นี้หมายถึงความยั่งยืน ความยั่งยืนสำคัญกว่าเงินในกระเป๋า ไม่มีเงินก็ไม่อด ตื่นมาก็มีกินแล้ว

เรื่องราวของคุณคูณสะท้อนให้เห็นถึงการมองเห็นคุณค่าในทรัพยากรของบ้านเกิด ว่าจริงๆ แล้วหากหยิบยกนำมาสร้างแบรนดิ้ง ทำการตลาด และวางจำหน่ายในช่องทางที่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้า สินค้าเหล่านั้นก็จะมีมูลค่าเพิ่ม จนสามารถสร้างรายได้ให้ทั้งตัวเองและคนในชุมชน

ติดต่อเพิ่มเติม
Account ID: @sangyodrice
Shop: ชาวนาเมืองลุงพัฒนา