เผยท่าไม้ตาย ฟ้องผู้ประกอบการ อาหารไม่สะอาด มีสิ่งแปลกปลอม สิทธิที่ผู้บริโภคควรทำ

เผยท่าไม้ตาย ฟ้องผู้ประกอบการ อาหารไม่สะอาด มีสิ่งแปลกปลอม สิทธิที่ผู้บริโภคควรทำ

นั่งกินข้าวอยู่ดีๆ เจอสิ่งแปลกปลอมในอาหาร จะหัวน็อต แมลงสาบ จิ้งจก หรือแม้แต่ของเสีย ของเน่า ผู้บริโภคควรทำอย่างไร วันนี้ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ จะมาเผยท่าไม้ตายในการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการละเลยของผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นสิทธิที่ควรจะทำของผู้บริโภค

หากดำเนินการทุกอย่างแล้ว ท่าไม้ตายสุดท้ายนี้ต้องมา

เรื่องจริงของผู้ประกอบการ

แน่นอนว่าไม่มีใครอยากให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นทั้งฝั่งของผู้บริโภค และฝั่งของผู้ประกอบการ บางอย่างอาจให้อภัยกันได้ แต่บางอย่างก็มากเกินกว่าการเปลี่ยนสินค้า

จากข้อมูลของ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รายงานว่า ปี พ.ศ. 2564-2565 มีผู้บริโภคที่ได้รับความช่วยเหลือ จาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มากกว่า 1,000 กรณี และ กว่า 101 เรื่อง เป็นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับอาหาร ไม่ว่าจะเป็น สิ่งแปลกปลอม หรือสิ่งปนเปื้อนในอาหาร อาหารเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุ อาหารหมดอายุ ผลิตภัณฑ์ไม่มี อย. ฯลฯ โดยเรื่องที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดอันดับ 1 นั่นคือ สิ่งปนเปื้อนในอาหาร

แต่สิ่งสำคัญที่ยังทำให้เหตุการณ์แบบนี้ยังคงอยู่ เกิดจาก ผู้บริโภค ที่ไม่รักษาสิทธิตัวเอง บางคนบอก ช่างมันเหอะ ถือว่าฟาดเคราะห์ หรือ บ่นทางโซเชียล ก็พอ เพราะเมื่อเจอเหตุแบบนี้ก็มักละเลยในการเรียกร้องการชดเชยความเสียหาย ทำให้จนถึง ณ ปัจจุบัน ยังมีเรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า บางคนก็ทำแค่เอามาโพสต์ลงโซเชียล

สิทธิของผู้บริโภคเมื่อเจออาหารปนเปื้อน แปลกปลอม

บ่อยครั้งที่มีเหตุการณ์แบบนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการปฏิบัติ ส่วนมากมักทำแค่ กล่าวคำขอโทษ แล้วเปลี่ยน สินค้า ให้สิทธิกินฟรีอีกครั้ง แต่ในฐานะผู้บริโภค ต้องทำให้เกิดการแก้ไขเยียวยามากกว่าคำขอโทษและอาหาร 1 มื้อ 

ฉะนั้น การลุกขึ้นมาใช้สิทธิในฐานะผู้บริโภค ถือว่ายอดเยี่ยมที่สุด 

เพราะผู้ผลิตอาหารกระทำความผิดเข้าข่ายผิด กฎหมาย พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1) เรื่องอาหารไม่บริสุทธิ์โดยมีบทลงโทษอยู่ในมาตรา 58 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ซึ่งผู้บริโภคอย่างเราๆ สามารถนำบทลงโทษนี้มาเป็นฐานประกอบการคำนวณความเสียหายในการเรียกร้องให้ผู้ประกอบการเยียวยาได้ ที่สำคัญ หากไม่สามารถตกลงกันได้ก็สามารถใช้กระบวนการฟ้องร้องต่อศาล โดยใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ในการดำเนินการฟ้องได้

สิ่งที่ห้ามทำก่อนดำเนินคดีทางกฎหมาย

บ่อยครั้งผู้บริโภคเมื่อเจอเหตุดังกล่าวจะมีความกังวล แต่อยากให้ใจเย็น ห้ามเผยแพร่โดย “หลักฐานตัวจริงทั้งหมดให้เก็บไว้ที่ตนเอง *ห้ามให้หน่วยงานหรือผู้ประกอบการโดยเด็ดขาด”

ขั้นตอนดำเนินการทางกฎหมาย

1. ถ่ายรูปและเก็บตัวอย่างสินค้าไว้เป็นหลักฐาน กรณีมีใบเสร็จจากร้านค้าให้เก็บไว้เป็นหลักฐานด้วย

2. ไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย และขอใบรับรองแพทย์ พร้อมเก็บใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลไว้เป็นหลักฐาน

3. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจท้องที่ เพื่อเป็นหลักฐาน

4. โทรแจ้งศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (เบอร์โทรระบุไว้ที่ภาชนะบรรจุ) ซึ่งต้องคิดให้ดีว่า เราต้องการให้บริษัทดำเนินการอย่างไร เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาพร้อมชดเชย เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น

5. ทำหนังสือยื่นข้อเสนอกับบริษัท ด้วยการบรรยายสรุปปัญหาที่พบ โดยส่งถึงประธานกรรมการบริหารหรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า และให้ระบุความต้องการที่ชัดเจนซึ่งเป็นความเสียหายของผู้บริโภค เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า ขอเงินคืน ชดเชยค่ารักษาพยาบาล จ่ายค่าเสียเวลา ค่าขาดประโยชน์ และค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ และให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น

คดีไม่คืบต้องทำอย่างไร

1. ติดต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่เบอร์สายด่วน 1556

2. มาร้องเรียนได้ที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฟรี!!!!! 

โทร : 02-248-3737 

e-mail มาที่ [email protected] 

4/2 ซอยวัฒนโยธิน แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร, เจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ ประจำการให้คำปรึกษา-ช่วยเหลือ วันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 09.00-17.00 น.

3. เล่าเรื่องราวการดำเนินการทางกฎหมายทั้งหมดลงโซเชียล หลังจากที่ใจเย็นมานาน

หมายเหตุ การเล่าเรื่องราวทั้งหมดในโซเชียลจะมีผลตามมาในทุกด้าน ข้อมูลทุกอย่างควรตรงกับความเป็นจริงที่ผู้บริโภคได้เจอ และเก็บหลักฐานบางส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินทางกฎหมาย ไม่ควรเผยแพร่สาธารณะทั้งหมดเพราะอาจมีผลต่อทางรูปคดี

ขอบคุณข้อมูลจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค