เข้าใจเรื่อง “การลดปริมาณสินค้าแต่ราคาเดิม” กรณีศึกษาของฝากชื่อดัง “โมจิ นครสวรรค์”

เข้าใจเรื่อง “การลดปริมาณสินค้าแต่ราคาเดิม” กรณีศึกษาของฝากชื่อดัง “โมจิ นครสวรรค์”
เข้าใจเรื่อง “การลดปริมาณสินค้าแต่ราคาเดิม” กรณีศึกษาของฝากชื่อดัง “โมจิ นครสวรรค์”

เข้าใจเรื่อง “การลดปริมาณสินค้าแต่ราคาเดิม” กรณีศึกษาของฝากชื่อดัง “โมจิ นครสวรรค์”

ราวกับเป็นปัญหาโลกแตก เมื่อของฝากชื่อดัง “โมจิ นครสวรรค์” ถูกพูดถึงอีกครั้งในเรื่อง ราคาเดิมแต่ปริมาณลดลง คือการขายราคากล่องละ 35 บาท 3 กล่อง 100 แต่มีปริมาณแค่ 4 ลูก 

ซึ่งต้นเรื่องนี้มาจากกลุ่ม พวกเราคือผู้บริโภค โดยมีผู้ใช้เฟซบุ๊กท่านหนึ่งนับภาพ ขนมโมจิ มาโพสต์พร้อมแคปชันที่ว่า

“เดี๋ยวนี้โมจิของฝากจากนครสวรรค์ มีแค่ 4 ลูกแล้วหรอคะ 😅 ปล.มีคนซื้อมาฝากช่วงปีใหม่ค่ะ”

ทำเอาคอมเมนต์แตกฝั่งฝ่ายไปหลายด้าน บ้างก็ว่าเหมาะสมกับราคา บ้างก็ว่าโลกร้อนปริมาณน้อยพลาสติกเยอะ บ้างก็ว่าขนมนี้ไม่ได้ชื่อโมจิ และต่างๆ มากมาย

สิ่งที่น่าสนใจคือมีคอมเมนต์หนึ่งได้เล่าถึงตนเองในฐานะคนนครสวรรค์ว่า

“อยู่นครสวรรค์นะคะ ตอนเราเป็นเด็กเวลาจะไปบ้านญาติ ตจว. ก็จะซื้อไปฝากเขา เมื่อก่อนกล่องละ 35.- ราคา 3 กล่อง 100

ตอนเราอายุ ไม่ถึง 10 ขวบ มันมี 9 ลูก

ตอนเราอยู่มหาลัย ซื้อไปฝากเพื่อนเวลากลับ ม. มันลดลงมาเหลือ 6 ลูก แต่ราคายังเท่าเดิม

ปัจจุบัน เราอายุ 35 ราคาขนมมันก็ยังเท่าเดิม แต่จำนวนในกล่องเหลือ 4 ลูก และลูกเล็กลงมากๆ ค่ะ

ขายราคาเดิมมาเป็น สิบๆ ปี ไม่ได้ขยับราคาขึ้นตามค่าครองชีพที่สูงขึ้นมาตลอด แต่เขาใช้วิธีลดปริมาณขนมจ้า”

สรุปแล้วขนมชนิดนี้เรียกว่าอะไร มีต้นกำเนิดมาจากญี่ปุ่นจริงไหม และอะไรที่ทำให้ ปริมาณสินค้าลดลงแค่ราคาเท่าเดิม วันนี้ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ จะมาไขความลับนั้นกัน

โมจิ นครสวรรค์ ชื่อเดิมคืออะไร

“ขนมโมจิ” ชื่อดังของประเทศไทย จากจังหวัดนครสวรรค์นั้น มีชื่อเรียกจริงๆ ว่า “ขนมเปี๊ยะนมข้น” 

ซึ่งขนมโมจินี้ มีการพัฒนาสูตรจากขนมเปี๊ยะสูตรดั้งเดิม ด้วยการเพิ่มนมข้นหวาน นมสด เนย เพื่อให้เนื้อสัมผัสนุ่มมากขึ้น พร้อมกับรสชาติหวาน มัน ทำให้มีกลิ่นที่แตกต่างจากขนมเปี๊ยะทั่วไปหรือสูตรดั้งเดิม

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือ เรื่องไส้ แน่นนอนว่าขนมเปี๊ยะต้องมีไส้ ทำให้ ขนมเปี๊ยะนมข้น หรือ โมจิ มีไส้ที่หลากหลาย ทั้งไส้ถั่วแบบดั้งเดิม มะพร้าว ใบเตย ทุเรียน และไข่เค็ม เป็นต้น

โมจิ นี้ไม่ได้มาจาก ญี่ปุ่น

จากข้อมูลของ ชิษณุพงศ์ แจ่มปัญญา เรื่อง “โมจิ” ของฝากจังหวัดนครสวรรค์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ “โมจิ” จากญี่ปุ่น? เล่าว่า ขนมโมจิของจังหวัดนครสวรรค์ เป็นขนมที่ทำจากแป้งสาลี นมข้นหวาน นมสด เนย ผสมเข้าด้วยกัน และอบเป็นชั้นเปลือกนอกหรือแป้ง 

ส่วนของไส้นั้น รสชาติยอดนิยมอย่างถั่วกวนก็ผ่านกรรมวิธีการนึ่งถั่วให้สุกและยีกับตะแกรง จากนั้นก็กวนกับมะพร้าวและน้ำตาลให้เข้าที่ ปั้นให้เป็นก้อน และอบควันเทียนไว้ 1 คืน จึงนำไปห่อกับแป้งที่เตรียมไว้ เป็นอันเสร็จสิ้น โดยโมจิจะนิยมนำไปกินคู่กับน้ำชาหรือกาแฟก็เข้ากัน

ส่วน โมจิ (餠) จากญี่ปุ่น คือขนมที่ทำจากข้าวเป็นส่วนผสมหลัก โดยผ่านกรรมวิธีการตำให้เหนียวนุ่มด้วยครกไม้ หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งโมจิเป็นขนมที่รับประทานกันเนื่องในโอกาสสำคัญต่างๆ ด้วยรูปแบบและรสชาติที่หลากหลายกันไป อาทิ ในวันขึ้นปีใหม่ของประเทศญี่ปุ่น ก็จะมีประเพณีในการรับประทานซุปที่ใส่โมจิเข้าไป อย่าง โซนิ (雑煮) อีกทั้งโมจิยังต่อยอดให้เป็นขนมชนิดอื่นได้อีกด้วย อย่างเช่น ไดฟุกุ (大福) อันเป็นขนมที่เป็นโมจิสอดไส้ต่างๆ เช่น ถั่วแดง หรือ สตรอเบอร์รีก็ได้ เป็นต้น

ส่วนสาเหตุที่ชื่อว่าโมจินั้น ทางผู้ผลิตรายใหญ่ของจังหวัดนครสวรรค์นั้นเห็นว่าในจังหวัดเริ่มที่จะผลิตขนมเปี๊ยะนมข้นกันมากขึ้น จึงริเริ่มในการเปลี่ยนชื่อเป็นโมจิ และก็เป็นชื่อที่ใช้ต่อเนื่องมาในที่สุด

โมจิ การลดปริมาณสินค้าแต่ราคาเดิม “Shrinkflation” 

“Shrinkflation” มาจากคำว่า “Shrink” หมายถึงการหดตัว และ “Inflation” ที่หมายถึง “เงินเฟ้อ” สื่อความหมายถึง “การลดปริมาณสินค้าแต่ยังคงราคาเดิม” เป็นเทคนิคการขึ้นราคารูปแบบหนึ่ง เพื่อบริหารต้นทุนสูงจากภาวะเงินเฟ้อ และไม่ให้กระทบกับการจับจ่ายของผู้บริโภค

โดยเทคนิค “Shrinkflation” นี้จะใช้กับสินค้าประเภทของใช้ทั่วไป อาหาร และเครื่องดื่ม ซึ่งมีการใช้อย่างแพร่หลายและยังคงถูกใช้มาอย่างต่อเนื่อง

สิ่งที่น่าสนใจของเทคนิคนี้ที่จะถูกนำมาใช้ มี 2 ปัจจัยคือ ต้นทุนการผลิตสูง และการแข่งขันสูง แต่ในปัจจุบันทิศทางของต้นทุนการผลิตสูงสามารถมองเป็นปัจจัยหลักได้มากกว่าทั้งเรื่อง ภาษีน้ำตาลที่มีราคาสูง ราคาน้ำมันที่ดีดตัวไปมาไม่มีทีท่าจะปรับลง

นอกจากนี้ เรื่องการประกาศขึ้นราคามีส่วนสำคัญไม่แพ้กันที่จะส่งผลกระทบทางความรู้สึกกับผู้บริโภคและมีแนวโน้มมองหาสินค้าตัวอื่น ในราคาที่ถูกกว่ามาบริโภคแทนได้ 

ท้ายนี้ เทคนิค “Shrinkflation” ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายที่ไม่ใช่สินค้าควบคุม และไม่ต้องขออนุมัติจากกรมการค้าภายใน เพียงแต่เป็นสินค้าที่อยู่ในบัญชีที่ต้องติดตาม ดังนั้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส จริงใจ เพื่อให้แบรนด์ดูน่าเชื่อถือ อย่างการแจ้งปริมาณหน้ากล่อง ระบุความถูกต้องต่อผู้บริโภคให้มีความไว้ใจระยะยาว

ทางด้านผู้บริโภคเอง ต้องคำนึงถึงสินค้าบางอย่างเพื่อให้เกิดความคุ้มค่า เรื่องราคาอาจมีส่วนแต่ควรเหมาะสมกับปริมาณ เพราะในสถานการณ์เงินเฟ้อ เหตุสงคราม หรือวิกฤตโลกยังคงดำเนินอยู่ ทุกฝ่ายนับตั้งแต่ ผู้บริโภค ผู้ประกอบการเล็กใหญ่จำต้องหาทางรอดร่วมกันต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก

ศิลปวัฒนธรรม

ทำไมวะ

กรุงเทพธุรกิจ

Mission To The Moon

Stock2morrow

Brand Buffet