ลาออกจากแอร์ฯ มาขายหมั่นโถวเบอร์เกอร์ เมนูต่างชาติเลิฟ รายได้ 6 หลักต่อเดือน

ลาออกจากแอร์ฯ มาขายหมั่นโถวเบอร์เกอร์ เมนูต่างชาติเลิฟ รายได้ 6 หลักต่อเดือน
ลาออกจากแอร์ฯ มาขายหมั่นโถวเบอร์เกอร์ เมนูต่างชาติเลิฟ รายได้ 6 หลักต่อเดือน

เพราะอาชีพหลักอย่างแอร์โฮสเตสสั่นคลอนจากโรคระบาดเมื่อหลายปีก่อน ทำให้ คุณตี้-ชนัฏา ใจดี และ คุณมุก-นวพร ฤทธิชัยเสรี มองหาอาชีพเสริมทำ โดยตั้งใจว่า “อยากทำจริงจัง ไม่ใช่แค่อาชีพเสริมก๊องๆ แก๊งๆ”

นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจแรก ร้านซาลาเปา หมั่นโถวโฮมเมดสูตรบ้านแฟน ก่อนจะรู้ตัวว่าติดกระดุมผิดเม็ด เพราะผลลัพธ์ไม่เป็นอย่างที่คิด นำมาสู่การแปลงโฉมหมั่นโถวเป็นเบอร์กอร์ “Twin Burger หมั่นโถวเบอร์เกอร์เจ้าแรก” ที่ได้กลุ่มลูกค้าต่างชาติเป็นขาประจำ และสามารถสร้างรายได้หลักแสนต่อเดือน

คุณตี้-ชนัฏา ใจดี และ คุณมุก-นวพร ฤทธิชัยเสรี
คุณตี้-ชนัฏา ใจดี และ คุณมุก-นวพร ฤทธิชัยเสรี

ธุรกิจแรกของแอร์โฮสเตส

คุณตี้ อายุ 33 ปี เล่าให้ฟังว่า หลังเรียนจบเธอได้เข้าทำงานเป็นแอร์โฮสเตสทันที เพราะรู้สึกว่าอาชีพนี้มีรายได้เยอะ ประกอบกับครอบครัวเป็นข้าราชการอยากให้ลูกหลานทำอาชีพมั่นคง ซึ่งสายการบินก็ค่อนข้างมั่นคงในขณะนั้น

เธอทำงานนี้มาร่วม 10 ปี ไต่ระดับเส้นทางอาชีพมาตั้งแต่หัวหน้าสายการบิน และเป็นครู รายได้ถือว่าค่อนข้างสูงเกือบแสนบาท แต่เมื่อโควิดระบาด อาชีพนี้ถือเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบ ถึงขนาดเคยได้รับเงินเดือน 8,000 บาท

นั่นจึงทำให้หลายคนได้เห็นแอร์ฯ หันมาทำอาชีพเสริมขายของกันยกใหญ่ และเธอก็เป็นหนึ่งในนั้น

“บ้านของมุกมีสูตรซาลาเปาของครอบครัว เมื่อ 2 ปีที่แล้วรู้สึกว่า ซาลาเปาทุกคนกินได้ทุกวัน ราคาไม่ได้แพงมาก 28 บาท คิดว่าน่าจะขายได้ ขายง่ายทุกวัน ใช้ชื่อแบรนด์ว่า เปาจึ ทำขายที่บ้าน และให้ดีลิเวอรีมารับ พอเริ่มดี เลยออกไปเปิดคีออสหน้าโลตัส เอ็กซ์เพรส แถวพระราม 2 ตอนนั้นขายดี เพราะห้างปิด คนต้องเข้าโลตัสนี้ก็จะเห็นร้านเรา

แต่ผ่านไปสักพัก มันไม่ได้แล้ว เราทำครัวที่บ้าน แล้วเราใช้แรงงานพ่อกับแม่ของมุกด้วย ถ้าเราอยากเติบโตเราต้องแยกออกมาเปิดร้าน จ้างพนักงานจริงๆ จังๆ ก็ตระเวนหาทำเลตึกแถวกัน จนได้มาเปิดร้านที่บางรัก” คุณตี้ เล่าให้ฟัง

Twin Burger หมั่นโถวเบอร์เกอร์เจ้าแรก
Twin Burger หมั่นโถวเบอร์เกอร์เจ้าแรก

เปลี่ยนชื่อ แปลงโฉมโปรดักต์

แต่เปิดร้านได้ ใช่ว่าจะสวยหรู มีปัญหาตามมามากมาย ด้วยทำงาน 2 อย่างพร้อมกัน ทั้งแอร์ฯ และเจ้าของธุรกิจ รวมทั้งยังมองกลุ่มลูกค้าของร้านไม่ออกว่าคือใคร และในราคา 28 บาท ถือว่าแพง หากเทียบกับกำลังซื้อของคนในชุมชนย่านบางรัก ที่รับได้ในราคา 15 บาท

“เรามานั่งคุยกับแฟน ต้องเปลี่ยนโปรดักต์ เพราะขนาดทำไส้แปลกใหม่ก็ยังไม่ได้ เลยเอาแป้งสูตรบ้านแฟนที่มีความนุ่ม หนึบ ฟู มาทำรูปแบบใหม่

เป็นก้อนกลมๆ ผ่าครึ่ง เอาไปนึ่ง เซียร์กับเนย รสสัมผัสที่เอาเข้าปาก จะมีความนุ่ม หอม กรอบ ทำไส้ต่างๆ ตอนเช้าๆ ลูกค้าอยากกินอะไร พวกไข่คน เบคอน ราดซอส มันออกมาคล้ายแฮมเบอร์เกอร์ งั้นเปลี่ยนชื่อร้านเลย

ปรึกษากับเพื่อนที่ทำธุรกิจ เขาบอกมันยาก เสียดาย แต่เรากับแฟนมองว่าติดกระดุมเม็ดแรกผิดแล้ว ไม่อยากไปต่อ ชื่อเปาจึ อ่านยาก ก็เปลี่ยนเป็น Twin Burger อยากให้จำง่าย ฟังครั้งเดียวรู้เรื่อง และ Twin ก็มาจากเจ้าของที่เป็นแฟนกัน ทำร้านมาด้วยกัน”

Twin Burger หมั่นโถวเบอร์เกอร์เจ้าแรก
Twin Burger หมั่นโถวเบอร์เกอร์เจ้าแรก

เพิ่มมูลค่า เป็นเมนูใหม่

ความแตกต่าง เมื่อนำหมั่นโถวมาใช้แทนขนมปัง คุณตี้ บอกว่า ไม่เหมือนร้านไหนแน่นอน รสสัมผัสมีทั้งความนุ่ม และกรอบ ที่สำคัญ เมื่อทิ้งไว้แป้งจะไม่แห้ง สิ่งนี้มาจากคำบอกเล่าของลูกค้าทั้งสิ้น

และถึงแม้จะมั่นใจในรสชาติ แต่การทำให้ลูกค้าเปิดใจรับเมนูใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย คุณตี้ใช้เวลา 2 เดือน ในการสร้างการรับรู้ ผ่านการทำคอนเทนต์ TikTok ทั้งช่องส่วนตัว ช่องของร้าน รวมถึงแนะนำลูกค้าหน้าร้าน เพื่อกระตุ้นการสั่งซื้อ ทำให้ได้ลูกค้าหน้าร้าน และออนไลน์สั่งดีลิเวอรี และจัดแคเทอริง

ในส่วนของราคา จากตอนแรกที่ขายซาลาเปา ลูกละ 28 บาท เมื่อทำหมั่นโถวเบอร์เกอร์ ที่มีการเพิ่มมูลค่าทั้งตัวเมนูและแพ็กเกจจิ้ง คุณตี้จึงตั้งราคาเริ่มต้นที่ 129 บาท

“คิดเหมือนกันจะมีคนซื้อไหมวะ เราให้เหตุผลกับลูกค้าว่าเราเปลี่ยนดีไซน์ใหม่ แพ็กเกจจิ้งใหม่ จากที่อยู่ในตลาดนี้มาสักพัก พฤติกรรมผู้บริโภคจะซื้อของที่อารมณ์เป็นหลักด้วย ซื้อมาแล้วต้องได้อะไรสักอย่าง เช่น ถ่ายรูปลงสตอรี่ ถ้างั้นเราต้องจัดให้สวย ถ้าเราจะขายจากเดิม 28 บาท อัปไป 129 บาท แพ็กเกจจิ้งต้องสวย วัตถุดิบต้องมีคุณภาพ

ตอนนี้มี 10 ไส้ อย่างอาหารเช้า ไส้ไข่คนเบคอนราดซอสมาโย ที่คิดเองก็กุ้งผัดเนยราดซอสสไปซีมาโย รสเปรี้ยวนิดๆ ไม่เผ็ดมาก หมั่นโถวมี 6 รสชาติ ลูกค้าเลือกได้ คอนเซ็ปต์คล้าย Subway ก็จะมี เพลน ฟักทอง มันม่วง แคร์รอต ใบเตย งาดำ เป็นโฮมเมด ทำเองทุกลูก

ลูกค้าส่วนมากเป็นต่างชาติ พวกแคนาดา เยอรมัน จีน ซื้อกันทีละ 2 ชิ้นเลย ต่อวันขายได้ประมาณ 50 ชิ้น รายได้หลักเข้ามาประมาณ 6 หลักต่อเดือน ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายนะ ตอนนี้อยู่ได้ เรามองว่ามันไปได้มากกว่านี้ เลยจะไปเปิดสาขาใหม่และทำให้ดีกว่านี้” คุณตี้ แชร์ให้ฟัง

ร้าน Twin Burger หมั่นโถวเบอร์เกอร์เจ้าแรก
ร้าน Twin Burger หมั่นโถวเบอร์เกอร์เจ้าแรก

เป็นเจ้าของธุรกิจเต็มตัว

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคุณตี้ลาออกจากอาชีพแอร์ฯ มาเป็นเจ้าของธุรกิจอย่างเต็มตัว หลังเปลี่ยนแบรนด์เป็น Twin Burger ได้ 2 เดือน

“ที่บ้านเป็นข้าราชการ เขาไม่สนับสนุนให้ทำธุรกิจเลย พอบอกว่าจะทำธุรกิจกับแฟน เขาก็ตกใจ เราไปขอกู้ธนาคารไหนก็ไม่ให้ ด้วยสถานการณ์ตอนนั้นเครดิตไม่ได้ เลยต้องไปเอาเงินจากกองทุนสำรองที่สะสมไว้ มาลงทุนก้อนแรก และทางบ้านแฟนก็ช่วยสนับสนุนหลายๆ อย่าง ก็คือร้านเปาจึ แล้วถึงต่อยอดมาเป็น Twin Burger

การทำงาน 2 อาชีพต่างกันมาก ถามว่าเหนื่อยเท่าแอร์ฯ ไหม ไม่เท่า บินลงมาทีสลบได้เลย งานร้านอาหารจะหนักเรื่องการบริหารเงิน บริหารงาน บริหารคน และเป็นอิสระมากขึ้น บริหารเวลาชีวิตได้ดีกว่า ตอนนี้ก็เข้าร้านทุกวัน และมีออกบูธด้วย มองว่าเป็นการตลาดอย่างหนึ่ง ให้คนรู้จักเรามากขึ้น สนุก รายได้ก็เข้ามาเยอะ

สิ่งที่ได้เรียนรู้ เราต้องเปลี่ยนให้ทัน อย่าไปยึดติด เรายอมทิ้งชื่อเก่าด้วยซ้ำ อะไรที่ถึงจุดหนึ่งต้องเปลี่ยน ก็เปลี่ยนได้เลย ตั้งชื่อให้กลางๆ จะได้ขยับได้ เราได้รับฟีดแบ็ก เราเอามาปรับปรุงให้ดีขึ้น” คุณตี้ ทิ้งท้าย

ร้าน Twin Burger หมั่นโถวเบอร์เกอร์เจ้าแรก ออกบูธ
ร้าน Twin Burger หมั่นโถวเบอร์เกอร์เจ้าแรก ออกบูธ