โลกเราเหงาขึ้นทุกวัน ผู้ประกอบการ เข็น “ไอเทมเพื่อคนโสด” ออกมาเพียบ

โลกเราเหงาขึ้นทุกวัน ผู้ประกอบการ เข็น “ไอเทมเพื่อคนโสด” ออกมาเพียบ

หลายประเทศกำลังเข้าสู่ภาวะครัวเรือนที่มีสมาชิกคนเดียว ทำให้สินค้าและบริการที่ตอบสนองคนกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น รวมถึงแอปพลิเคชันที่ช่วยให้การใช้ชีวิตตัวคนเดียวเป็นเรื่องสะดวก

ในเกาหลีใต้มีครัวเรือนที่มีสมาชิกคนเดียวคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของครัวเรือนทั้งหมด หลายบริษัทพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับเป็นผู้ช่วยเหล่าคนโสดหรือผู้ที่ใช้ชีวิตตามลำพัง

“โคเรีย เฮรัลด์” รวบรวมแอปพลิเคชันที่ผู้มีไลฟ์สไตล์เดี่ยวต้องห้ามพลาด รวมถึง The King of Honjok ที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้ใช้มีพฤติกรรมการดูแลบ้านที่ดี

โดยสามารถกำหนดตารางสิ่งที่ต้องทำในแต่ละสัปดาห์ อาทิ ตื่นนอนให้เร็วขึ้น กินมื้อค่ำก่อน 20.00 น. ทำความสะอาดบ้านอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงเก็บออมเงิน และใช้ชีวิตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ทุกๆ ภารกิจที่ผู้ใช้งานทำสำเร็จ ผู้พัฒนาแอปจะบริจาคเงินให้กับองค์กรการกุศล และแอปนี้ยังมีข้อมูลและเคล็ดลับดีๆ สำหรับผู้ที่มีไลฟ์สไตล์เพียงลำพัง

อีกแอปที่เติบโตอย่างมากตั้งแต่วิกฤตโควิด คือ Half of Thing เป็นแอปที่ช่วยลดรายจ่ายค่าส่งอาหาร โดยสามารถแชร์กับเพื่อนๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกัน รวมถึงนัดรับของและจ่ายเงินให้คนที่เป็นตัวแทนสั่ง

แรกเริ่มแอป Half of Thing ออกแบบมาสำหรับครัวเรือนที่มีสมาชิกคนเดียว แต่กลับค้นพบกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น นั่นคือ นักศึกษาในหอพัก

ประเมินว่า ตลาดดีลิเวอรีอาหารในเกาหลีใต้มีมูลค่าราว 25.7 ล้านล้านวอน ในปี 2564 เพิ่มขึ้น 165% จาก 9.7 ล้านล้านวอน ในปี 2562 ซึ่งหลักๆ เป็นผลมาจากวิกฤตโควิด และการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้ค่าบริการและมูลค่าขั้นต่ำในการสั่งอาหารสูงขึ้น

Zim Car เป็นอีกแอปพลิเคชันที่สามารถช่วยเหลือในการขนย้ายโต๊ะหรือเตียงหนักๆ และมีทางเลือก อาทิ ต้องการห่อสิ่งที่จะขนย้ายด้วยตัวเองหรือไม่ หรืออยากให้พนักงานขนย้ายมาช่วย

หุ่นยนต์สำหรับคนโสด

ส่วนที่ญี่ปุ่น บรรดาคนที่อยู่ลำพังอาจต้องซื้อหุ่นยนต์มาเป็นเพื่อนแก้เหงา และเป็นผู้ช่วยด้านต่างๆ เช่น พยากรณ์อากาศ บอกเวลา และร้องเพลง

คาดว่า ภายในปี 2583 เกือบ 40% ของครัวเรือนในญี่ปุ่นจะเป็นครัวเรือนที่มีสมาชิกเพียงคนเดียว และการรับมือกับความเหงาหรือความโดดเดี่ยว ก็ต้องพึ่งพาหุ่นยนต์

บริษัท Mixi พัฒนาหุ่นยนต์ชื่อ Romi ที่ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่สามารถทำหน้าที่ต่างๆ ข้างต้นได้

Romi ยังจับมือกับคาแร็กเตอร์ Hello Kitty ของค่ายซานริโอ เพื่อฉลองครบรอบ 50 ปี ในปี 2567 เปิดตัว Romi เวอร์ชันลิมิเต็ดเอดิชัน ที่ออกแบบมาในธีม Hello Kitty และมีเพลงเฉพาะด้วย

แต่ Romi เวอร์ชัน Hello Kitty จะต้องสั่งพรีออร์เดอร์เพียง 150 ตัว ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อ 1 พ.ย. สนนราคาอยู่ที่ 88,000 เยน

 

ที่มาภาพ

https://univibes.org/blog/households-korea/

https://japantoday.com/category/features/new-products/feeling-lonely-romi-might-help

 

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566