จากคนเกลียดแมว สู่นักอนุรักษ์แมวไทยโบราณ เสริมโชคลาภ สร้างรายได้ตัวละ 7 พัน

จากคนเกลียดแมว สู่นักอนุรักษ์แมวไทยโบราณ เสริมโชคลาภ สร้างรายได้ตัวละ 7 พัน

ทุกคนรู้จักแมวไทยโบราณกันบ้างไหม 

รู้ไหมว่าประเทศไทยก็มีแมวไทยโบราณอยู่เหมือนกันนะ แมวนอกบางตัวยังเป็นลูกครึ่งไทยอีกด้วย แล้วนอกจากการเลี้ยงแมวเฉยๆ อยู่บ้านก็กลายเป็นธุรกิจ และอาชีพได้ วันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับ คุณลุงปรีชา วัฒนา จากคนที่เคยเกลียดแมว สู่ผู้อนุรักษ์แมวไทยโบราณ โดยปัจจุบันคุณลุงอนุรักษ์แมวไทยโบราณที่เหลืออยู่ 5 สายพันธุ์จาก 17 สายพันธุ์แมวมงคลโบราณตามตำราแมวไทย

คุณลุงปรีชา วัฒนา จากคนที่เคยเกลียดแมว สู่ผู้อนุรักษ์แมวไทยโบราณ

เกลียดอะไรมักได้อย่างนั้น 

ก่อนที่จะมาเป็นนักอนุรักษ์แมวไทยโบราณ คุณลุงเคยเป็นผู้จัดการจัดซื้อของภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นแห่งหนึ่งมาก่อน ซึ่งคุณลุงปรีชาอยู่ในวงการอาหารญี่ปุ่นมาหลายปี ทำมาเรื่อยๆ จนเกษียณอายุทำงานในวัย 55 ปี

หลังจากเกษียณเจอกับแมวจรตัวหนึ่งเดินผ่านไปผ่านมาอยู่ระหว่างรั้วบ้าน

“ผมเกลียดแมวมาก ไม่ชอบ ไม่เคยคิดที่จะเลี้ยงแมวเลยด้วยซ้ำ เห็นแมวตัวนี้เดินผ่านบ้านทุกวันก็เอาน้ำสาดไล่ ว่าตลอดอย่ามาบ้านนี้” แต่ก็ไม่ได้ผลแมวมันก็ยังไปๆ มาๆ จนเวลาผ่านไปนาน 2 เดือน

วันหนึ่งคุณลุงเดินออกมาจากห้องน้ำ แมวตัวที่เคยไล่อยู่ทุกวันก็มาล้มตัวนอนที่เท้าทั้งอ้อนคลอเคลียไม่ไปไหน ทำให้เริ่มใจอ่อนถามแมวไปว่า 

“เราจะอยู่บ้านนี้ด้วยกันไหม” วันนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณลุงเริ่มเลี้ยงแมว

แมวไทย หรือ แมวฝรั่ง

การเริ่มหันมาเลี้ยงแมวไทยโบราณเกิดหลังจากที่แมวตัวแรกตายไปจากอุบัติเหตุ

“คิดอยากจะเริ่มเลี้ยงแมวเป็นของตัวเอง คิดว่าจะเลี้ยงแมวฝรั่งหรือแมวไทยดี เลยตัดสินใจเลี้ยงแมวไทย ที่เลือกเลี้ยงแมวไทยเพราะว่าก่อนหน้าที่จะมาอยู่ในกรุงเทพฯ ผมยังอยู่ต่างจังหวัด เลี้ยงหมาไทยหลังอานมาก่อน เพราะฉะนั้น มันจะเกี่ยวโยงกันถึงว่าทําไมผมถึงเลือกเลี้ยงแมวไทย เพราะมันมีความรักในความเป็นไทยนะ ว่ากันอย่างนั้นเนอะ”

หลังจากนั้นก็ศึกษาเกี่ยวกับแมวไทยโบราณและได้รู้ว่าตอนนี้เหลือแมวโบราณเพียง 5 สายพันธุ์ คือ แมววิเชียรมาศ แมวโกนจา แมวโคราชหรือสีสวาด และแมวศุภลักษณ์ ที่อยู่ในตำราแมวมงคลโบราณ แมวขาวมณีที่ถูกเจอในยุครัตนโกสินทร์ 

โดยศึกษาข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต และตําราการดูลักษณะแมวไทยของวัดอนงค์ เริ่มต้นจากตำราวัดอนงค์เป็นสิ่งที่ยึดหลักศึกษาเกี่ยวกับแมวไทยโบราณมาโดยตลอดว่ามีกี่สายพันธุ์ มีสายพันธุ์อะไรบ้าง ลักษณะที่ถูกต้องเป็นอย่างไร 

“หลังจากที่ศึกษาอย่างจริงจัง ก็เริ่มตระเวนหาแมวไทยโบราณที่มีลักษณะตรงตามตำรามากขึ้นเรื่อยๆ จากมี 1 ก็เริ่มมีเพิ่มมาถึง 5 สายพันธุ์ กว่าที่จะรวบรวมแมวไทยโบราณมาได้ถูกต้องและสมบูรณ์ขนาดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเมื่อหลายปีก่อนมีแมวศุภลักษณ์ที่หลายคนคิดว่าหาย สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยแล้วแต่ก็ได้เพาะพันธุ์แมวศุภลักษณ์ให้กลับมามีมากขึ้นและเป็นที่รู้จักอีกครั้ง”

เพราะลงมือทำถึงได้รู้จักความสำเร็จ

ด้วยความบังเอิญ มีคนนำแมวศุภลักษณ์มาให้คุณลุงปรีชา เป็นชาวอเมริกันชื่อโนแลนด์ ที่มาศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นคนที่รู้จักแมวไทยดีมากอีกคนหนึ่ง

เขามีแมวศุภลักษณ์อยู่ตัวหนึ่ง ชื่ออโยธยา เป็นเพศผู้ พยายามหาคนที่จะผสมให้ได้ลูกแมวศุภลักษณ์ ตรงตามสายพันธุ์ที่ถูกต้อง คือต้องมีสีขนทองแดงเสมอกันทั้งตัว ตาสีเหลือง อุ้งเท้าสีน้ำตาลอมส้ม ขนสั้น หางเรียวแหลม 

“คุณโนแลนด์พยายามลองแล้วก็ยังไม่สำเร็จ จนมาถึงมือของผมในช่วงแรกที่ได้รับอโยธยามาก็มีการหาแม่พันธุ์จากแมวที่คิดว่าคล้ายศุภลักษณ์มาผสม 5 แม่ เรียกว่าตอนนั้นไม่มีหลักในการผสมพันธุ์แมวเลย ลูกออกมาเป็นสีดำทั้งหมด”

“แต่ผมก็ไม่ละทิ้งความพยายามจนไปได้แมวเพศเมียจากบ้านคุณสุพัฒน์ ที่อยู่ในวงการคนเลี้ยงแมว ผมก็ได้ขอซื้อต่อมาและนำมาผสมพันธุ์กับอโยธยา ในครั้งนั้นถือว่าประสบความสำเร็จได้ลูกแมวที่เหมือนกับอโยธยาที่เป็นแมวศุภลักษณ์ทั้งหมด 4 ตัวทำให้ได้รู้ว่าควรเลือกแมวยังไงให้ผสมออกมาตรงตามสายพันธุ์ที่ถูกต้อง”

ผ่านเข้าปีที่สองของการเพาะพันธุ์แมวศุภลักษณ์ เริ่มเข้าที่เข้าทางมากขึ้น ก็ได้รู้จักกับ ดร.จันทร์จิรา ภวภูตานนท์ เป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กําแพงแสน ทำเกี่ยวกับการตรวจเลือดเพื่อให้รู้ว่าแมวตัวนี้มี DNA อย่างไร ซึ่งก่อนหน้าที่จะมาเจอ ดร.จันทร์จิรา 

“ผมใช้วิธีคือการส่งเนื้อเยื่อกระพุ้งแก้มไปที่อเมริกา ในการตรวจสอบ DNA ซึ่งมันมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และใช้เวลานาน หลังจากนั้นได้ปรึกษากันและได้รับความร่วมมือในการทําเรื่องแมวไทยโบราณ ช่วยให้จับประเด็นว่าผสมแบบไหนถึงจะได้แมวศุภลักษณ์ พอมีเรื่องของวิทยาศาสตร์เข้ามาร่วมด้วยก็ทำให้เพิ่มจำนวนแมวศุภลักษณ์ได้ง่ายขึ้น และอนุรักษ์เอาไว้ได้” 

แมวไทยเอกลักษณ์ไกลถึงต่างแดน

เอกลักษณ์ของแมวไทยจะมีสันจมูก ตารี ขนสั้น แมวฝรั่งสันจมูกหาย ตากลม ต่างจากแมวไทยสันจมูกโด่ง ตาเหมือนผลอัลมอนด์ เฉี่ยวๆ มีหางที่ยาวและปลายแหลมเหมือนดินสอเหลาแหลมถึงจะถือว่าสมบูรณ์

ปัจจุบันมีแมวนอกหลายตัวที่ได้เชื้อจากสายพันธุ์แมวไทย แมวที่ถูกนำไปผสมมากที่สุดจะเป็นแมววิเชียรมาศ ที่มียีนเด่นไม่ว่าจะไปผสมกับแมวพันธุ์ไหนก็ยังคง 9 จุดเข้มไว้เสมอคือที่ หู 2 ข้าง ขา 4 ข้าง จมูก 1 จุด หาง 1 จุด และอวัยวะเพศ 1 จุด 

ยกตัวอย่างแมวนอกที่มีเชื้อแมวไทย แมวหิมาลายัน (Himalayan Persian) แมววิเชียรมาศ ผสมกับ แมวเปอร์เซีย ทำให้มีรูปร่างหน้าตาเหมือนแมวเปอร์เซีย แต่มี 9 จุดเข้มเหมือนแมววิเชียรมาศ 

และอีกหนึ่งสายพันธุ์อย่าง ไซมิสแคท (Siamese Cat) ที่ต่างชาติปรับปรุงสายพันธุ์แมววิเชียรมาศใหม่ให้มีรูปร่างลำตัวที่ตัวยาว ขายาวมากขึ้น แต่ยังคงความมีสันดั้ง และตารูปอัลมอนด์คล้ายแมวไทยไว้ พร้อมกับจุดเข้ม 9 จุด

รางวัลที่ภูมิใจที่สุดและเป็นรางวัลสุดท้ายในการประกวด

แมวไทยมีความสวยงามและมีเอกลักษณ์แน่นอนที่จะพาน้องประกวด โดยนำแมวในฟาร์มพาไปประกวดได้รางวัลมากมาย 

“แต่รางวัลที่ผมภาคภูมิใจที่สุดคือถ้วยรางวัลพระราชทานที่มีพระปรมาภิไธยสลักว่า ภปร. (ถ้วยพระราชทานของในหลวงรัชกาลที่ 9) และเป็นใบสุดท้าย ถือว่าเป็นถ้วยใหญ่ประจําปีของการประกวดแมวผมได้ถ้วยนั้นมา หลังจากนั้นผมก็หยุดเดินสายการประกวดแมวสวยงาม”

ความรัก และ ผลประโยชน์ รวมกันเป็นรายได้

จากจุดเริ่มต้นเพาะพันธุ์แมวไทยโบราณขาย เกิดจากการที่ลุงเรียนการทำเว็บไซต์ขายของบนโลกออนไลน์ ซึ่งตอนนั้นยังไม่เป็นที่นิยมเท่าทุกวันนี้ ลุงก็คิดว่าการขายของออนไลน์ว่ามันจะเป็นไปได้เหรอ ไม่มีหน้าร้านขายของมันจะได้จริงๆ ใช่ไหม

“ด้วยความอยากลองก็ได้ลองเปิดขายทรายแมวผ่านบนโลกออนไลน์ แล้วขายได้ ทำให้เริ่มเกิดความคิดถ้าทรายแมวขายได้ แล้วทำไมลูกแมวจะขายไม่ได้ หลังจากนั้นก็เริ่มเพาะแมวขายด้วย เริ่มเกิดรายได้ เราไม่ต้องไปไหน ก็มีธุรกิจได้ แถมยังได้อยู่บ้านกับแมว ใช้เวลากับครอบครัว ในเมื่อขายได้แล้วก็ได้เริ่มอยากเพิ่มจำนวนแมวไทยโบราณพันธุ์อื่นๆ ด้วยเพราะแมวไทยไม่ได้มีแค่สายพันธุ์เดียว” 

“พอได้เริ่มทำอย่างจริงจังก็ไม่คิดว่าจะล้มเลิก เรื่องมันเกิดเพราะความรัก พอความรักมันมีผลประโยชน์ตามมา ในเมื่อมันรวมกันแล้ว มันก็ทำให้รักที่จะทำสิ่งนี้ แล้วยังเป็นอาชีพหลังเกษียณได้อย่างดี โดยที่ไม่ต้องไปสู้ไปแข่งขันกับใครมาก เพราะในตลาดแมวโบราณก็มีไม่มากอยู่แล้ว ทำให้เป็นที่ต้องการอยู่เสมอ”

แม้ในวิกฤตของโรคระบาดโควิด-19 อาชีพอื่นๆ ได้รับผลกระทบหมด แต่ฟาร์มแมวไม่ได้รับผลกระทบเลย ความต้องการในตลาดแมวคงที่อยู่ในระดับหนึ่ง ด้วยความที่คนอยู่บ้านด้วยอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเลี้ยงแมวกัน เรียกได้ว่าความต้องการของตลาดซื้อขายแมวเสมอต้นเสมอปลาย

“รายได้ที่เกิดจากการอนุรักษ์ และเพาะพันธุ์แมวไทยโบราณขาย ถ้าคำนวณเป็นเลขกลมๆ อย่างเดือนหนึ่งแมวพร้อม 10 ตัว ตัวละ 7,000 ก็สร้างรายได้แล้ว 70,000 บาท ถือว่าได้รายได้ดีสามารถเลี้ยงแมวทั้งหมด และชีวิตวัยเกษียณได้สบายๆ ถ้าเรารู้จักพอเพียงตามที่ในหลวงท่านเคยสอน เพราะอายุมากแล้วกินอะไรมากไม่ได้ ความอยากได้อยากมีก็ลดลง”

อยากเลี้ยงแมวอย่าตัดสินใจคนเดียว ถามคนข้างกายหรือยัง

เราได้สอบถามคุณลุงว่าในการขายแมวเลือกคนซื้อไหม

“ผมไม่เลือกบ้านนะเพราะคนที่จะเอาเงิน 6,000-15,000 บาทมาให้เรามาแลกกับแมวตัวหนึ่งเขาคงไม่เอาแมวไปทิ้งไปขว้างแน่ๆ แต่จะให้ข้อคิดกับคนที่จะมาซื้อเสมอว่าคุณได้ปรึกษาคนข้างตัวคุณแล้วหรือยัง อย่าตัดสินใจเพียงแค่ตัวคุณคนเดียว เพราะถ้าเขาไม่เห็นด้วยคุณล้มเลิกความคิดที่จะเอาแมวไปเลี้ยงเลย 

เพราะวันหนึ่งถ้าคุณทะเลาะกันขึ้นมา ปัญหามันจะมาตกอยู่ที่แมว แมวหากินเองไม่ได้ อึแล้วก็เอาไปทิ้งเองไม่ได้ อาหารเราต้องหาให้แมวกิน และต้องเก็บอึแมวทุกวัน ถ้าวันหนึ่งคุณทำไม่ได้ แล้วใครจะมาทำให้ คนที่มารับแมวไปเลี้ยงต้องมั่นใจ และต้องปรึกษาคนข้างตัวให้มากที่สุด”

ปัจจุบันมีแมวทั้งหมด 80 กว่าตัว แมวทุกตัวเกิดที่บ้าน ถ้าไม่ถูกขายออกไปก็จะใช้ชีวิตและตายอยู่ที่บ้าน ไม่ว่าแมวจะแก่ จะอายุแค่ไหน ก็เลี้ยงจนตลอดชีวิตของแมว ไม่ได้มองแค่ว่าแมวหมดประโยชน์แล้วเอาเขาทิ้งไป แมวทุกตัวคือสมาชิกคนที่อยู่ด้วยกันมานาน ไม่ว่าจะเป็นแมวเด็ก พ่อแมว แม่แมว แมวปลดระวางที่อายุมากแล้ว ก็จะดูแลไปเรื่อยๆ ซึ่งจำนวนแมวก็จะขึ้นๆ ลงๆ ตามการทยอยออกย้ายบ้านไป

คำแนะนำที่ทำให้คิด

ถ้าใครคิดที่อยากจะทำฟาร์มแมว ไม่ว่าจะทั้งอนุรักษ์หรือเลี้ยงเพื่อเพาะพันธุ์ขายควรต้องคำนึงถึงอะไร

“ถ้าใครมีความคิดที่อยากทำฟาร์มแมว หรือมีแมวไทยโบราณอยู่ที่บ้านให้ลองเริ่มปรึกษาพูดคุยคนข้างตัวก่อนที่จะเริ่มทำฟาร์มแมว ต้องให้ความสําคัญกับคนข้างตัวเป็นอันดับแรกไม่ว่าจะเลี้ยงแมวเลี้ยงเพราะรัก เลี้ยงเพราะต้องการอนุรักษ์ ถ้าเขาไม่เห็นด้วยคุณอย่าทําเพราะในการดูแลแมวมันมีอะไรหลายอย่าง 

เรื่องพื้นที่ ค่าใช้จ่าย ความสะอาด หรือกลิ่น เสียงของแมวก็ต้องคำนึงด้วย เพราะถ้าวันหนึ่งมีปัญหาไม่ว่าจะกับคนใกล้ตัว หรือเพื่อนบ้าน ปัญหามันมาตกอยู่ที่กับแมว และจะต้องมีวินัยในการทำงานนี้การเพาะพันธุ์เพื่ออนุรักษ์จะต้องจับคู่ผสมพันธุ์เท่านั้น ไม่ให้ผสมข้ามสายพันธุ์เด็ดขาด เพื่อให้คงสายพันธุ์ที่สมบูรณ์ไว้ได้ตลอดไป”

อ่านจนจบแล้วมีใครสนใจอยากเลี้ยงแมวไทยกันบ้างหรือเปล่า ถ้าสนใจสามารถติดต่อหาคุณลุงปรีชา วัฒนา ได้ ตามช่องทางข้างล่างเลย

Page Facebook : แมวไทย.com แมววิเชียรมาศ แมวโคราช แมวขาวมณี แมวศุภลักษณ์

สถานที่ 87 ซอยเติมทรัพย์ ถนนนเรศ แขวงสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพฯ

เผยแพร่แล้วเมื่อ: 13 ตุลาคม 2566