เผยแพร่ |
---|
แม่ตา แม่ครัวตัวดี แม่พระผู้ชอบแจกสูตร ยินดีบอกหมดเปลือก ให้คนเอาไปสร้าง
“คนที่เอาเมนูของแม่ไปสร้างอาชีพ บอกเลยว่ายินดีมาก เพราะที่ให้ไปคือบอกหมด ตั้งแต่วัตถุดิบต้องเลือกอะไรดี อะไรใช้แบบไหน แม่บอกหมด เพราะทุกอย่างออกมาจากประสบการณ์”
เราเป็นคนหนึ่งที่ดู แม่ตา หรือ เชฟตุ๊กตา-สุพัตรา สารสิทธิ์ ที่หลายคนรู้จัก มาตั้งแต่ช่วงโควิดเล่นงาน ใครจะรู้ว่าจากเด็กแค่หั่นพริกยังบาดมือ สู่ผู้เชี่ยวชาญซอยใบมะกรูดละเอียดยิบ (อย่างน้อยๆ ก็ช่วงหนึ่งสั้นๆ ฮ่าๆ) และคิดอยากจะเปิดร้านอาหารเป็นของตัวเอง
สิ่งที่แม่ตามอบให้ไม่ใช่แค่สูตรอาหารเพื่อทำกินในบ้าน แต่เหมือนกับแม่พระให้กับเหล่าพ่อค้าแม่ค้าตัวเล็กๆ กลับมาลืมตาอ้าปากให้ชีวิตมีจุดยืนได้ดีกว่าเดิม
แม่ตา แม่ครัวตัวดี
แม่ตา เล่าว่า ชีวิตเริ่มต้นการทำอาหารนั้นมาจากแม่ของเธอเป็นคนสั่งให้ไปเก็บวัตถุดิบแถวบ้าน ทั้งใช้ไปเก็บใบมะรุม ใบมะขาม หรือแม้กระทั่งวัตถุดิบอื่นๆ ในพื้นที่ ไม่เพียงแค่นั้น ด้วยสัญชาตญาณต่ออาหารก็ทำให้ตัวแม่ตาเองก็เลือกจะลองวัตถุดิบอื่นๆ ด้วยการชิม
“เวลาแม่ไปไหนมาไหนก็จะตื่นเต้นเวลาเห็นวัตถุดิบแปลกๆ เราก็จะเอาของเราไปแลกแล้วขอเขามา บางทีก็นั่งสังเกตนกว่ามันกินอะไรบ้างแล้วก็ตามไปชิมว่ารสชาติเป็นแบบไหน”
“อะไรที่นกมันกินได้เราก็ไม่ตาย”
แม้ว่าหลายคนจะเรียกแม่ตาว่าเชฟตุ๊กตา แต่ในความเป็นจริงเธอกลับนิยามตัวเองว่าเป็นแค่ แม่ครัว เพราะเธอมองว่าสิ่งที่เธอทำอยู่นั้นเกิดจากความรัก และก่อนหน้าคำว่าเชฟก็ไม่ใช่คำที่เธอรู้จักมาก่อน
“ฉันบอกเลยนะฉันไม่ใช่เชฟ ฉันเป็นแม่ครัวตัวดีมากกว่า เรียกว่าเป็นแม่ครัวมากกว่าเพราะถ้าย้อนกลับไปเป็นคนที่ชอบทำอาหาร เพราะที่บ้านเวลาทำอาหารก็จะทำเแกงเป็นหม้อใหญ่ๆ ทำงานบุญ แจกคนในชุมชน”
“เชฟมันคืออะไร อะไรมันคือเชฟ รู้แต่ว่าเราชอบทำกับข้าว มารู้อีกทีว่าเชฟเขาจัดการวัตถุดิบเป็น จัดการบริหารเป็น”
แม่พระกับข้าวกับตา
การที่แม่ตาเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย คงปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนใหญ่มาจากช่วงที่แม่ตาทำยูทูบ เพราะจุดเริ่มต้นหลักๆ มาจากช่วงโควิด แม่ตา เล่าว่า เธอเหงา เป็นคนที่ชอบพูด ชอบสอน ทำให้ออกมาทำคอนเทนต์แจกสูตรบนยูทูบ
“มันเหงาเนอะ คือเป็นคนชอบบอกชอบสอน จัดแจงเรื่องอาหารเก่งมาก อันนั้นต้องอันนี้ อันนี้ต้องอันนั้น เป็นคนที่มีรายละเอียดเยอะ อยากบอกอยากสอนคนที่เขาให้ลองทำ ถึงแม้ว่าเราจะมีส่วนเล็กๆ น้อยๆ เพื่อบอกคนที่ไม่รู้ตามความรู้สึก”
“การทำอาหารคือการทำด้วยความรู้สึก เพราะถ้าลองสังเกตดูการทำกับข้าวแล้วหยอดอันนี้นิดหยดอันนี้หน่อยกระจุกระจิก เราควรคำนวณตามความน่าจะเป็นของเมนูที่ทำ เสร็จก็ใส่ลงไปเลยแล้วชิมเอาว่ารสชาติแบบไหนของเราที่อร่อย”
“ซึ่งวัตถุดิบแต่ละฤดูกาลมันไม่เท่ากันอยู่แล้ว อันนี้เปรี้ยว อันนี้เค็ม เราก็ต้องดูวัตถุดิบด้วย อย่างมะขามเปียกแต่ละช่วงก็เปรี้ยวไม่เหมือนกัน หรือน้ำตาลมะพร้าวเราซื้อมาจากตลาดต่างที่ ลักษณะต่างกันถ้าเราตวงด้วยความเป๊ะๆ รสชาติมันก็จะไม่เหมือนกัน แต่ถ้าเราตวงด้วยความรู้สึกที่เราชอบ พอเราชอบกินแล้วถูกใจเรา เราก็จะรู้สึกว่าจานนี้มันอร่อยสำหรับเรา”
นอกจากความอร่อยไร้ขีดจำกัด และสิ่งที่ให้ก็มาจากใจ แต่สำหรับผลตอบรับที่ได้นั้นยิ่งใหญ่กว่าที่คิดหลายเท่า ซึ่งสิ่งนั้นมันส่งผลต่อจิตใจอย่างมหาศาลกับแม่ตา เธอเล่าว่า เธอต้องการส่งต่อ ต้องการสร้างอาชีพ ต่อให้จะเอาไปทำแล้วร่ำรวยก็ไม่เคยอิจฉา
“ที่เรามีได้ทุกวันนี้เพราะผลตอบรับมันดีมากเพราะเราได้งานมันมีผลมากๆ”
“ส่วนเรื่องที่เอาเมนูของแม่ไปสร้างอาชีพ บอกเลยว่ายินดีมาก เพราะที่ให้ไปคือบอกหมดตั้งแต่วัตถุดิบต้องเลือกอะไรดี อะไรใช้แบบไหนแม่บอกหมด เพราะทุกอย่างออกมาจากประสบการณ์ที่เราสั่งสมกว่า 60 ปี เพราะแม่เป็นคนที่ช่างสังเกต ทำอะไรปุ๊บก็จะรู้ว่าอ๋อมันเป็นแบบนี้ ถ้าเราพลาดครั้งแรกมันไม่โอเคมาทำอีกครั้งเราก็แก้ไขทำใหม่ อย่างครั้งแรกต้มหมูแล้วหนังไม่ฟูเลย มาครั้งต่อมาเราก็ทำใหม่”
“พอมีคนทำตามแม่ เอาสูตรแม่ไปทำสร้างรายได้ แม่ก็ดีใจ (ยิ้มภูมิใจ)”
ไม่เพียงแค่นั้น เธอยังเล่าว่า หากใครคิดที่อยากเริ่มทำธุรกิจก็ควรคิดว่าทำด้วยใจ รังแต่จะคิดแค่รวย…ไม่ได้
“บางคนบอกว่าทำร้านอาหารแล้วรวย (ส่ายหัว) ไม่ใช่ ใส่ใจทุกรายละเอียดทุกๆ อย่างที่เราทำต้องใส่ใจ ต้องใส่ใจทุกรายละเอียด อย่ามีคำว่าช่างมันเถอะ (ส่ายหัว) ไม่ใด้ ต้องไม่มีช่างมันเถอะ เพราะความตั้งใจของเราในการทำร้านอาหารต้องมากกว่า 80% และต้องมีคำว่าอดทน”