ฟังเสียง ‘ธุรกิจโฮสเทล’ ขอสู้เฮือกสุดท้าย หลัง ‘เที่ยวปันสุข’ ไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น

ฟังเสียง 'ธุรกิจโฮสเทล' ขอสู้เฮือกสุดท้าย หลัง 'เที่ยวปันสุข' ไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น
ฟังเสียง 'ธุรกิจโฮสเทล' ขอสู้เฮือกสุดท้าย หลัง 'เที่ยวปันสุข' ไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น

ฟังเสียง ‘ธุรกิจโฮสเทล’ ขอสู้เฮือกสุดท้าย หลัง ‘เที่ยวปันสุข’ ไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น

“โฮสเทล” ถือเป็นที่พักที่ได้รับความนิยมในกลุ่มชาวต่างชาติ นอกจากราคาไม่แรงแล้ว ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครันไม่แพ้โรงแรม จึงไม่แปลกที่จะเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของนักท่องเที่ยว หากมีวันหยุดหรือช่วงเทศกาลบุ๊กกิ้งจะถูกจองล่วงหน้า และเข้าพักเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

ใจกลางเมืองย่านสุขุมวิท 39 มีโฮสเทลบรรยากาศดี ของสองเพื่อนซี้วัย 36 ปี คุณเปิ้ล-สมลักษณ์ วิสุทธิผล และ คุณชื่น-ภาณุนี พิริยะวงศ์ ทั้งคู่ช่วยกันเนรมิตตึกเก่า อายุราวๆ 20 ปี ซึ่งเคยเป็นที่พักอาศัยของคุณชื่นเมื่อวัยเด็ก ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง เปิดโฮสเทลเล็กๆ ชูคอนเซ็ปต์โรงนา เน้นธรรมชาติและงานไม้ ชื่อ Barn & Bed Hostel (บาร์น แอนด์ เบด โฮสเทล) สามารถรองรับลูกค้าได้ทั้งหมด 36 เตียง ปัจจุบันกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 พร้อมๆ ไปกับการต่อสู้วิกฤตโควิด-19

คุณเปิ้ล เล่าว่า เธอมีความชำนาญเรื่องโรงแรม เพราะที่บ้านทำธุรกิจโรงแรม ส่วนคุณชื่นมีตึกที่ถูกปล่อยว่างมานานหลายปี เมื่อสำรวจดูแล้วตึกแห่งนี้เหมาะทำเป็นโฮสเทลมากกว่า เพราะลักษณะเป็นตึกห้องแถวสูง 5 ชั้น ด้านหน้ากว้าง หากทำโรงแรมคงไม่คุ้ม เพราะได้จำนวนห้องน้อย จึงเปลี่ยนมาทำโฮสเทล ซึ่งที่พักรูปแบบนี้ได้รับความนิยมมากในต่างประเทศ

ทั้งคุณเปิ้ล และคุณชื่น ช่วยกันวางคอนเซ็ปต์ โดยมีเพื่อนซึ่งเป็นนักออกแบบตกแต่งภายในฝีมือดี เข้ามาช่วย

“เขาวางคอนเซ็ปต์ได้ตรงใจมาก เราเป็นผู้หญิงสองคนที่ไม่ชอบโฮสเทลโทนลุยๆ ดิบๆ แต่ชอบโฮสเทลที่ดูสะอาด สีพาสเทลแต่ดูไม่หวานจนเกินไป เน้นงานไม้ สีเขียวธรรมชาติ จนได้คอนเซ็ปต์ของ Barn โรงนาในหนังฝรั่ง เดินเข้ามาในซอยจะเห็นโฮสเทลเราเด่นชัดมาก” คุณเปิ้ล เล่า

ตั้งแต่เปิดให้บริการ คุณเปิ้ล บอกว่า โฮสเทลของเธอได้รับความนิยมมากในกลุ่มชาวต่างชาติ ทั้งยุโรป อเมริกา และเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ และฮ่องกง ส่วนคนไทยมีเพียง 30-40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

“คนไทยยังไม่ชินเท่าไหร่หากไปนอนรวมกับคนที่ไม่รู้จัก กลัวไม่ปลอดภัย และอีกหลายปัจจัย บวกกับโรงแรมในไทยราคาไม่สูงเหมือนยุโรป เมื่อไปเที่ยวทำให้คนไทยเลือกพักโรงแรมมากกว่า ในทางกลับกัน ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวแบ็กแพจจะนิยมพักโฮสเทล เพราะราคาไม่แพงมาก ที่สำคัญยังเป็นสถานที่ให้พบปะเพื่อนใหม่ หากลูกค้าชอบจะบุ๊กกิ้งกันวันต่อวัน อยู่กับเรานานที่สุดคือ 1 ปี 2 เดือน เพราะเปิดเช่ารายเดือนด้วย”

ก่อนเกิดวิกฤตโควิด เจ้าของโฮสเทลอัพเดตภาพรวมธุรกิจให้ฟังว่า มีลูกค้าเข้าพักราวๆ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าอยู่ในระดับดี และหากเป็นช่วงเทศกาลห้องพักจะถูกจองเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ โดยลูกค้าต่างชาติจะจองล่วงหน้าเป็นเดือนๆ

“หวังไว้กับช่วงเทศกาล แต่มาเกิดโควิด โฮสเทลเราเริ่มแย่ ปลายเดือน มี.ค. ก่อนวันสงกรานต์ และหนักสุดคือช่วงล็อกดาวน์ รายได้เป็นศูนย์ ลูกค้ายกเลิกการจอง บุ๊กกิ้งใหม่ๆ ก็ไม่เข้า ส่วนคนที่ไม่กดยกเลิก เรายกเลิกให้อัตโนมัติ คืนเงินให้ เพราะเห็นอยู่แล้วว่าสถานการณ์ไม่ดี และปิดไปช่วงหนึ่งไม่รับลูกค้า เพราะโฮสเทลเรามีลูกค้ารายเดือนอยู่เป็นคนไทยประมาณ 10 คน ซึ่งเขาไม่รู้สึกปลอดภัยหากมีลูกค้าอื่นมาพักด้วย เพราะยังอยู่ในช่วงที่ควบคุมไม่ได้ และทางเราไม่คุ้มด้วย หากเกิดอะไรขึ้นมา”

ส่วนพนักงาน ทางโฮสเทล บอกว่า ยังต้องมีพนักงานประจำ เพราะมีลูกค้ารายเดือนพักอยู่ช่วงนั้น “จริงๆ เรามีพนักงานไม่เยอะจึงไม่แย่มาก แต่จะแย่ในการจ่ายเงินเดือนเข้าเนื้อตัวเองหลายเดือน ไม่คุ้มกับรายรับที่ได้มา ช่วงนั้นหางานเสริมทำ นำผลไม้จากสวนของเพื่อนซี้เรามาขายออนไลน์ มีทั้ง ทุเรียน มังคุด ช่วยๆ กันทำ พอจะหาเงินได้บ้าง แต่เพราะเป็นผลไม้ตามฤดูกาลจึงไม่ได้มีขายตลอด”

ปัจจุบันแม้รัฐบาลจะคลายล็อก จนเรียกได้ว่าผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ แต่ยังคงต้องดูแลตัวเองใส่แมสก์ รักษาระยะห่าง คุณเปิ้ลบอกว่า ยังไม่มีลูกค้าใหม่จองเข้ามาเลย

“เราพยายามประชาสัมพันธ์ในกลุ่มต่างๆ เพื่อดึงลูกค้าคนไทยมากขึ้น หากมาพักสองคนจะได้ห้องเดียวไปเลย จากเดิมที่พักได้ 4 คนต่อหนึ่งห้อง ราคาห้องพักคืน 300 บาท / 6,000 บาทต่อเดือน ราคานี้รวมค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแอร์ อินเตอร์เน็ตไวไฟ และบริการทำความสะอาดทุกอาทิตย์ สิ่งที่ลูกค้าจะได้ คือความสะดวกสบาย ประหยัดเวลาเดินทาง เพราะ 10 ก้าวถึง บีทีเอสพร้อมพงษ์ ทางซ้ายมีทองหล่อ ขวามี Emquatier & Emproruim และร้านอาหารดังอีกมากมาย”

และถึงรัฐบาลจะมีนโบายกระตุ้นการท่องเที่ยว เช่น เที่ยวปันสุข ก็ไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น “เราไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ เพราะไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม ไม่ใช่ว่าเราไม่ขอ เราขอแล้วแต่ไม่ได้ ด้วยข้อกำหนดและมาตรฐานต่างๆ ที่เข้มงวด ซึ่งโฮสเทลส่วนใหญ่สร้างมาจากตึกหรือบ้านเก่า การจะปรับให้ตรงเงื่อนไขจึงเป็นไปได้ยาก แต่ถามว่าเราเสียภาษีถูกต้องมั้ยเราเสีย เพียงแต่เราไม่ได้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม ทำให้พลาดโอกาสไป” คุณเปิ้ล เล่าถึงปัญหา

คุณเปิ้ลยังบอกอีกว่า ในกลุ่มธุรกิจโฮสเทลมีพูดคุยกันเหมือนกัน เพียงแต่ว่ายังไม่มีใครออกมาขอความช่วยเหลือ ตอนนี้โฮสเทลหลายแห่งประกาศขายกันแล้ว ส่วนใหญ่แบกรับค่าเช่าไม่ไหว

อย่างไรก็ตาม ถามถึงความคาดหวัง กับการสู้เพื่อต่อลมหายใจ เธอบอกว่า “เป็นปีแรกที่เจอเหตุการณ์แบบนี้ ไม่รู้เหมือนกันว่าจะยื้อตัวเองได้นานแค่ไหน เอาจริงๆ คือไม่นานเลย แต่ที่พยายามโพสต์โปรโมต เพราะอยากสู้อีกสักตั้ง ไม่อยากเสียพนักงาน และสิ่งที่เราสร้างมา ยังไม่คิดว่าจะปิดกิจการถาวร เราต้องมีเดตไลน์ให้ตัวเอง หากได้ไม่คุ้มในอีก 1-2 เดือนนี้คงปิดชั่วคราว แล้วรอเปิดประเทศ ยังไงท่องเที่ยวยังเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ” คุณเปิ้ล ผู้ประกอบการโฮสเทล ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ทิ้งท้าย