พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์สืบทอดนับพันปี ล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนี “พระพุทธรูปมีชีวิต”

พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์สืบทอดนับพันปี ล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนี “พระพุทธรูปมีชีวิต”

หากใครมีโอกาสไปท่องเที่ยวที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา เชื่อว่าหลายท่านไม่อยากพลาดที่จะเข้าร่วมพิธีล้างพระพักตร์  “พระมหามัยมุนี” 1 ใน 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของชาวเมียนมา

จากบันทึกประวัติศาสตร์ที่ปรากฏ ระบุไว้ “พระมหามัยมุนี” เป็นพระพุทธรูปหล่อทองสำริด ปางมารวิชัยทรงเครื่อง หน้าตักกว้าง 9 ฟุต สูง 12 ฟุต สร้างขึ้นในราว พ.ศ. 688 โดยพระเจ้าจันทสุริยะ กษัตริย์แห่งเมืองธรรมวดี แคว้นยะไข่ ซึ่งทรงศรัทธาในองค์พระพุทธเจ้าอย่างมาก จึงได้สร้างพระพุทธรูปเพื่อเป็นตัวแทนของพระองค์ขึ้น

เมื่อกาลเวลาล่วงมาถึง พ.ศ. 2327 พระเจ้าปดุง ซึ่งเป็นกษัตริย์พม่าได้ไปตีเมืองยะไข่ และอัญเชิญพระพุทธมหามัยมุนี ข้ามแม่น้ำอิรวดีมาประทับที่มัณฑะเลย์ได้สำเร็จ ปัจจุบันองค์พระประดิษฐานอยู่ที่ “วัดมหามัยมุนี” ในเมืองมัณฑะเลย์

กล่าวสำหรับความเชื่อของชาวเมียนมานั้น  เชื่อกันว่าพระมหามัยมุนี เป็นพระพุทธรูปมีชีวิต เพราะพระพุทธเจ้าได้ประทาน “ลมหายใจศักดิ์สิทธิ์” เข้าไปในพระวรกายของพระพุทธรูปองค์นี้ ซึ่งความเชื่อนี้เอง ที่เป็นต้นกำเนิดของ “พิธีล้างพระพักตร์” พระมหามัยมุนี ที่เจ้าอาวาส ทุกรูป จะต้องทำหน้าที่จัดพิธีล้างหน้าและแปรงฟัน ให้พระพุทธรูปในช่วงเช้าตรู่ของทุกวัน เพราะถือว่า“พระมหามัยมุนี” นั้น เป็นพระพุทธรูปมีชีวิต มีลมหายใจ และนับเป็นพิธีแห่งความศรัทธาปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลานับพันปีแล้ว

โดยช่วงเวลาราวตี 3 ถึงตี 4 ของทุกวัน จะมีชาวเมียนมา และชาวพุทธชาติอื่นๆ รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างศาสนา  พากันหลั่งไหลมาร่วมและชมพิธีอันศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งทางวัดจะอนุญาตให้ผู้ชายขึ้นไปปิดทององค์พระได้ ส่วนผู้หญิงนั้นห้าม แต่จะให้กราบไหว้บูชาที่ด้านล่าง และมีเขตห้ามผู้หญิงล้ำเข้าไป หากผู้หญิงอยากปิดทององค์พระมหามัยมุนี สามารถฝากผู้ชายขึ้นไปปิดแทนได้

 

เผยแพร่ออนไลน์ครั้งแรก : มีนาคม 2561