หนุ่มไอทียื่นมือช่วยภรรยาขายผลไม้ สร้างแบรนด์ aDAY FRESH บุกลูกค้าไฮโซออนไลน์ โกยรายได้หลักล้านต่อเดือน

ชีวิตที่คลุกคลีอยู่กับงานด้านไอทีมาโดยตลอด ฉะนั้น เมื่อถึงคราวต้องพัฒนาธุรกิจค้าขายผลไม้ จึงเลือกจับสินค้าเข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์ แม้ช่องทางนี้ใครอาจมองว่าไม่น่าสร้างยอดขาย แต่กลับกลายเป็นวิธีให้ผลรายได้หลักล้านบาทต่อเดือน

ขายผลไม้ออนไลน์
เป้าหมายตลาดบน

อะไรคือคำตอบของความสำเร็จ “เส้นทางเศรษฐี” ขอนำท่านผู้อ่านไปรู้จักกับ คุณยุทธนา เทียนธรรมชาติ เจ้าของธุรกิจผลไม้ดีลิเวอรี่ ในชื่อแบรนด์ “aDAY FRESH” ที่มีช่องทางจำหน่ายบนเฟซบุ๊ก

คุณยุทธนา เริ่มเล่าที่มากับการขายผลไม้ผ่านช่องทางนี้ว่า เดิมที คุณธัญวรัตน์ รุ่งโรจน์วิทยกุล ภรรยาของเขาอยู่ในแวดวงธุรกิจค้าขายผลไม้รายใหญ่แห่งหนึ่ง จนกระทั่งผันตัวเองมาสู่ผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งผลไม้เอง แต่ด้วยการแข่งขันสูง กอปรกับมองว่าผลไม้เป็นสินค้าไม่นิยมสร้างแบรนด์ ลูกค้าจึงไม่เฉพาะเจาะจงอยู่กับผู้ขายรายใดรายหนึ่ง

“เมื่อผมรู้ปัญหา จึงคิดเข้ามาช่วยกิจการของภรรยา เพราะได้ศึกษาด้านการตลาดมาด้วย เริ่มต้นจากตั้งชื่อแบรนด์ aDAY FRESH ขึ้นมาก่อน จากนั้นอาศัยความรู้จากที่เป็นโปรแกรมเมอร์สร้างเพจบนเฟซบุ๊กทดลองตลาดในราวเดือนกันยายน 2014 ซึ่งตอนนั้นผมคิดว่าได้ยอดขายเดือนละ 100,000 ก็ดีแล้ว แต่เมื่อมาถึงช่วงเดือนตุลาคม ปรากฏว่าลูกค้าติดต่อสั่งซื้อจำนวนมาก ในเดือนพฤศจิกายนจึงจับช่องทางนี้จริงจัง ปรับพัฒนารูปแบบหน้าเพจให้น่าสนใจยิ่งๆ ขึ้น”

คุณยุทธนา ยังกล่าวถึงกลุ่มลูกค้าของ aDAY FRESH ว่าเป็นคนละกลุ่มกับลูกค้าหน้าร้านเดิม โดยเน้นเจาะตลาดระดับบน ด้วยสินค้าผลไม้คุณภาพดี หาซื้อยากจากตลาดทั่วไป หรือแม้แต่ในห้างสรรพสินค้าก็ยังแทบไม่มีจำหน่าย อย่าง เชอร์รี่ สตรอเบอร์รี่ องุ่นไร้เมล็ด โดยมีแหล่งปลูกในต่างประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น  เกาหลี ซึ่งคุณธัญวรัตน์เป็นผู้บินตรงไปคัดสรรด้วยตนเอง

สินค้าดี หาไม่ง่าย
กลายเป็นของขวัญ

นอกจากสร้างแบรนด์ เปิดหน้าเพจบนเฟซบุ๊กแล้ว ยังเลือกสร้างความต่างด้วยบริการส่งถึงที่หมาย ซึ่งผลไม้ขายดีอันดับ 1 คือ เชอร์รี่ อันดับ 2 สตรอเบอร์รี่ และตามมาด้วยองุ่นไร้เมล็ด

คุณยุทธนา ยังกล่าวเสริมถึงแหล่งซื้อว่า ต้องบินไปดูในหลายๆ ประเทศ ศึกษาข้อมูลเพื่อให้รู้ฤดูกาลผลไม้ของแต่ละแห่ง รวมถึงต้องรู้รสชาติ ความโดดเด่นของผลไม้ในประเทศนั้นๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการขาย

นอกจากคุณภาพผลไม้ดีเยี่ยมแล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับ 1 ต่ออาชีพนี้ ยังต้องให้ความสำคัญกับบรรจุภัณฑ์ปรับพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากสินค้าซื้อไปทาน กลายเป็นสินค้าของขวัญของฝาก

“เราทุ่มเทเรื่องดีไซน์บรรจุภัณฑ์ ออกแบบต้องดีสมสินค้า ซึ่งเริ่มต้นลูกค้าจะซื้อไปทานเอง แล้วติดใจในรสชาติก็มีการซื้อกันต่อเนื่อง แต่พอมีเรื่องของดีไซน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ยอดขายพุ่งขึ้น เพราะลูกค้าจำนวนมากนิยมนำไปเป็นของขวัญของฝาก”

กับรูปแบบส่งสินค้าดีลิเวอรี่ แน่นอนว่า บริการอันดี คือหัวใจของธุรกิจ โดยปัจจุบันมีรถห้องเย็นไว้บรรทุกสินค้า แต่หากยอดขายมากเกินกำลังรับไหว จะจัดจ้างรถขนส่งภายนอก อย่างยานพาหนะประเภทมอเตอร์ไซค์ ก็ถือว่าเหมาะกับสังคมเมือง เพื่อรักษามาตรฐานด้านเวลาที่ต้องทันตามลูกค้ากำหนด ส่วนผลไม้จะให้คงความสด ก็เลือกวิธีบรรจุลงกล่องโฟมคงความเย็นด้วยเจลเย็น

ดีลิเวอรี่ทั่วไทย
ผลไม้ไม่ดีมีเคลม

ทั่วประเทศ คือพื้นที่เป้าหมายของ aDAY FRESH ดังนั้น ในพื้นที่ต่างจังหวัดจึงจัดส่งไปในหลายๆ ช่องทาง ทั้งรถตู้โดยสาร รถทัวร์ เครื่องบิน ส่วนอัตราค่าจัดส่งกำหนดไว้กับยอดซื้อไม่มีขั้นต่ำแต่ไม่เกิน 3,000 บาท คิดค่าบริการในพื้นที่กรุงเทพฯ 100 บาท แต่หากในพื้นที่ต่างจังหวัดอัตราค่าส่งเริ่มต้น 350 บาท แต่ถ้าซื้อสินค้าสูงกว่า 3,000 บาท ลดค่าขนส่งให้ 100 บาท

อีกบริการหนึ่งก่อเกิดความประทับใจต่อลูกค้าคือ สินค้าไม่ดียินดีเคลม “ผลไม้เป็นของสด ย่อมมีโอกาสช้ำ หรือว่าเสียบ้าง อย่างเมื่อก่อน สตรอเบอร์รี่เสีย 2 ลูก ผมเคลมให้เลย 1 ลัง เพราะเราอยากทำให้ลูกค้ารู้สึกว้าว แต่ต้องยอมรับว่าช่วงแรกๆ ต้องเคลมให้ลูกค้าเยอะมาก ตอนนี้จึงแก้ปัญหาด้วยการทำข้อมูลลูกค้าก่อนว่ารายใดเข้มงวดมาก มีความจุกจิก และจะให้ดี ก่อนส่งต้องถ่ายรูปสินค้าให้ลูกค้าดูก่อน ที่เราต้องทำเช่นนี้เพราะลูกค้าส่วนมากไม่สะดวกเช็กสินค้าตอนรับ เพราะส่วนใหญ่ไม่อยู่บ้าน ให้แม่บ้านรับของไว้แทน เราก็ต้องสร้างความสบายใจด้วยการรับประกันเคลม ซึ่งเป็นวิธีมัดใจลูกค้าไว้ได้”

จากยอดขายวางไว้กับช่องทางออนไลน์ 100,000 บาท ต่อเดือน แต่มาถึงปัจจุบันแตะ 2 ล้านบาท ซึ่งกับยอดขายดังกล่าว คุณยุทธนา ว่า เป็นไปตามกำลังผลิต แต่ทว่าความต้องการของตลาดยังกว้างกว่านี้มาก

“ผมเคยวิ่งรถส่งสินค้าเอง เริ่มต้นตั้งแต่ตีสี่ไปจนถึงห้าทุ่ม ช่วงเทศกาลยิ่งขายดี อย่างตรุษจีนที่ผ่านมา ทำรายได้ถึง 1,000,000 บาท หรือปีใหม่ทำรายได้ 500,000 บาท แต่ด้วยช่วงเทศกาลจะนิยมกระเช้าของขวัญ ซึ่งต้องใช้เวลาจัด แต่กำลังคนมีแค่ 19 ชีวิต พื้นที่ต่างจังหวัดจึงต้องหยุดส่งไปเลย”

สั่งซื้อหนึ่งกล่อง
ลองอร่อย สั่งสิบ

คุณยุทธนา ยังกล่าวถึงยอดสั่งซื้อแต่ละคนแต่ละครั้งเฉลี่ยประมาณ 3,500 บาท “เคยมีลูกค้าท่านหนึ่งสั่งซื้อเชอร์รี่ 1 กล่อง 3,500 บาท เมื่อลูกค้าได้ชิม สั่งอีก 10 กล่อง โดยให้เรากระจายไปตามบ้านต่างๆ และเมื่อผู้ได้รับ ชิมผลไม้แล้ว ก็สั่งซื้ออีก จากลูกค้าคนเดียวทำให้มีรายได้ในครั้งนั้น 300,000 บาท”

ผู้ประกอบการคนขยัน กล่าวถึงหัวใจสำคัญกับการบริหารจัดการธุรกิจ อันนำมาสู่ความสำเร็จ “ด้วยเงื่อนไขของสดมีอายุเก็บรักษา ไม่ใช่แค่เรื่องจำนวนมากน้อย แต่ต้องรู้อายุ รู้ฤดูกาลของผลไม้แต่ละชนิด รู้แหล่งปลูกแหล่งขายที่จะจัดนำเข้ามา และเมื่อมีความสูญเสีย หรือค้างสต๊อก ต้องหาวิธีจัดการได้ อย่างนำมาตัดแต่งเพื่อแปรรูป

ไม่เพียงผลไม้นอกที่เลือกนำมาจำหน่าย ปัจจุบัน คุณยุทธนาได้มองผลไม้ไทย ซึ่งยังคงได้รับความสนใจจากตลาด อย่าง มะม่วง กล้วยหอม เสาวรส แต่ทั้งนี้ยังคงเลือกคัดคุณภาพระดับพรีเมี่ยม

“ตอนนี้ลูกค้ากลุ่มซื้อไปมอบเป็นของขวัญของฝากเพิ่มจำนวนมากขึ้น ก็คงต้องให้ความสำคัญกับดีไซน์บรรจุภัณฑ์และความหลากหลายของผลไม้ และปัจจุบันกำลังซื้อก็ถือว่ามากกว่ากำลังผลิต จึงวางแผนขยายพื้นที่ศูนย์ตัดแต่ง คัดแยกสินค้า โดยทุ่มเงินลงทุนไป 2 ล้านบาท คาดว่าแล้วเสร็จในราวเดือนพฤษภาคม ซึ่งจากการขยายนี้น่าจะทำรายได้เพิ่มอีกเท่าตัว”

ทั้งนี้ คุณยุทธนายังกล่าวย้อนกลับไปถึงการลงทุนว่า ไม่มีในเบื้องต้น เพราะการเปิดเพจบนเฟซบุ๊กไม่ต้องลงทุนตัวเงิน ส่วนผลไม้นำมาจำหน่ายได้เครดิตรับสินค้ามาขายก่อนจ่ายทีหลัง

“ผมว่าการขายผ่านโลกออนไลน์ สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ การพัฒนาเพจ อย่างรูปภาพสำคัญมากต้องสวยงาม บริการต้องดีจริง การเล่นโปรโมชั่นก็เป็นอีกกลยุทธ์ดึงดูดลูกค้า ซึ่งผมจะทำแบบแรงจริง เพื่อกระตุ้นการรับรู้ กระตุ้นยอดขาย แต่ว่าจะเลือกทำโปรโมชั่นกับสินค้าบางรายการเท่านั้น”

คุณยุทธนายังกล่าวทิ้งท้ายกับผู้สนใจต้องการมุ่งสู่เส้นทางสายนี้ว่า ยังมีโอกาสอีกมาก หรือหากคุณมีสินค้าอื่นๆ ในมือ ก็สามารถขายผ่านช่องทางนี้ได้ อยู่แค่ว่า…กล้าก้าวหรือไม่