เปิดร้านชำยุคใหม่อย่างไร? ให้ซื้อใจชุมชน ท่ามกลางร้านสะดวกซื้อครองเมือง

เปิดร้านชำยุคใหม่อย่างไร? ให้ซื้อใจชุมชน ท่ามกลางร้านสะดวกซื้อครองเมือง

ปัจจุบันนี้ ต้องยอมรับเลยว่าคนต้องการหันมาประกอบธุรกิจส่วนตัวกันเยอะขึ้น เพราะเป็นอาชีพที่ดูเหมือนจะสบาย สามารถบริหารจัดการเวลาได้เอง และสร้างกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ และหนึ่งในธุรกิจที่นิยม ต้องยกให้กับร้านชำ หรือร้านโชห่วย

แต่รู้หรือไม่ว่า การเปิดร้านชำ ไม่ใช่ว่ามีเงินอย่างเดียวแล้วจะเปิดได้ แต่จะต้องประกอบไปด้วยขั้นตอน และวิธีการต่างๆ ที่จะช่วยให้กิจการของคุณดำเนินต่อไปได้สวย แม้จะมีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีอยู่ตอนนี้ก็ตาม

หากใครมีความคิดที่จะเปิดร้านชำ แต่ยังกังวลว่าต้องทำอะไรบ้าง กลัวว่ามีคู่แข่งเยอะ จะอยู่รอดหรือไม่ อีกทั้งมีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ค่อนข้างมีความน่ากลัวไม่น้อย ถึงเวลาแล้วที่จะหยุดความกังวลเหล่านั้น เพราะวันนี้ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ จะมาบอกวิธีการเปิดร้านชำ ทำอย่างไรให้อยู่รอดปลอดภัยจากปลาใหญ่ มีอะไรบ้าง ไปดู

1. ศึกษาตลาด

ต้องบอกว่า กิจการร้านชำ เป็นหนึ่งธุรกิจที่คู่แข่งเยอะและแข่งขันกันสูงมาก เพราะไม่ว่าจะไปตรงไหนก็จะเห็นร้านขายของชำอยู่เกือบทุกที่ แต่ว่าเราจะทำอย่างไรให้ร้านของเราแตกต่างจากร้านอื่นๆ ซึ่งอาจจะขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้า การจัดร้าน หรือแม้แต่การจัดโปรต่างๆ สิ่งเหล่านี้เราควรศึกษาและดูว่าคู่แข่งมีหรือยังไม่มีอะไรที่จะเป็นการเพิ่มความสนใจให้ลูกค้าได้

2. ทำเลที่ตั้ง

ในส่วนของทำเลที่ตั้ง ควรจะเลือกทำเลที่เหมาะสม และเข้าถึงได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ที่คนเดินผ่านทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เพื่อเพิ่มการมองเห็นได้หลายมุม และสามารถเพิ่มโอกาสทางการขายได้ ต้องอยู่ในแหล่งชุมชน แน่นอนเลย หากคุณเปิดร้านที่ใกล้แหล่งชุมชน จะช่วยเพิ่มโอกาสทางการขายได้ดียิ่งขึ้น อาจจะเปิดใกล้โรงเรียน ใกล้มหาวิทยาลัย หรือสถานที่ที่มีกลุ่มเป้าหมายมากพอ

3. เตรียมต้นทุนให้เหมาะสม

การเตรียมต้นทุน ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะจะทำให้เรามีขอบเขตและสามารถจัดการวางแผนระบบร้านได้ดีขึ้น โดยจะมีการเตรียมต้นทุน ดังนี้

  • ร้านค้าที่ไม่มีพื้นที่และต้องก่อสร้างร้านใหม่ทั้งหมด งบประมาณอาจเริ่มต้นที่ประมาณ 150,000 บาทเป็นอย่างต่ำ 
  • ร้านค้าที่มีพื้นที่อยู่แล้วอาจเสียเพียงแค่ค่าสินค้าที่ต้องนำมาหมุนเวียนในร้าน เริ่มต้นที่ 50,000 บาท (ไม่รวมค่าอุปกรณ์อื่นๆ)
  • ร้านค้าที่ต้องเสียค่าเช่า ค่าหมุนเวียนในร้าน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 50,000–100,000 บาท 

อย่างไรก็ตาม ต้นทุนในการเปิดร้านขายของชำไม่มีตายตัว เนื่องจากต้นทุนขึ้นอยู่กับขนาดและการวางแผน แต่ไม่ควรที่จะลงทุนครั้งแรกแบบเทหมดหน้าตัก ให้ลงทุนเท่าที่เราพอไหว แล้วค่อยๆ ขยับขยายให้ใหญ่ขึ้น และอย่าลืมมีเงินทุนสำรองที่เพียงพอต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินด้วย

4. ขออนุญาตและจดทะเบียนให้ถูกต้อง 

หนึ่งข้อที่ห้ามพลาดทำเด็ดขาดคือ การขออนุญาตและจดทะเบียนอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขออนุญาตจากกรมสรรพสามิต การจดทะเบียนพาณิชย์ร้านค้า การเสียภาษีเงินได้ เป็นต้น ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่ความถูกต้อง แต่เพื่อความสบายใจเพราะจะไม่มีหน่วยงานใดๆ มาทวงถามทีหลัง ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้สามารถไปติดต่อสอบถามได้ที่เจ้าหน้าที่ อบต. หรือเทศบาลใกล้บ้าน เพื่อสอบถามรายละเอียดเบื้องต้น

5. หาแหล่งซื้อของใกล้บ้านในราคาประหยัด

แหล่งซื้อของในราคาประหยัด จะช่วยลดค่าใช้จ่ายไปหลายเท่าตัว ต้องหาร้านขายส่งที่มองว่าราคาประหยัด และดีลกับร้านขายส่ง ห้างขายส่ง หรือตัวแทนจำหน่ายที่น่าเชื่อถือ เพื่อให้มาส่งสินค้าที่ร้านโดยที่เราไม่จำเป็นต้องออกไปซื้อด้วยตนเอง ประหยัดเงิน หรือประหยัดเวลาไปในตัว

นอกจากจะเป็นของใช้ต่างๆ หรือสินค้าที่มีตามร้านชำทั่วไปแล้ว เราควรที่จะเพิ่มในส่วนของอาหารสดเข้าไป อาทิ เนื้อหมู เนื้อไก่ ปลา กุ้ง ผักสด เป็นต้น เพื่อเพิ่มตัวเลือกให้กับลูกค้า เหมือนมาที่ร้านของเราแล้วมีสินค้าให้เลือกซื้อแบบครบวงจร

6. จัดร้านให้น่าสนใจ

ลูกค้าหลายคนคงอยากจะเข้าร้านที่ดูเป็นระเบียบ สินค้าวางตามหมวดหมู่ หาง่าย สะอาด การจัดร้านเป็นขั้นตอนที่ไม่ว่าใครก็ทำได้ และไม่ได้เสียเงินเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เพียงแค่ขยันจัดร้านอยู่เสมอ เพื่อสร้างความประทับใจให้ลูกค้า นอกจากจะง่ายต่อการเลือกซื้อของลูกค้าแล้ว จะทำให้เราไม่จำเป็นต้องมาตอบคำถามลูกค้าที่หาของไม่เจอบ่อยๆ

7. จัดโปรโมชัน ทำการตลาด

สิ่งนี้แหละ เป็นข้อได้เปรียบสำหรับร้านชำเล็กๆ เพราะว่าสามารถนำสินค้ามาขายได้หลากหลายชนิด โดยอาจจะจัดโปรโมชันที่ตอบโจทย์ต่อความต้องการของลูกค้า อาทิ จัดเซตของใช้ในครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นข้าวสารอาหารแห้ง กำหนดราคาให้เหมาะสม หรือหาโปรใหม่ๆ เพื่อสร้างความน่าสนใจให้ลูกค้า

นอกจากนี้ การทำการตลาดยังเป็นตัวช่วยที่ดีในการเพิ่มช่องทางการขาย ไม่ใช่เพียงแค่ขายหน้าร้าน การสร้างช่องทางการติดต่อในรูปแบบออนไลน์ จะช่วยทำให้ลูกค้าเข้าถึง และมองเห็นร้านของเราได้มากขึ้น ทั้งยังช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและความมั่นคงให้กับร้านเราได้

8. การบริการด้วยความจริงใจ และอัธยาศัยดี

หากเรามีการบริการที่ดี และมีอัธยาศัยดีต่อลูกค้า ก็ไม่แปลกเลยที่จะมีคนเข้าเยอะ เพราะนอกจากสินค้าที่ครบวงจรแล้วนั้น ตัวผู้ขายเองก็สำตัญไม่ใช่น้อย และถือเป็นข้อได้เปรียบที่ดีที่สุดอีกทาง เพราะเราสามารถพูดคุย ถามไถ่ลูกค้าด้วยความจริงใจ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ เราก็สามารถพูดคุยถามเรื่องสุขภาพได้ 

ดังนั้น การเปิดร้านชำจึงสามารถทำให้ลูกค้าเข้าถึงได้ง่ายมากกว่า และสร้างฐานกลุ่มลูกค้าได้ต่อไปเรื่อยๆ 

ทั้ง 8 ข้อนี้ คือแนวทางที่ดีในการเปิดร้านชำ โดยสามารถอยู่รอดปลอดภัยจากผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ และการเปิดร้านชำที่เป็นธุรกิจของตัวเอง ไม่ให้เป็นเพียงอาชีพที่สร้างเม็ดเงินให้เราเท่านั้น แต่ยังเป็นอาชีพที่สร้างความสุขได้ด้วย 

อย่าง คุณป๊อปกิตติกรณ์ นิยมมาก เจ้าของร้านบุญสอาด ร้านชำที่เป็นกระแสอยู่ตอนนี้ ซึ่งเขาได้มาปรับเปลี่ยนระบบร้านชำของพ่อ และดูแลต่อยอดจนเป็นร้านชำที่ช่วยสร้างรายได้และความสุข สามารถอ่านเรื่องราวเพิ่มเติมได้ที่ คลิก

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก KTC

หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2566