จบนิติ มาขายของชำ ธุรกิจจากรุ่นย่า ส่งต่อรุ่น 3 กับแนวคิด “อยากรอดต้องปรับตัว”

จบนิติ มาขายของชำ ธุรกิจจากรุ่นย่า ส่งต่อรุ่น 3 กับแนวคิด "อยากรอดต้องปรับตัว"

จบนิติ มาขายของชำ ธุรกิจจากรุ่นย่า ส่งต่อรุ่น 3 กับแนวคิด “อยากรอดต้องปรับตัว”

เพราะ “ร้านชำ” คืออาชีพที่ ย่า พ่อ และแม่ ทำมานาน เป็นรายได้หลักเลี้ยงดูครอบครัว ใช้หนี้ รวมถึงส่งเสียให้ คุณกิตติกรณ์ นิยมมาก หรือ ป๊อป เรียนจบปริญญาตรี ด้านนิติศาสตร์

ปัจจุบันในวัย 26 ปี คุณป๊อป กลายเป็นเจ้าของร้านชำเต็มตัว จากการเข้ามารับช่วงต่อเมื่อ 4 ปีที่แล้วหลังเรียนจบ

“ผมอยู่กับร้านชำมาตั้งแต่เด็ก ไม่เคยไปเจอคนวงการอื่น อาชีพนี้ช่วยอะไรในชีวิตหลายๆ อย่าง เลยอยากทำต่อจากพ่อ”

คุณกิตติกรณ์ นิยมมาก หรือ ป๊อป

จากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก คุณป๊อป บอกว่า มีหลายสิ่งพัฒนาขึ้น เช่น จากใช้เครื่องคิดเลข เปลี่ยนมาเป็นระบบ POS จากตราชั่งธรรมดา เป็นตาชั่งดิจิทัล หรือแม้กระทั่งการซื้อของเข้าร้าน จากเมื่อก่อน ซื้อแต่ของที่ตัวเองใช้ เพราะกลัวไม่มีลูกค้าซื้อ เป็นซื้อของตามความต้องการของลูกค้า

“ผมคุยกับแฟน ถ้าเราอยากอยู่รอด อยากไปต่อ ต้องเอาความต้องการของลูกค้าเป็นใหญ่ ไม่ใช่เอาความต้องการของตัวเอง แถวนี้จะเป็นกลุ่มลูกค้า แม่บ้าน พ่อบ้าน ของที่เอามาขาย ก็จะเป็น ข้าวของเครื่องใช้ ของสด ของแห้ง เครื่องสำอางจะรองลงมา ถ้าไม่รวมพวกเตาแก๊ส ผมว่า มาที่ผมจบอยู่นะ”

นอกจากสินค้าทั่วไป ยังมีของจากคนในชุมชนที่คุณป๊อปยินดีให้นำมาฝากขาย อย่างเช่น แซนด์วิช เบเกอรี่ น้ำจิ้มสุกี้ หน่อไม้ดอง เหล่านี้ ได้กำไรไม่มาก ประมาณชิ้นละบาท แต่เพียงเท่านี้ก็ทำให้เจ้าของร้านอย่างเขามีความสุขมากแล้ว

ร้านบุญสอาด

ร้านชำ ต้องรอด

แล้วทำอย่างไรให้ ร้านชำ อยู่รอดในยุคนี้ คุณป๊อป แนะนำว่า ต้องปรับตัว

“ปรับตัว แล้วก็ลบแนวคิดเดิมๆ ออก อย่าเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ต้องเอาลูกค้าเป็นที่ตั้ง เรื่องยอดขาย ถ้าอยากได้เยอะ ของในร้านเราก็ต้องเยอะด้วย

การจัดเรียงสินค้าให้เป็นระเบียบก็สำคัญ ส่วนใหญ่ยอดขายของผมขึ้นได้จากรุ่นพ่อ เพราะมีการจัดเรียงสินค้าให้ทันสมัย เป็นระเบียบ เอาจริงๆ แต่ก่อนผมเป็นคนเรียงของให้พ่อ ของมาถึง วางทั้งแพ็ก ลูกค้าแกะเอง แล้วก็เป็นรอยแกะ พอดึงออกไปมันก็เป็นรอยแหว่ง บางทีลูกค้าต้องมานั่งคุ้ยๆ พอผมโตมา มีแฟนมาช่วยดู เขาบอกว่าน่าจะเปลี่ยน แบบนี้ไม่น่าซื้อ ผู้หญิงเขาจะมีความเป็นระเบียบกว่าผู้ชาย ผมก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนมาจัดเรียงสินค้าให้น่าซื้อ

และเดี๋ยวนี้ผมเอาของมาเยอะ เลยปรับเวลาเปิด 24 ชั่วโมง เพราะให้น้องๆ คอยปัดฝุ่น และจัดเรียงสินค้า ตอนกลางวันมันทำไม่ได้ ลูกค้าเข้าทั้งวัน ตอนกลางคืนคนบางๆ เลย เราจะมีเวลาเรียงของ ไม่ร้อนด้วย ทดลองมา 1 เดือนแล้ว ก็ถามน้องว่าไหวไหม น้องบอก โอเคนะ ไม่เหนื่อย ทำงานเรื่อยๆ ไม่ต้องเร่ง ไม่ต้องรีบ”

ร้านบุญสอาด

นอกจากนี้ ร้านบุญสอาด ยังปรับตัว เปิดบริการส่งของถึงบ้าน 100 บาท ส่งฟรีทั้งซอย

“เพิ่มยอดขายได้ทางหนึ่งเลย ดีกว่านั่งรอลูกค้ามาซื้อที่ร้าน บางคนเขาไม่อยากออกมา อายุเยอะแล้ว มาซื้อของไม่ค่อยสะดวก ถ้าเรามีบริการดีลิเวอรี ลูกค้าอยู่ไกลแค่ไหน ก็โทรสั่งได้ เราไปส่งถึงหน้าบ้าน ลูกค้าไม่เหนื่อย เราได้ตังค์ ยอดขายเพิ่มขึ้น”

ร้านบุญสอาด

พ่อค้าอารมณ์ดีที่สุดในซอย

นอกเหนือจากการปรับตัว บุญสอาด ยังเป็นร้านชำที่ให้ความสุขกับลูกค้า ผ่านความอารมณ์ดีของพ่อค้า ที่เขาบอกว่า การเป็นกันเองจะทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ

“บางทีทะเลาะกับเมียมา หน้าบูดใส่ลูกค้า เขาก็เบื่อ เหมือนกับเราไปซื้อของร้านไหนร้านหนึ่ง เจอพ่อค้าแม่ค้าหน้าเบี้ยว ก็ไม่อยากซื้อแล้ว ถ้าสมมติลูกค้าเลือกเข้ามาซื้อของร้านผม มันน่าจะมีหลายๆ องค์ประกอบรวมอยู่ด้วยในนั้น แต่ถ้าถามว่าเฟรนด์ลี่เป็นหนึ่งในนั้นไหม น่าจะใช่ การเป็นกันเองกับลูกค้า เป็นสิ่งสำคัญ ทำให้ร้านขายดี ขายได้”

และความเฟรนด์ลี่ ความสนุกของคุณป๊อป ก็ถูกพูดถึงมากจนกลายเป็นไวรัล เมื่อเขานำคลิปจากกล้องวงจรปิดไปทำคอนเทนต์ลง TikTok

โดยคลิปไวรัลที่ทำให้ ร้านบุญสอาด เป็นที่รู้จัก คือคลิปกดกระดิ่งเรียกพ่อค้าเป็นจังหวะฉิ่งฉับ ที่ตอนนี้มียอดวิวถึง 3.3 ล้าน

แต่นั่นไม่ใช่คลิปตัวแรกที่คุณป๊อปเริ่มทำ

“คลิปแรกของผม คือคลิปที่ผมเล่นกับแฟน แล้วเหมือนกับแฟนว่าผม แล้วผมจะง้างมือตบ แล้วเปลี่ยนเป็นยกมือไหว้แทน ยอดวิวเกือบ 3 ล้านแล้ว ตอนแรกไปไม่ถูกเหมือนกัน เขาเรียก ยังทำคลิปออกมาไม่เป็น ลงคลิปแนวอื่น ก็ไม่มีคนดู แฟนเลยบอกว่า ก็ใช้ชีวิตปกติ พอมันมีอะไรน่ารักๆ เข้ามาค่อยดูดคลิปไปลง ผมก็ทำมาตลอด ผมขอลูกค้าลงนะ บางคลิปผมดองไว้เป็นปีก็มี อย่างคลิปกางเกงหลุด ตอนนั้นยังไม่สนิท ไม่กล้าลง กลัวโดนสาว ก็ค่อยๆ ตีสนิทกับพี่เขา แล้วเอาคลิปไปให้เขาดูและขออนุญาต”

เขาย้ำว่า “ทุกเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง ไม่ได้เขียนบท ลูกค้าเป็นแบบนั้นจริงๆ ถ้าสมมติผมเล่นอยู่คนเดียว ลูกค้าไม่เล่น ก็เท่านั้น หรือลูกค้าเล่น ผมไม่เล่น ก็เท่านั้น เล่นกันทั้งคู่ บางทีมายืนปั่นผม ขายของอยู่คิดเงินไม่ได้ ปั่นอยู่อย่างนั้น (หัวเราะ)

ความสุขไม่ใช่แค่ผมให้ แต่เขาก็ให้ผมเหมือนกัน ไม่ได้ให้แค่ความสุข ให้เงินผมด้วย ถ้าร้านอื่นอยากทำบ้าง ได้นะ มันก็จะแนวใครแนวมัน ในคอมเมนต์ก็มีหลายคนบอก อยากให้มีร้านที่เล่นกับลูกค้าแบบนี้เยอะๆ ไม่อยากให้มีแต่ร้านที่เข้าไปแล้ว พ่อค้าแม่ค้าหน้าบูดอย่างเดียว”

ร้านบุญสอาด

สุดท้ายนี้ ถามคุณป๊อปว่าประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง

“ถ้าประสบความสำเร็จในเรื่องหน้าที่การงาน ผมว่า ยังเรียกได้ไม่เต็มปาก ยังมีสิ่งที่ต้องพัฒนาปรับเปลี่ยน ถ้าเราอยู่กับที่คิดว่าตรงนี้ดีแล้ว แต่โลกไปข้างหน้า เท่ากับเราถอยหลัง จุดแก้ไขของผมยังมีอีกเยอะ เช่น ส่งของช้า ผมรับคำตินะ เอามาปรับปรุง หรือเรื่องการใช้ไฟ เพราะของสดของผมใส่ตู้แช่ ค่อนข้างกินไฟ จ่ายไม่ไหว ก็มีแผนจะติดโซลาร์เซลล์

แต่ถ้าประสบความสำเร็จในการมีความสุขในชีวิตประจำวัน ในการใช้ชีวิต ผมว่า ผมโอเคเลย พ่อก็แฮปปี้ เห็นเราอยู่รอดในยุคนี้”

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566