สานต่อภูมิปัญญาไทย! ต่อยอด ผ้าไหม ด้วยงานวิจัย สู่ ผ้าไหมยีนส์

สานต่อภูมิปัญญาไทย! ต่อยอด  ผ้าไหม ด้วยงานวิจัย สู่ ผ้าไหมยีนส์ เตรียมยกระดับการผลิตเชิงอุตสาหกรรม

สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมดี มากมีปราสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม พร้อมวัฒนธรรม คำขวัญของจังหวัดสุรินทร์ ที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ได้เป็นอย่างดี

เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ มีโอกาสได้ สัมภาษณ์ สองสามีภรรยา คุณอาทร แสงโสมวงศ์ และคุณทัศนีย์ สุรินารานนท์ เจ้าของกิจการ เรือนไหม-ใบหม่อน จังหวัดสุรินทร์ ผู้หยิบยกเอา ผ้าไหม สินค้าพื้นถิ่นมาต่อยอดเพิ่มมูลค่า เป็น ผ้าไหมยีนส์ เพื่อเจาะตลาดคนรุ่นใหม่

คุณอาทร แสงโสมวงศ์ และคุณทัศนีย์ สุรินารานนท์ เจ้าของกิจการ เรือนไหม-ใบหม่อน จังหวัดสุรินทร์

โดยทั้งคู่ช่วยกันเล่าว่า ก่อนจะมาทำธุรกิจ เรือนไหม-ใบหม่อน คุณทัศนีย์ได้ทำธุรกิจรับทำจิวเวลรี่มาก่อน ส่วนคุณอาทรก็ทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนในกรุงเทพฯ แต่ครอบครัวของทั้งคู่ก็ทำอาชีพทำนา ทำหม่อนไหม รวมถึงรับซื้อเส้นไหมเพื่อส่งให้โรงงานทอ ซึ่งก็วนเวียนอยู่ในวงการเดียวกันทั้งหมู่บ้าน

กระทั่งอายุเยอะขึ้น ผนวกกับหลายๆ ปัจจัย ทั้งคู่ก็พาครอบครัวเล็กๆ กลับมาที่บ้านเกิด ซึ่งก็คือจังหวัดสุรินทร์ และมาจับงานสานต่อกิจการครอบครัว เมื่ออยู่ไปได้สักพักก็เล็งเห็นกันว่า ปริมาณการผลิตเส้นไหมธรรมชาติลดลงอย่างน่าตกใจ เพราะช่วงเวลานั้น ชาวบ้านเลือกซื้อเส้นไหมสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมมาใช้แทน ส่งผลให้การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมนั้นลดลง ทั้งคู่จึงกลับมาย้อนคิดและอยากรักษาอาชีพบรรพบุรุษให้คงอยู่ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ ธุรกิจผ้าไหมแบบครบวงจร เรือนไหม-ใบหม่อน นั่นเอง

“อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ที่เป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ มันจะหายไปแล้ว จนปี 2530 ก็คิดกันว่า เราจะมาเริ่มลงมือทำให้มันเติบโตขึ้นดีกว่า เลยเกิดเป็นร้าน เรือนไหม-ใบหม่อน โดยเรามีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้มันครบวงจร คือขึ้นมาถึงต้นน้ำตั้งแต่การเลี้ยงหม่อน เอาใบมาเลี้ยงตัวไหม มาทำเส้นไหม และขยายไปเรื่อยๆ และมีการทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อให้อาชีพนี้มันยังคงอยู่ เพราะคนสุรินทร์ส่วนใหญ่ ยังทำนากันอยู่ การทอไหมเป็นอาชีพเสริม ซึ่งทุกวันนี้ ชาวบ้านที่เราร่วมงานด้วยก็มีกว่า 400 ครัวเรือน”

“นอกจากทำตั้งแต่ต้นน้ำ เราก็ทำทั้งกลางน้ำ ปลายน้ำ รวมถึงนำวัตถุดิบที่ไม่ได้ใช้ในขั้นตอนการทำเส้นไหมอย่าง ตัวดักแด้ มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งมันเป็นไอเดีย Zero Waste ที่เราทำมา 10 กว่าปีแล้ว เพื่อไม่ให้วัตถุดิบจากการทำไหมเหลือทิ้งเลย ช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด แม้กิจการไม่ได้คล่องตัวเหมือนเมื่อก่อน แต่เราก็สามารถประคับประคองกันมาได้”

นอกจากนั้น ทั้งคู่ยังอยากใช้ผลิตภัณฑ์หลัก อย่าง ผ้าไหม เจาะตลาดวัยรุ่น จึงมีการเข้าร่วมอบรมหลักสูตรกับทางหน่วยงานต่างๆ จนตกตะกอนเกิดเป็นไอเดียนำผ้าไหมมาเพิ่มมูลค่าขึ้นไปอีกขั้น ทำเป็น ผ้าไหมยีนส์

“เราก็ไปเข้าโครงการของรัฐ แล้วเขาก็มีพูดเรื่องการตลาดเกี่ยวกับผ้าไหม ซึ่งพบว่า กลุ่มคนที่อายุน้อยกว่า 30 ปี จะรู้สึกว่า ผ้าไหมเป็นสินค้าสำหรับคนแก่ใช้ เลยไม่มีความสนใจที่จะใช้ มันทำให้เราเอากลับมาคิดและเกิดเป็นไอเดียว่า จะทำยังไงให้ดึงคนกลุ่มนี้ ให้หันมาสนใจผ้าไหม เราสองตายายเลยไปเสิร์ชกันว่า ผ้าอะไรที่วัยรุ่นชอบ แล้วเป็นผ้าที่อยู่ได้นานๆ จนไปเจอว่ามันคือ ผ้ายีนส์ ซึ่งมันมีอยู่มาได้กว่า 2 พันปีแล้วนะ ผนวกกับทางกลุ่มมีองค์ความรู้เรื่องการย้อมครามอยู่แล้ว จึงเอามาประยุกต์เข้ากันกับไหม เกิดเป็น ผ้าไหมยีนส์ ขึ้น เพื่อให้คนรุ่นใหม่ๆ เกิดความสนใจกับผ้าไหมมากขึ้น สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวันและใช้ได้ทุกวัน”

เรือนไหม-ใบหม่อน จึงกลายเป็นผู้ประกอบการไทยเจ้าแรกที่ทำผ้าไหมยีนส์ โดยมีการจดอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่ปี 2561

“หลังจากได้อนุสิทธิบัตรแล้ว ก็มีการคุยกับอาจารย์เรื่องการตลาดที่เรารู้จักว่า จะทำการตลาดยังไง เพราะต้องออกตัวแบบทีเดียวดังเลย ไม่งั้นจะโดนก๊อบได้ แต่เราไม่มีบุคลากรทางด้านแฟชั่น ที่จะมาจับมือทำงานกับเรา เราจึงคิดกันว่า งั้นเราจะซัพพอร์ตเรื่องวัตถุดิบให้ ก็คือทำเป็น ผ้ายีนส์ผืนๆ ให้ ถ้าคุณถูกใจก็ซื้อไปแล้วเอาไปหาดีไซเนอร์หรือหาร้านตัดเองได้ตามใจชอบ”

ยีนส์จากไหม ต่างจาก ยีนส์ปกติ คือ เส้นไหมน้ำหนักเบากว่า ใส่แล้วไม่หนัก ทั้งยังมีคุณสมบัติแอนตี้แบคทีเรีย ใส่แล้วแขวนข้ามคืน โดยไม่ซัก ก็จะไม่มีกลิ่นเหม็น ทั้งยังสามารถช่วยถนอมผิวได้ด้วยเพราะเส้นไหมมีโปรตีนช่วยกันยูวีได้เช่นกัน

“ปกติ ผ้าไหมพื้นๆ ถ้าเป็นย้อมแบบสีเคมี เราขายกันที่ราคา 500 บาทต่อเมตร แต่ถ้าย้อมสีธรรมชาติ ก็ราคา 1,000 บาทต่อเมตร แต่ผ้าไหมยีนส์ ด้วยความที่มันหนักกว่า ใช้ไหมเยอะกว่า ราคาจึงเพิ่มขึ้นมา ซึ่งเราก็ตั้งราคาโดยประมาณไว้ที่ 1,800 บาทต่อเมตร ซึ่งก็มีคนมาซื้อไปให้ห้องเสื้อดังๆ ตัดเหมือนกัน ตามที่ได้รับทราบมา แต่ก็ยังอยู่ในช่วงแรกของการทำ เลยยังไม่ค่อยเสถียรเท่าไหร่ในเรื่องของรายได้”

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ ruenmaii.com

ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จาก วัตถุดิบเหลือใช้จากการผลิตเส้นไหม
ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จาก วัตถุดิบเหลือใช้จากการผลิตเส้นไหม
โล่รางวัลต่างๆ

เส้นไหม สีย้อมธรรมชาติ
เส้นไหม สีย้อมเคมี

เผยแพร่เมื่อ วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2565