อาหารแปรรูป อยากได้ อย. ไม่ยากอย่างที่คิด!

แฟ้มภาพ

เป็นที่ยอมรับกันโดยกว้างขวาง สำหรับปัญหาของ SMEs ไทย ในการขยายตลาดสู่ต่างประเทศ นั่นคือ เรื่องของมาตรฐานสินค้า โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม

เมื่อไม่นานนี้ ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จึงได้มอบนโยบายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ร่วมมือกัน ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ไทย  ให้มีศักยภาพมากขึ้น

ทางหน่วยงานหลัก อย่าง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. จึงได้จับมือกับพันธมิตร 4 องค์กร ได้แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกันผลักดันให้ SMEs ไทย เข้าสู่ระบบมาตรฐาน อย. GMP (จีเอ็มพี) เพื่อขยายฐานการตลาดสู่ประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาคอื่นได้อย่างเป็นระบบ

จากข้อมูลการบรรยายในหัวข้อการอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอกการ ซึ่งจัดขึ้นจากความร่วมมือของสสว.กับพันธมิตร  ในหัวข้อ  “ทำอย่างไรถึงจะได้ อย.”

โดยคุณสมชาย โกมลยิ่งเจริญ ที่ปรึกษาสำนักอาหาร อย. ให้ข้อมูลว่า  สินค้าที่จำเป็นต้องได้รับเครื่องหมาย อย. นั้น ประกอบไปด้วย อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง-สปา และยา  ซึ่งในที่นี้ จะขอเจาะลงไปที่ กลุ่ม “อาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย” เป็นอันดับแรก เนื่องจาก มีผู้ประกอบการที่มีศักยภาพยื่นขอมาตรฐานอย.ไว้แล้วจำนวนหลายร้อยราย

สำหรับ อาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย นั้น   คือ อาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูป เช่น ตัดแต่งในลักษณะที่นำไปปรุงหรือบริโภค คั่ว ทำให้แห้ง หมักดอง เป็นต้น หรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะของอาหารหรืออาหารที่ผ่านกระบวนการผลิตเรียบร้อยแล้ว และบรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่ายต่อผู้บริโภค

ซึ่งอาหารกลุ่มดังกล่าว เหล่านี้ต้องปฏิบัติตาม “มาตรฐาน Primary GMP” ก่อน จากนั้นจึงดำเนินการขอเลข อย.

สำหรับ มาตรฐาน Primary GMP นั้น เป็นหลักเกณฑ์วิธีการที่ดี ในการผลิตอาหาร ซึ่งเริ่มต้นได้ไม่ยาก ประกอบด้วย 6 หมวด สำคัญ คือ

หมวดที่ 1 สถานที่ตั้งและอาคารผลิต ต้องสะอาด ไม่สะสมสิ่งปฏิกูล ไม่มีน้ำขังแฉะสกปรก สามารถป้องกันสัตว์และแมลงเข้าสู่บริเวณหรือสัมผัสกับอาหาร

หมวดที่ 2 เครื่องมือและอุปกรณ์ในการผลิต ต้องง่ายแก่การทำความสะอาด ไม่เป็นสนิม

หมวดที่ 3 การควบคุมกระบวนการผลิตตั้งแต่วัตถุดิบจนถึงภาชนะบรรจุ มีการคัดเลือกและควบคุม พร้อมทั้งมีการเก็บรักษาอย่างเหมาะสม

หมวดที่ 4  การสุขาภิบาล ต้องมีการจัดการที่ดี เช่น น้ำที่ใช้ ในสถานที่ผลิตต้องเป็นน้ำสะอาด มีวิธีกำจัดขยะที่เหมาะสมและมีการทำความสะอาดที่ดี เป็นต้น

หมวดที่ 5  การบำรุงรักษาและการทำความสะอาด โดยมีการทำความสะอาดและบำรุงรักษาอาคารสถานที่ เครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์การผลิตอย่างเหมาะสม สามารถทำงานได้เที่ยงตรงตลอดเวลา

หมวดที่ 6 บุคลากรและสุขลักษณะผู้ปฏิบัติงาน ต้องไม่เป็นโรคติดต่อ หรือโรคที่น่ารังเกียจ หรือพาหะของโรค สวมเสื้อผ้าสะอาด มีการรวมหมวกตาข่ายหรือผ้าคลุม สวมรองเท้าที่ใช้ในสถานที่ผลิต เป็นต้น

ด้าน คุณสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการ สสว. เผยว่า การร่วมกับทางอย. และพันธมิตร  เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ ให้มีความสามารถ ในการยื่นขอ อย.ได้อย่างถูกวิธี ครั้งนี้ จะมีการจัดส่งผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท ห้องปฏิบัติการกลางฯ ลงตรวจสถานประกอบการ เพื่อให้คำแนะนำด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์และวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์

หากพบปัญหา ต้องมีการปรับปรุงสถานประกอบการ ให้ผ่านมาตรฐาน ก็จะร่วมกับทางธนาคารพัฒนาวิสาหกิจฯ ให้บริการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อดำเนินการปรับปรุงโดยเร็ว นอกจากนี้ ทางสสว. ยังช่วยสนับสนุน ลดภาระค่าตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ ด้วยคูปอง OSMEP Voucher มูลค่า 5,000 บาท ฟรี เพื่อใช้ตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ และเพื่อประกอบคำขออย. หรือนำไปจัดทำเป็นมาตรฐานฉลากโภชนาการ สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม

ผู้ประกอบการ ท่านใดที่สนใจเข้าร่วมโครงการ “ประเมินศักยภาพในการแข่งขันของ SMEs (มาตรฐาน อย.) “ ภายใต้ความร่วมมือ ครั้งนี้ สามารถสมัครได้ที่หน่วยงานพันธมิตร ทั้ง 4 หน่วยงาน

หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สสว. โทร,1301 ต่อ 3084 ติดต่อ คุณศิวาพร อรุณเรื่อ ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจ SMEs (ออนไลน์)