“ทำน้อย ได้มาก” แนวคิดการทำงานแบบ เข้าใจพนักงาน รู้ไหม ได้ผลลัพธ์ดีกว่าที่คิด

“ทำน้อย ได้มาก” แนวคิดการทำงานแบบ เข้าใจพนักงาน รู้ไหม ได้ผลลัพธ์ดีกว่าที่คิด

เชื่อมั้ยว่า…ถ้าเราทำงานน้อยลง ประสิทธิภาพจะเพิ่มขึ้น มีรายงานที่น่าสนใจจาก tech.co ซึ่งรายงานโดย Conor Cawley เมื่อ 14 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับบริษัทที่เลือกทำงานแค่ 4 วันต่อสัปดาห์ แต่กลับมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ทั้งยังส่งผลต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต ของพนักงาน และผลประกอบการด้วย นี่มันคือการ “ทำน้อย ได้มาก” ชัดๆ

ผลการศึกษาของ David Frayne แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ที่พบว่า บริษัทชั้นนำของโลกหลายแห่ง หันมาเลือกใช้แนวทางการทำงานแบบ 4 วันต่อสัปดาห์ แทนที่การทำงานแบบทั่วไป 5 วันต่อสัปดาห์ พบว่า ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น เวลาลดลง แต่เป้าหมายงานยังคงเดิม พนักงานกระตือรือร้นมากขึ้น ทำเสร็จตามเป้าหมาย ด้วยสภาพจิตใจที่ดีกว่า ถ้าสุขภาพใจดี แน่นอนว่าสุขภาพกายดีตามไปด้วย

แล้วบริษัทที่ใช้แนวทางนี้ ไม่ใช่ยกเมฆว่าใหญ่ระดับโลกนะ หลายบริษัทเรารู้จักกันดีอยู่แล้ว เช่น Amazon, Microsoft, Panasonic, Samsung, Toshiba ฯลฯ สิ่งนี้อาจตรงกับพฤติกรรมคนเจเนอเรชันใหม่ ที่เรื่องของ Work Life Balance สำคัญยิ่งชีพ ต่างจากคนรุ่นดึกแบบ Baby Boomer หรือ Gen X ที่มุ่งมั่นทำงานแบบพร้อมขาดใจตายในหน้าที่ แต่คน Gen Z ไม่ใช่เช่นนั้น

งานก็ต้องทำ แต่ชีวิตก็ต้องใช้ หากไม่ค่อยได้ใช้ชีวิต เลิกทำงานง่ายกว่า การได้ออกไปใช้ชีวิตในทิศในทางที่อยากทำ เหมือนการชาร์จแบต ยิ่งชาร์จบ่อย ยิ่งดี มีพลังงานสะสมมากอยู่ตลอดเวลา

ถ้าเราเป็นบริษัทที่มองคนรุ่นใหม่อย่างเข้าใจ เรื่องการสร้างสมดุลระหว่างงานและการชีวิตอย่างที่ต้องการ อาจต้องมาพิจารณาถึงเรื่องเล็กๆ ที่ส่งผลใหญ่ อย่างเรื่องเวลาการทำงาน รวมไปถึงสถานที่ทำงาน วิธีการทำงาน ที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยมุ่งที่ผลลัพธ์ของงานเป็นสำคัญ

บริษัทไหนที่มีฝ่ายทรัพยากรบุคคลใช้แนวคิดแบบเดิมๆ มุ่งแต่จ้องวันป่วยลามาสาย แล้วมองว่านั่นเป็นสิ่งสำคัญในการประเมินพนักงาน โดยไม่นำปัจจัยอื่นๆ มาร่วมพิจารณา พยากรณ์ได้เลยครับว่า บริษัทนั้นอัตราการออกของพนักงานจะสูงตาม เว้นแต่มีพนักงานรุ่นดึกอยู่เยอะ พวกนี้ไม่กล้าลาออก ไม่รู้จะไปทำอะไร ส่วนคนรุ่นใหม่ๆ เผ่นหนีหมด

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราเคยชินกับการทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ บางบริษัทคิดว่าจ้างแล้วต้องเอาให้คุ้ม ทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ซะเลย แล้วก็ไม่คิดจะขยับปรับเปลี่ยน ไม่กล้าลองลดวันทำงานลง เพราะมัวห่วงแต่คุ้มหรือไม่คุ้ม ทั้งที่ไม่เคยทดลองทดสอบประสิทธิภาพอย่างจริงจัง

ผมเองเคยอยู่ในบริษัทที่ต้องทำงาน 5 วันครึ่งต่อสัปดาห์ คือ วันเสาร์ทำงานครึ่งวัน ผมนี่หงุดหงิดเลยครับ เพราะอีกครึ่งวันที่เหลือแทบไร้ประโยชน์ จะวางแผนไปเที่ยวไหนก็ลำบาก จะทำกิจกรรมอะไรก็ครึ่งๆ กลางๆ วันอาทิตย์หยุดวันเดียว วันจันทร์มาทำงานอีกแล้ว เหมือนกับวันอาทิตย์ผ่านไปเร็วจนตั้งตัวไม่ทัน

ผมเลยใช้วิธีไปนั่งคุยกับพนักงานแต่ละแผนก ด้วยการโยนแนวคิดว่า แทนที่เรารีบกลับบ้านตอน 5 โมงเย็น ที่รถกำลังติดสาหัส เราทำงานต่ออีกชั่วโมงดีมั้ย แต่วันเสาร์ไม่ต้องมาทำงาน ปกติบริษัททำงาน 8 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น ก็ขยับเวลาเพิ่มไปวันละ 1 ชั่วโมง เป็นเลิก 6 โมงเย็น ขณะที่วันเสาร์ทำครึ่งวันแค่ 3 ชั่วโมง ถ้าเปลี่ยนมาทำแบบนี้ บริษัทได้กำไรอีกสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมงเลยนะ

พอพบว่าพนักงานส่วนใหญ่เห็นดีเห็นงามกับแนวคิดนี้ ผมก็เอาไอเดียไปคุยเจ้านาย และขอท้าทายด้วยการทดลองกันสัก 3 เดือน แล้วผมจะสรุปข้อมูลให้รู้ ถ้าไม่ดีกว่า ก็ทำ 5 วันครึ่งตามเดิม ข้อมูลที่ผมใช้อ้างอิงคือ การเปรียบเทียบค่าใช้จ่าย น้ำ ไฟ โทรศัพท์ และข้อมูลจากแต่ละแผนกในเรื่องผลสำเร็จของงานตามเป้าหมายว่าดีกว่าเดิม หรือเลวกว่าเดิม

หลังจาก 3 เดือนผ่านไป ข้อมูลที่ผมสามารถนำเสนอได้ คือ ประสิทธิภาพของการทำงานไม่ได้เลวร้ายไปกว่าเดิม บางแผนกดีขึ้นด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่ชัดเจนในเชิงตัวเลข ค่าน้ำ ค่าไฟ ลดลง และที่ลดมากกว่าในอัตราที่นึกไม่ถึง คือ “ค่าโทรศัพท์”

วันเสาร์ครึ่งวันที่มาทำงาน ใจไม่ได้มาด้วย ใจไปอยู่ที่ห้างบ้าง ใจไปเที่ยวบ้าง ที่ว่ามาทำงาน กลายเป็นมานั่งๆ หรือครึ่งนั่งครึ่งนอน คุยโทรศัพท์ฟรีกันสบายใจ ไฟก็ต้องเปิด น้ำก็ต้องใช้ จากข้อมูลเหล่านี้ เจ้านายก็ไฟเขียว อนุมัติเปลี่ยนการทำงานอย่างถาวรเป็นสัปดาห์ละ 5 วัน โดยแต่ละวันเพิ่มเวลาจากเลิก 5 โมงเย็น เป็น 6 โมงเย็น ตามเสนอ แล้วทุกคนก็มีความสุขร่วมกัน

หลังจากโควิดเป็นต้นมา หลายบริษัทเริ่มค้นพบว่า Work at Home ไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพของงาน รวมถึงผลลัพธ์ที่ต้องการลดลง บริษัทเหล่านั้นก็เปิดโอกาสให้พนักงานสามารถทำงานที่บ้านได้ แต่ก็ใช้วิธีแบบเจอกันคนละครึ่งทาง ในแต่ละสัปดาห์ ต้องมีทั้งเข้ามาทำงานในออฟฟิศ และอนุญาตให้ทำงานที่บ้านได้ 1-2 วัน แล้วแต่นโยบาย

แต่ก็มีหลายบริษัท ยังใช้ความคิดดั้งเดิม มองว่าพนักงานชอบอู้งาน ยึดเอาป่วย ลา มาสาย เป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาผลงานพนักงาน แต่กลับไม่ค่อยพิจารณาจาก “ผลงาน” จริงๆ

ตามกฎหมายแรงงาน เขาก็มีการกำหนดสิทธิ์ของผู้ใช้แรงงานว่า ลาป่วย ลากิจ ลาพักร้อน ได้เท่าไหร่ต่อปี โดยส่วนตัวผมเกลียดมาก กับการที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่ชอบถามว่าไปไหน ไปทำอะไร เพราะวันลาเป็นสิทธิ์ แต่คำถามเหล่านั้น คือ “สอดรู้”

องคาพยพของธุรกิจ มีหลายอย่างที่ข้องเกี่ยวสัมพันธ์กัน “พนักงาน” เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ และควรได้รับความสำคัญเป็นอันดับต้นที่สุด แผนการตลาดจะเลอเลิศ เงินทุนจะมากมาย ทรัพยากรมีไม่อั้น คงไร้ค่า ถ้าพนักงานซังกะตาย

ลองเปิดใจ แล้วเปลี่ยนแนวคิด ทำงาน ก็วัดผลกันด้วยผลลัพธ์ของงานเป็นหลัก ส่วนเวลาการทำงาน ทดลองได้ครับ ตามแนวทางที่บริษัทระดับโลกเขาทำกัน ไม่ดีก็ยกเลิกเท่านั้นเอง บางทีลองแล้วอาจได้พบสัจธรรมใหม่… “ทำน้อย…แต่ได้มาก”