เสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการ : วิกฤตแรงงาน ปัญหาใหญ่กระทบผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดกลาง

เสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการ : วิกฤตแรงงาน ปัญหาใหญ่กระทบผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดกลาง
เสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการ : วิกฤตแรงงาน ปัญหาใหญ่กระทบผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดกลาง

วิกฤตแรงงาน ปัญหาใหญ่กระทบผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดกลาง

ปัจจุบันผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดกลาง กำลังประสบปัญหาแรงงานด้านบริการ เนื่องจากมีความต้องการด้านแรงงานสูง รวมไปถึงการเรียกร้องค่าแรงและสวัสดิการ ทำให้ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นตามมา นอกจากนี้ ความคึกคักของธุรกิจร้านอาหาร ทำให้ร้านอาหารแบรนด์ใหญ่ต่างเปิดสาขาใหม่ เปิดแบรนด์ลูกกันอย่างต่อเนื่อง และด้วยความที่เป็นแบรนด์ใหญ่ก็จะมีอำนาจในการจัดการเรื่องค่าแรงและสวัสดิการ สูงกว่าผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดกลาง จนกลายเป็นปัญหาทำให้ไม่สามารถจัดจ้างแรงงานได้ตามที่ต้องการ

เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดกลางบางส่วนที่กำลังประสบปัญหาดังกล่าว ซึ่งมองว่าถ้าหากไม่รีบทำการแก้ไข ปัญหานี้จะสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ จนผู้ประกอบการไม่อาจแบกรับไหว

จำนวนร้านอาหารที่มีเพิ่มมากขึ้น

ผู้ประกอบการร้านอาหารได้บอกกับเราว่า ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลังยุคโควิด มีร้านอาหารเปิดเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารขนาดเล็ก ร้านอาหารขนาดกลาง รวมไปถึงบรรดาแบรนด์ใหญ่ๆ ที่ลงมาเล่นตลาดร้านอาหารอย่างเต็มตัว ด้วยการเปิดแบรนด์ร้านอาหารในเครือเพิ่มขึ้นอีกหลายร้านหลายสาขา ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ายุคใหม่ ที่เบื่อง่าย และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดความต้องการทางด้านแรงงาน และมีการแข่งขันที่สูงขึ้นตามมา

แม้ค่าแรงขั้นต่ำจะอยู่ที่ 330-370 บาท/วัน แต่แรงงานร้านอาหารถือว่าเป็นแรงงานที่มีทักษะ โดยตำแหน่งเสิร์ฟและบริการ ค่าแรงจะอยู่ที่ประมาณ 450 บาท/วัน ส่วนรายเดือนในตำแหน่งเสิร์ฟและบริการจะจ่ายอยู่ที่ประมาณ 12,000–14,000 บาท/เดือน แต่ล่าสุดในตำแหน่งเสิร์ฟและบริการของแบรนด์ร้านอาหารขนาดใหญ่มีการให้เงินเดือนสูงถึง 16,000 บาท/เดือน ซึ่งเป็นราคาที่ร้านอาหารขนาดกลางอาจไม่สามารถจ่ายได้ เพราะจะทำให้สูญเสียสภาพคล่อง กลายเป็นผลกระทบเรื่องแรงงานที่เกิดขึ้นโดยตรงกับผู้ประกอบการ

แรงงาน ปัจจัยสำคัญที่ยากในการควบคุม

ค่าแรงของพนักงานร้านอาหารจะขึ้นอยู่กับความสามารถ แต่ละตำแหน่งก็จะมีเรตในการจัดจ้างที่แตกต่างกันออกไป มีทั้งในรูปแบบรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน แต่ด้วยจำนวนร้านอาหารที่มีมากขึ้น ทำให้ตัวเลือกของแรงงานมีเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน แต่ร้านอาหารขนาดกลาง ไม่ได้มีกำลังมากพอในการใช้ค่าแรงดึงดูดพนักงานให้มาทำงานด้วย ไม่ได้มีเซอร์วิสชาร์จให้กับพนักงาน รวมไปถึงสวัสดิการสิทธิวันลาที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ปัจจัยดังกล่าวได้กลายเป็นข้อต่อรองสำคัญในการทำงาน เพราะพนักงานก็ต้องการตัวเลือกที่ดีที่สุด รวมไปถึงการยืนระยะในการทำงานก็จะลดน้อยลง เพราะมีตัวเลือกใหม่ๆ ที่ดีกว่ามาเป็นตัวเลือก ซึ่งถ้าพนักงานที่มีอยู่เดิมลาออก ก็ต้องรับพนักงานเข้ามาใหม่ นับหนึ่งใหม่ เรียนรู้กันใหม่ตั้งแต่ต้น ซึ่งการเทรนพนักงานจนเชี่ยวชาญนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่พอเทรนได้แล้วก็มักจะอยู่ได้ไม่นาน กลายเป็นวงจรที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ก็ยากต่อการควบคุม ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ขึ้นค่าแรงให้พนักงาน อาจไม่ใช่ทางออกเสมอไป

การขึ้นค่าแรงเพิ่มค่าจ้าง อาจเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดให้พนักงานตัดสินใจอยู่ทำงานต่อ ไม่ย้ายหนีไปไหน แต่ก็เป็นการเพิ่มคอสต์ในการจัดจ้าง โดยอาจสร้างผลกระทบให้กับส่วนอื่นตามมา เช่น การขึ้นราคาอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ร้านอาหารพยายามหลีกเลี่ยงมากที่สุด เพราะเป็นการส่งต่อผลกระทบทางตรงไปยังลูกค้า และอาจสร้างผลกระทบโดยภาพรวมของธุรกิจทั้งหมดเลยก็ว่าได้ ดังนั้น เจ้าของกิจการจึงมักพยายามบาลานซ์สิ่งเหล่านี้ให้ดีที่สุด แต่ก็ถือได้ว่าเป็นโจทย์ที่มีความยากมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน

ใจแลกใจ ทางออกในการยืดอายุพนักงาน

ปัจจุบันผู้ประกอบการส่วนมากจึงได้หาทางออกด้วยการกำหนดอนาคตร่วมกันกับพนักงาน ช่วยกันวางแผน กำหนดรูปแบบการทำงาน เพื่อทำให้พนักงานเกิดความสบายใจมากที่สุด รวมไปถึงการบอกเล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในการประกอบกิจการ ให้พนักงานได้รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งในการเติบโต พร้อมที่จะโต พร้อมที่จะฝ่าฟันปัญหาไปด้วยกัน นอกจากนี้ ยังมีการจัดสรรวันหยุดเพิ่มเติม เช่น ปกติหยุดสัปดาห์ละ 1 วัน ก็เพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 5-6 วัน เพื่อให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรือมีค่าอาหารกลางวันเพิ่มให้นอกเหนือจากเงินเดือนที่ได้รับ แต่ก็ไม่สามารถใช้ได้เสมอไป ไม่สามารถแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้ เพราะในท้ายที่สุดแล้ว เงินคือปัจจัยสำคัญที่สุดในการใช้ชีวิต เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก นอกจากทำใจจำยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น

ต้องการให้ภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วม

ดังนั้น ทางออกที่สามารถช่วยผู้ประกอบการได้จริง น่าจะอยู่ที่การเข้ามามีส่วนร่วมของภาครัฐให้มีความชัดเจนมากขึ้น เพราะผลกระทบเริ่มกระจายไปในวงกว้าง อาจจัดการประชุมจัดเสวนาเพื่อหาทางออกร่วมกันกับผู้ประกอบการ หรือจับมือกับสถาบันการศึกษา สถาบันอาชีพ เสริมหลักสูตรให้เน้นเรื่องการปฏิบัติงานจริงมากขึ้น ลดเวลาเรียนในห้องเรียน เน้นเรื่องการฝึกงาน กระจายแรงงานเข้าสู่ตลาด เป็นทางออกที่อยากให้ทางภาครัฐพิจารณา เพื่อให้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้รับการแก้ไขก่อนที่จะลุกลามมากไปกว่านี้