ยางราคาตก คนไม่มีงานทำ เร่งช่วยพัฒนาอาชีพ สร้างงานคราฟต์ โดนใจ

ยางราคาตก คนไม่มีงานทำ เร่งช่วยพัฒนาอาชีพ สร้างงานคราฟต์ โดนใจ

การพัฒนาอาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มงานฝีมือ คุณสมบัติที่คนทำงานด้านนี้ต้องมี คือ ‘ความชอบ’ และคุณลักษณะอีกประการที่สำคัญ คือ ‘ความอดทนมุ่งมั่นทุ่มเทในการฝึกฝน’ จึงจะได้งานฝีมือที่ทรงคุณค่า หรืองาน Handmade หรือที่ในปัจจุบันเรียกว่า ‘งานคราฟต์’

บ้านทุ่งใน ชุมชนที่อยู่ในรอยต่อของอุทยานแห่งชาติเขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช อาชีพหลักของชาวบ้าน คือ ทำการเกษตร หลักๆ คือ ปลูกยาง ต้นทุนสำคัญ คือ ทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย หนึ่งในนั้น คือ ต้นคลุ้ม ที่เป็นวัตถุดิบชั้นดีสำหรับทำเครื่องจักสาน สินค้าหัตถกรรมที่โดดเด่นของชุมชนออกสู่ท้องตลาด

เมื่อยางราคาตก และชาวบ้านไม่มีรายได้อย่างอื่น จึงพยายามรวมกลุ่มเพื่อเรียนรู้การทำงานจักสานและมีการจัดตั้งกลุ่มมาแล้ว 2 ปี แต่กลับพบว่าสมาชิกส่วนใหญ่ ยังไม่มีความเชี่ยวชาญในการจักสาน รวมถึงยังไม่มีตลาดรองรับงานหัตถกรรมในลักษณะนี้

“ก่อนโควิด มีโรงแรมทางภูเก็ต สั่งตะกร้าใส่ผลไม้ เขาจะเอาไปไว้ตามห้องพัก แต่ต้องถูกยกเลิก เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด” คุณชำนาญ พรมเพ็ชร หรือ ลุงผอม ปราชญ์ด้านการจักสานคลุ้ม บอก

แม้ออร์เดอร์จะถูกยกเลิกตามที่ลุงผอมบอก แต่หากมองให้ลึกลงไป หมายความว่า งานฝีมือของชาวบ้านที่นี่ ‘เข้าตา’ ผู้บริโภคผู้นิยมชมชอบงานฝีมือของชาวบ้าน และในขณะที่งานฝีมือยังไม่นิ่ง วิกฤตโควิด-19 ที่หลายคนตกงานกลับมาบ้าน การพัฒนาฝีมือ เพื่อรองรับการกลับมาคึกคักของการท่องเที่ยว น่าจะเป็นอีกแนวทางที่จะทำให้ชาวบ้านทุ่งใน มีรายได้ในอนาคต

อาจารย์ลัดดา ประสาร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ เห็นว่านี่เป็นโอกาสที่จะเพิ่มทักษะ และพัฒนาฝีมือ รวมไปถึงการจัดการกลุ่มให้เข้มแข็งขึ้น ทั้งในเรื่องของการตลาดออนไลน์ บัญชีครัวเรือน และระบบการจัดการเรื่องวัตถุดิบ ผ่านการทำโครงการพัฒนาศักยภาพในการประกอบอาชีพจักสานคลุ้ม

เมื่อเป้าหมายโครงการคือ ‘การพัฒนาฝีมือ’ วิธีการคือให้สมาชิกทั้งหมดเริ่มนับหนึ่งพร้อมๆ กัน คือ การเริ่มต้นสาน ตั้งแต่การขึ้นโครง โดยการฝึกไปเรื่อยๆ จนเกิดความชำนาญ ซึ่งก็ทำให้เกิดข้อค้นพบ คือ การจักสานต้นคลุ้มนั้น ‘ไม่ง่าย’ เพราะ เป็นงานฝีมือที่คนทำต้องมีใจรัก และมีความอดทนมากพอ

วัตถุดิบที่ใช้สำหรับสานมาจากป่า ต้องผ่านหลายขั้นตอน คนเก็บคลุ้มต้องมีความรู้ และทักษะที่จะรู้ว่าอายุ และขนาดของคลุ้มที่เหมาะกับการนำมาจักสานอยู่ตรงไหน

และปัญหาที่ทางกลุ่มประสบ คือ ไม่สามารถผลิตผลิตภัณฑ์จักสานคลุ้ม ได้ทันกับความต้องการของตลาด ทำให้รายได้ของกลุ่มยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ รวมทั้งขาดแคลนสต๊อกวัตถุดิบเส้นคลุ้ม

รีดเส้นคลุ้ม

ทางกลุ่มแก้ปัญหาการขาดแคลนเส้นคลุ้ม ด้วยการนำงานผ้าเข้ามาเสริมในผลิตภัณฑ์ และปรับแต่งให้มีลวดลายที่เข้ากับผลิตภัณฑ์นั้นๆ โดยไม่สูญเสียอัตลักษณ์ของสินค้า

ขณะเดียวกัน อาจารย์ลัดดา วิเคราะห์ว่า ทางกลุ่มยังต้องมีการปรับฝีมือและทักษะการสานให้มีความประณีตยิ่งขึ้น เพราะหากมองในเรื่องของฝีมือ สมาชิกหลายคนยอมรับว่ายังต้องมีการปรับอีกเยอะโดยเฉพาะการขึ้นขอบ ที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญมากพอสมควร

“ฝึกได้ระยะหนึ่ง ก็พบปัญหาเดิม คือ คนที่ทำไม่เก่งก็อยู่ที่เดิม เลยคิดแก้ปัญหานำงานผ้ามาประยุกต์ใช้ แต่ก็ยังไปต่อไม่ได้ ยอมรับว่า ประเมินพลาดไป ชุมชนมีคนแก่เยอะ พออายุระดับนี้ เขามีอาชีพหลักที่มีความมั่นคงมีสวนมีที่ดินมีอาชีพ เสร็จจากตัดยาง ก็ไปทำหมากแห้ง หรือไปคัดเลือกผลไม้ต่อไม่มีเวลาว่างมาฝึกสาน”

แม้จะประสบปัญหาอยู่บ้าง แต่ทุกครั้งที่ทำกิจกรรม สมาชิกในกลุ่มมีส่วนร่วมในการทำงานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการไปตัดต้นคลุ้ม การทำบัญชีครัวเรือนของแต่ละคน รวมถึงการปลูกต้นคลุ้ม ในสวนยางพารา เพื่อทดแทนในส่วนที่ตัดออกมาทำจักสาน ภายใต้กระบวนการคิดที่ว่า เมื่อใช้ทรัพยากรจากป่า ต้องมีการปลูกทดแทนเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรและความสมดุลในระบบนิเวศให้ลูกหลานในอนาคต

อาจารย์ลัดดา ยังเล่าต่อว่า กิจกรรมที่นำมาทำกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ยังมีการถ่ายทอดเรื่องราวจากคนเฒ่าคนแก่สู่เด็กๆ เยาวชน ด้วยการทำแผนที่ชุมชน เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ในคน 3 เจเนอเรชั่น ด้วยการจัดแรลลี่มอเตอร์ไซค์เล็กๆ โดยกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ เพื่อประชาสัมพันธ์กลุ่มวิสาหกิจชุมชน โปรโมตสินค้า พร้อมกับเชิญชวนชาวบ้านเข้าร่วมกิจกรรม ทำให้คนในชุมชนรู้จักโครงการและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมากขึ้น

ตั้งใจ

นอกจากนี้ ยังมีการทำเรื่องบัญชีครัวเรือน เพื่อดูยอดรายรับรายจ่ายของแต่ละคน อาจารย์ลัดดา บอกว่า มีสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหลายคนที่ยอมรับตรงๆ ว่า ไม่ค่อยอยากเปิดใจในการทำมากนักและรู้สึกว่าเป็นเรื่องยาก แต่พอฟังแล้วได้ลองทำ ประกอบกับวิทยากรที่มาสอนใช้คำศัพท์ง่ายๆ ทุกคนกลับรู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สนุกและง่ายมาก

เมื่อถามถึงเป้าหมายของโครงการ อาจารย์ลัดดา นิ่งคิดไปครู่หนึ่ง พร้อมกับเอ่ยสั้นๆ ว่า อยากให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนมีความเข้มแข็งขึ้น ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ฝ่ายปกครอง คือ ผู้ใหญ่บ้าน สนับสนุนและให้ความร่วมมือในการทำงานจึงทำให้งานราบรื่น อาจเป็นเพราะเขาเห็นความตั้งใจจริงในการเข้ามาทำงานให้กับชาวบ้านในพื้นที่

“เห็นได้ชัดเจนว่า ภายหลังได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ชุมชนมีความเข้มแข็งขึ้นในระดับหนึ่ง ภารกิจหลายอย่างที่เราคิดว่าชาวบ้านทำเองไม่ได้ เขาก็ทำได้โดยเรียนรู้จากเรา เช่น การประสานวิทยากร การจองห้องในโรงแรมเพื่อจัดกิจกรรม การจองที่พัก การทำเพจ การขายออนไลน์ ตอนนี้อาจารย์ก็ถอยออกมาแล้ว เพื่อให้เขาได้แสดงศักยภาพของตัวเองในการทำงานในด้านต่างๆ และเชื่อว่าถ้าเราถอยออกมาแล้วเขาก็สามารถเดินไปได้ด้วยกลุ่มของเขาเอง”

คุณมนัสวี ชูแก้ว อายุ 38 ปี อาชีพเกษตรกร กลุ่มเป้าหมาย ที่รับหน้าที่ในการโพสต์ขายสินค้าหน้าเพจ เล่าด้วยความประทับใจว่า เธอได้เรียนรู้การขายออนไลน์และรู้สึกดีใจทุกครั้งที่โพสต์สินค้าไปแล้วมีคนเข้ามาสอบถามรายละเอียด เพราะนั่นหมายความว่าสิ่งที่เธอโพสต์ขายไปมีคนเห็นและสนใจในผลิตภัณฑ์

“ตอนแรกก็ไม่กล้าโพสต์ขายเอง แต่จะสังเกตและดูในสิ่งที่อาจารย์สอนให้ทำ สอนถ่ายรูป สอนการเขียนโปรโมตผลิตภัณฑ์ ตอนนี้ทำเอง โพสต์เอง หลังๆ อาจารย์เริ่มปล่อยให้คิดรูปแบบเอง ให้ใช้คำของเราเอง ขายเอง ดูแลรับออร์เดอร์ทางเพจเอง ซึ่งเราก็ทำได้ อาจจะเหนื่อยขึ้นมานิดหนึ่ง แต่รู้สึกภูมิใจมากว่าทำได้ มีคนให้ความสนใจในสินค้าของเรา” คุณมนัสวี บอก

ปัจจุบัน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์จักสานคลุ้มบ้านทุ่งใน มีความเติบโตชัดเจนคือ รูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย รวมทั้งคุณภาพของงานจักสาน มีมาตรฐานสวยงามมากยิ่งขึ้น  กลุ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น จากการทำงานสื่อสารการตลาดผ่านระบบออนไลน์ มีสมาชิกเข้าร่วมกลุ่มจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 5 คนเป็น 21 คนในปี 2563 และกำลังแจ้งความประสงค์เข้าร่วมอีกประมาณ 30 คน นอกจากนี้ มีสมาชิกที่สามารถจักสานได้เพิ่มขึ้นจาก 3 คนเป็น 8 คนในปัจจุบัน

โดยมีการวางแผนในการพัฒนาชุมชน พัฒนาช่องทางการตลาดให้สมาชิกในกลุ่ม สามารถเรียนรู้กระบวนการด้านการตลาดด้วยตนเอง ขณะนี้ผลิตภัณฑ์มีจำหน่ายทั่วไปและช่องทางออนไลน์ ทางเพจจักสานคลุ้มบ้านทุ่งใน และเว็บไซต์ www.tungnai.com

ผลงาน

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมีหลากหลายประเภทที่ได้รับความนิยม เช่น ตะกร้าใส่ของ สานประกอบเข้าด้วยลวดลายลูกขอเป็นหลัก เหมาะกับการเก็บข้าวของชิ้นเล็กชิ้นน้อย ตะกร้าใส่ผ้า ลวดลายนกเปล้า ตะกร้าใส่ผลไม้ สานด้วยลายนกเปล้า เพื่ออวดโชว์ตัวเนื้อผลไม้อย่างสวยงาม กระเป๋าใส่โทรศัพท์ มีเอกลักษณ์สวยงาม โคมไฟกรวย สวยด้วยสไตล์โดดเด่น ชุดเฟอร์นิเจอร์

เน้นการออกแบบตาม Product Positioning เผยความเป็นธรรมชาติอย่างลงตัว ไม้กวาด ผลิตจากดอกอ้อและคลุ้ม กระด้งมุ้งครอบ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ประยุกต์ระหว่างกระด้งและฝาชีสำหรับครอบปิดอาหาร กันแมลงหวี่แมลงวันได้อย่างดี เหมาะสำหรับใช้ตากอาหาร ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ขายดีอันดับหนึ่งของกลุ่มในปัจจุบัน

กระเป๋างานคราฟต์

สนใจโครงการพัฒนาศักยภาพในการประกอบอาชีพจักสานคลุ้ม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์ลัดดา ประสาร โทรศัพท์ 061-185-8689