มช. เปิดเวทีสัมมนา ยกระดับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้สักไทย ก้าวสู่ตลาดสากล

มช. เปิดเวทีสัมมนา ยกระดับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้สักไทย ก้าวสู่ตลาดสากล

วิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเวทีสัมมนาวิชาการ “ทิศทางและอนาคต เฟอร์นิเจอร์ไม้สักไทย” ในงาน “สภาสถาปนิก’19” ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ระดมผู้เชี่ยวชาญด้านการค้า นักออกแบบ และวิสาหกิจชุมชนเฟอร์นิเจอร์ไม้สักเมืองแพร่ แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้สักไทยก้าวสู่ตลาดสากล

ผศ.ดร.ณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ คณบดีวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “ทิศทางและอนาคตเฟอร์นิเจอร์ไม้สักไทย” ในงาน “สภาสถาปนิก´19”

ผศ.ดร.ณพศิษฏ์ กล่าวว่า การสัมมนาในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้ โครงการพัฒนาเมืองเฟอร์นิเจอร์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ดำเนินงานโดย วิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้สักของไทยทั้งในด้านคุณภาพ ราคา และช่องทางการจัดจำหน่ายสู่ตลาดสากล โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย ผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้จากประเทศอินโดนีเซีย ตัวแทนผู้นำเข้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์ไม้จากจีน ผู้แทนจากสมาคมไทยรับสร้างบ้าน ตลอดจนนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์อิสระและผู้แทนวิสาหกิจชุมชนเฟอร์นิเจอร์ไม้สัก จ.แพร่ นอกจากนี้ ยังจัดให้มีกิจกรรมการเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างวิสาหกิจชุมชนเฟอร์นิเจอร์ไม้สัก จ.แพร่ กับผู้ส่งออกและผู้ค้าเฟอร์นิเจอร์อีกด้วย



อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้สักของจังหวัดแพร่ นับเป็นผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาจากท้องถิ่นที่สืบทอดมายาวนานนับร้อยปี เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดที่รู้จักโดยทั่วไป เนื่องจากจังหวัดแพร่เคยเป็นแหล่งป่าไม้สักที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ปัจจุบันจังหวัดแพร่มีโรงงานอุตสาหกรรมไม้ ผลิตภัณฑ์จากไม้ เฟอร์นิเจอร์และเครื่องเรือน รวม 1,391 แห่ง คิดเป็นเงินลงทุน 1,295 ล้านบาท มีการจ้างงาน 11,824 คน และยังมีผู้รับจ้างรายย่อยกระจายอยู่ในเขตอำเภอสูงเม่นอีกราว 9,000 ครัวเรือน

ทั้งนี้ ประมาณการมูลค่าทางการค้าของอุตสาหกรรมอยู่ที่ประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำเฉลี่ย 3.5 ล้านบาทต่อโรงงานต่อปี ขณะเดียวกัน ยังพบปัญหาตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อาทิเช่น การลดลงของพื้นที่ป่าเศรษฐกิจทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบไม้ การขาดแคลนแรงงานในฤดูเพาะปลูก แรงงานขาดทักษะงานไม้ชั้นสูง ปัญหารูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่สอดคล้องความต้องการของตลาด รวมทั้งมีช่องทางการตลาดน้อย

ดังนั้น การจัดเวทีสัมมนาทางวิชาการในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ทุกภาคส่วนจะได้ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ไม้สักของวิสาหกิจชุมชน จ.แพร่ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่เหมาะสมผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ร่วมกันตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนไทย สู่ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นสะท้อนความเป็นไทย พร้อมทั้งมีการพัฒนาธุรกิจชุมชนให้มีการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของตลาดต่อไป