ที่มา | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ข้าวตราฉัตร เอาใจสายเฮลท์ตี้ ปั้นแบรนด์ข้าวเพื่อสุขภาพ กข43 ลงตลาด พ.ย. นี้
ข้าวตราฉัตร เผยผลสำเร็จโครงการส่งเสริมการปลูกข้าว กข43 สร้างแบรนด์น้องใหม่ “ตราฉัตรไลท์” ข้าวดัชนีน้ำตาลปานกลางค่อนข้างต่ำ ข้าวทางเลือกใหม่สำหรับผู้บริโภคที่รักสุขภาพ พร้อมกระจายสินค้าผ่านช่องทางการจำหน่ายชั้นนำของไทย พฤศจิกายนนี้
คุณไตรรัตน์ อุดมศรีโยธิน รองกรรมการผู้จัดการ งานพัฒนาวัตถุดิบต้นน้ำ บริษัท ข้าว ซี.พี. จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวตราฉัตร เผยถึงความสำเร็จในการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวเพื่อสุขภาพ กข43 ว่า หลังข้าวตราฉัตร ร่วมกับ กรมการข้าว และเครือข่ายเกษตรกรไทย ส่งเสริมการปลูกข้าว กข43 ฤดูนาปี 61/62 ในพื้นที่ส่งเสริม อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรในพื้นที่เป็นอย่างดี มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการประมาณ 213 ราย จำนวน 4,800 ไร่ ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกได้ผ่านการตรวจสอบและรับรองเมล็ดพันธุ์ข้าวจากกรมการข้าว ว่าเป็นพันธุ์ข้าว กข43 แท้ และเพื่อสร้างความมั่นใจให้เกษตรกร บริษัทจะรองรับความเสี่ยงโดยรับซื้อข้าวประกันราคาขั้นต่ำ 12,000 บาท ต่อตัน ที่ความชื้น 15 เปอร์เซ็นต์
คุณยงยุทธ พฤกษ์มหาดำรง รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ข้าว ซี.พี. จำกัด เผยถึงปัญหาของข้าว กข43 ในปัจจุบันว่า ผลิตออกมาแล้ว แต่ตลาดผู้บริโภคยังไม่นิยมเท่าที่ควร สาเหตุน่าจะมาจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้จัก หรือรู้ประโยชน์ที่แท้จริง เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของการทำตลาด ด้วยเหตุนี้ บริษัทจึงนำข้าวมาแพ็กบรรจุถุง ภายใต้แบรนด์ “ข้าวตราฉัตรไลท์”
สำหรับช่องทางตลาด คุณยงยุทธ ระบุว่า จะเน้นเจาะกลุ่มผู้บริโภครักสุขภาพ ใช้พันธมิตรด้านกีฬาเป็นตัวชูโรง เน้นไปที่สโมสรกีฬา นำข้าวเพื่อสุขภาพ กข43 ให้นักกีฬาได้ทาน พร้อมวางจำหน่ายในห้างชั้นนำของเมืองไทย ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ ตัวแทนจำหน่ายตามภาคต่างๆ ในเดือนพฤศจิกายนนี้
ด้าน คุณอภิชาติ ลาวัณย์ประเสริฐ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ กรมการข้าว อธิบายถึงข้าวเพื่อสุขภาพ พันธุ์ กข43 ว่า เป็นข้าวดัชนีน้ำตาลปานกลางค่อนข้างต่ำ หรือค่า GI (Glycemic Index) ที่ผ่านการคัดเลือกจากการผสมพันธุ์ระหว่างข้าวพันธุ์สุพรรณบุรี 1 เหมาะกับคนรักสุขภาพ โดยเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี สามารถรับประทานง่ายเพราะหุงแล้วนุ่มมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ที่สำคัญ เมื่อบริโภคข้าว กข43 เข้าไปในร่างกายก็จะเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาลได้ช้าลง ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ช่วยให้ผู้บริโภคไม่หิวง่าย และเหมาะสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกที่อยู่ในลุ่มน้ำ หรือน้ำท่วมฉับพลัน เพราะมีอายุเก็บเกี่ยวเพียง 95 วัน