เปิดใจ “นางฟ้าชุดขาว” อาชีพไร้วันหยุดทุกเทศกาล กระตุ้นคนไทย “มีวินัยจราจร ลดเร็ว ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย”

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์หยุดยาว ที่ใครๆต่างก็เดินทางท่องเที่ยวสนุกสนานทั้งใกล้และไกล แต่พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ งานอุบัติเหตุและระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดขอนแก่น อย่างรุจีวรรณ ยมศรีเคน แสงลุน เป็นคนหนึ่งที่ยังคงต้องทำงานตลอดช่วงเทศกาล ที่ใครต่อใครพากันเดินทางกลับบ้าน ภาพของครอบครัวอื่นที่อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมหน้าตา ทำให้เธอต้องพยายามอดทนและนึกถึงจรรยาบรรณของวิชาชีพให้มากขึ้น

“ทำงานเป็นพยาบาลอยู่หน่วยฉุกเฉินมาเกือบ 16 ปี ทุกช่วงเทศกาลมักมีอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นเสมอ ด้วยปัจจัยต่างๆ ทั้งการดื่มแล้วขับ ความเหนื่อยล้า การพักผ่อนไม่เพียงพอของคนที่ต้องขับรถยาวนานหลายชั่วโมง รวมทั้งเรื่องของจุดเสี่ยง และความไม่ชินทาง ยิ่งในวันงานสงกรานต์ 13 เม.ย. ที่คนส่วนใหญ่จะสนุกมาเต็มที่ จนลืมอย่างอื่นที่สำคัญกว่า นั่นคือ สติและวินัยจราจร”

“สถิติจะพุ่งพรวดโดยเฉพาะสามวันตรงกลางของวันหยุด ราวๆ 13-14-15 เม.ย. รถมอเตอร์ไซค์จะครองแชมป์เกิดอุบัติเหตุทุกปี ผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่เกิดจากการไม่สวมหมวกกันน็อก บางรายก็ศีรษะกระแทกจนเสียชีวิต ยังไม่รวมถึง เมาทะเลาะวิวาท ตีกัน ยิงกัน คนตกน้ำ พวกที่ป่วยฉับพลัน ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ กระเพาะทะลุ ดื่มหนักแล้วหัวใจวาย ช็อค เรียกได้ว่าอาการทุกรูปแบบ หลั่งไหลเข้ามาพร้อมๆกัน

อย่าถามว่าได้นอนกันมั้ย ปกติเราเข้าเวรทีละ 8 ชั่วโมง พอช่วงยุ่งๆ ควบสองกะกลายเป็น 16 ชั่วโมง แล้วยังต้องมีทีมที่ออกไปตระเวนช่วยคนข้างนอก คนที่อยู่ข้างในก็ต้องแตะมือกันอยู่เพราะคนไม่พอ บางคนหัวแตกเลือดออกก็โวยวายว่าเราไม่รีบช่วยเขา โดยไม่รู้ว่าเราดูแลคนไข้ที่หัวใจขาดเลือดอีกคน ที่แม้ไม่มีเลือดออกแต่ตกอยู่ในภาวะคุกคามมากกว่า ยิ่งถ้าดื่มกันมาก็จะยิ่งใช้อารมณ์ ทำให้บรรยากาศในโรงพยาบาลช่วงสงกรานต์เป็นอะไรที่หนักหนาสาหัสมาก ท่ามกลางกลิ่นคาวเลือดที่คละคลุ้งไปหมด

โรงพยาบาลชุมชน หมอเวรมีแค่คนเดียว เคยมีเคสคนไข้อุบัติเหตุหมู่ที่ต้องปั๊มหัวใจพร้อมกัน 5 ราย พยาบาลเรียนมาตามมาตรฐานวิชาชีพเขาจะไม่ให้เราเป็นคนใส่ท่อหายใจ เราต้องโดดจากเตียงหนึ่งไปอีกเตียงหนึ่งเพื่อปั๊มหัวใจรอหมอมาใส่ท่อ แถมห้องคลอดก็เรียก ต้องวิ่งไปช่วยกันรับเด็ก ไหนจะคนไข้ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ลูกหลานเขากลับมาเยี่ยมบ้านวันสงกรานต์ คนไหนเจ็บป่วยอะไรก็เป็นโอกาสได้พามาโรงพยาบาลพร้อมหน้าพร้อมตา”

พอเห็นอย่างนี้ จึงตัดสินใจเริ่มทำงานรณรงค์ลดอุบัติเหตุ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยการสร้างองค์ความรู้ร่วมกับภาคีเครือข่าย ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจในการตั้งด่านตรวจ ส่วนท้องถิ่นก็ดูแลเรื่องถนนหนทาง สาธารณสุขก็เตรียมรับมือปัญหาเรื่องการแพทย์ พร้อมกับการทำงานเชิงรุก ลงพื้นที่แก้ไขจุดเสี่ยงเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตื่นตัวและตระหนักถึงภัยของอุบัติเหตุในช่วงเทศกาล

ทุกวันนี้การทำงานเชิงรุกจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทำยังไงให้คนตระหนักถึงความสำคัญของการใช้รถใช้ถนนอย่างไม่ประมาท ขณะเดียวกัน ก็ต้องทำงานกับชุมชน สร้างทัศนคติให้กับชาวบ้านและปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องให้เด็กรุ่นใหม่ อย่างวันก่อนครูซึ่งเป็นคนที่ชุมชนนับหน้าถือตา ขี่มอเตอร์ไซค์ไปธุระแล้วประสบเหตุเสียชีวิตหน้าโรงเรียน ทำให้ในชุมชนตื่นตัวมากขึ้น หันมารณรงค์มาตรการความปลอดภัย ตำรวจก็เข้าไปสอนกฎจราจร ทีมกู้ชีพก็ลงไปสอนการปั๊มหัวใจ และเด็กๆ เขาก็รักครูเขาก็เลยกลายเป็นตัวตั้งตัวตีบอกพ่อแม่ให้สวมหมวกกันน็อกทุกครั้งที่ขี่มอเตอร์ไซค์”

ฟังเรื่องเล่าจากพยาบาลสาวรายนี้แล้วก็เหมือนจะอดคิดไม่ได้ว่า ทำไมคนเรามักจะต้องรอให้สูญเสียก่อนแล้วถึงค่อยเห็นความสำคัญ มันจะดีกว่าไหมถ้าเราเริ่มต้นด้วยตัวของเราเอง แล้วบอกต่อไปกับคนรอบๆตัวที่เรารักและรักเรา

“มีวินัยจราจร ลดเร็ว ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย” ..เป็นคาถาแคล้วคลาด ที่ใช้ได้ไม่ว่าจะเทศกาลนี้ หรือเทศกาลไหนๆ  รู้อย่างนี้แล้วอย่ารอช้า มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดสถิติอุบัติเหตุในช่วงเทศกาล กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กันดีกว่า