รมว.เกษตร “ซัก” กยท. ทำไมยางต่างประเทศราคาสูง แต่ภายในประเทศราคาต่ำ

วันที่ 4 ก.พ. รายงานข่าวจากสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรสวนยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 61 นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ ได้ประชุมติดตามปัญหาราคายางพาราที่สำนักงานการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) นาย กฤษฎาฯ ได้ทำการซักถามผู้บริหาร กยท. การบริหารที่ราคายังไม่กระเตื้องขึ้น ทั้งที่ราคาในต่างประเทศ กก.ละ 70 บาท แต่ภายในประเทศน้ำยางสด กก.ละ 42 บาท

รายงานข่าวว่าตัวแทน กยท. รายงานปัจจัยที่ไม่กระเตื้องขึ้น มาจากปัจจัยหลายอย่างเช่น ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ผู้ประกอบการยางที่เป็นสถาบันเกษตรกร ได้เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่ากรกระทรวงเกษตรฯว่า ทั้ง 3 ท่านเดินทางมาถูกต้องและดีที่สุด จงผนึกกำลัง ผสมผสานกันแก้ไขปัญหายาง

นายวีระศักดิ์ สินธุวงศ์ คณะกรรมการบริหารสภา สยยท.เปิดเผยว่าที่ประชุมยังนำเสนอว่า น่าจะมีโครงการช๊อปเพื่อชาติ คืนภาษีให้กับผู้ประกอบการที่ซื้อยางมาเก็บไว้ เห็นด้วยที่จะคืนภาษี แต่จะต้องคืนภาษีให้กับบริษัทที่นำใช้ยางภายในประเทศ เช่น ทำถนน และแปปรูปเป็นอื่น ๆ ซึ่งหากยางมีการนำมาภายในประเทศร้อยละ 40 โดยเฉพาะให้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่ประมาณ 7,000 แห่ง โดยแต่ละแห่งใช้ยางสร้างถนนประมาณ 1 กม. จะต้องใช้น้ำยางสด 12 ตัน น้ำยางสดออกจากระบบหลายแสนตัน การส่งเสริมที่ถูกทางคือยางปลูกในประเทศ ต้องนำมาใช้ภายในประเทศให้มากที่สุดแล้วราคาก็จะกระเตื้องขึ้น

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ราคายางในตลาดต่างประเทศที่มีการซื้อขายล่วงหน้าส่งมอบเดือนมี.ค. 61 ยางเอสทีอาร์ 20 ราคา กก.80 บาท เทียบกับราคาภายในประเทศที่ประมาณ กก.ละ 42-43 บาท มีส่วนต่างกันร้อยละ 50 ต้นทุนค่าบริหารจัดการ ค่าขนส่ง เงินเซส รมควัน อัดก้อน อัดแท่ง รวมเบ็ดเสร็จประมาณ กก.ละ 10 บาท เงิน 30 บาทใน 1 กก. เป็นเม็ดเงินที่หายไป

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนประเด็นที่พ่อค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน จะเข้ามาซื้อยางกับสถาบันเกษตรกรยางในประเทศ ทุกฝ่ายต่างสนับสนุน ให้มีพ่อค้าเข้ามาซื้อยาง เพื่อจะให้สถาบันเกษตรกรยางมีตัวเลือกในการขายยางมากขึ้นตามลำดับ