ประชุมนาน 6 ชั่วโมง เคาะค่าแรงขั้นต่ำปี 61 ทั่วประเทศ สูงสุด 330 บาทต่อวัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (17 ม.ค.) เมื่อเวลา 22.50 น. นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 ที่มีการพิจารณาเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 ซึ่งใช้ระยะเวลาประชุมยาวนานกว่า 6 ชั่วโมง จึงได้ข้อสรุปว่า จากการประชุมร่วมกัน 3 ฝ่ายของรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง ในคณะกรรมการค่าจ้าง ได้ข้อสรุปร่วมกันในการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 ทุกจังหวัดทั่วประเทศ แบ่งออกเป็น 7 ระดับ คือ 308 บาท 310 บาท 315 บาท 318 บาท 320 บาท 325 บาท และ 330 บาท ค่าเฉลี่ยในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 315.97 บาท โดยอัตราการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 5-22 บาท

นายจรินทร์ กล่าวว่า นอกจากนี้ บอร์ดยังเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ด้วย โดยเสนอให้ลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า โดยนำค่าจ้างแรงงานไปใช้ในการลดหย่อน และเสนอให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างมากกว่า 50 คนขึ้นไป มีโครงสร้างค่าจ้างให้ลูกจ้างเห็นอย่างชัดเจนด้วยว่าแต่ละปีจะสามารถขึ้นค่าจ้างได้เท่าไรบ้าง รวมถึงมีการเสนอให้สถานประกอบการมีค่าจ้างลอยตัว ซึ่งเสนอให้ดำเนินการนำร่องใน 3 จังหวัดระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก ประกอบด้วย ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นการให้สถานประกอบการกำหนดคุณสมบัติลูกจ้างที่ต้องการว่าต้องการทักษะแบบใด อัตราค่าจ้างเท่าไร ซึ่งหากเห็นว่าค่าจ้างต่ำลูกจ้างก็ไม่มา แต่หากค่าจ้างสูง ต้องการคนมีฝีมือ แรงงานก็จะมีการพัฒนาฝีมือตนเองเพื่อให้มีคุณสมบัติตรงกับงาน

“มติบอร์ดค่าจ้างให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำมีผลตั้งแต่ 1 เม.ย. 2561 ไม่มีผลย้อนหลัง โดยวันที่ 18 ม.ค. จะเสนอเรื่องนี้ไปยัง พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในสัปดาห์หน้า สำหรับสาเหตุที่ใช้เวลาในการพิจารณามากนั้น ขอชี้แจงว่าหากใช้เวลาในการพิจารณาน้อยก็จะดูเป็นการไม่รอบคอบ แต่การใช้เวลามากก็จะได้คิดพิจารณาปัจจัยต่างๆ ให้ครบถ้วน ซึ่งวันนี้เป็นการตกลงโดยสมานฉันท์ ไม่ได้มีการลงคะแนนเสียงอะไร แต่เป็นความเห็นพ้องของที่ประชุม ต้องใช้เวลามากหน่อย” นายจรินทร์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ จะส่งผลให้ค่าครองชีพต่างๆ แพงขึ้นอีกหรือไม่ นายจรินทร์ กล่าวว่า การพิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ ได้พิจารณาถึงภาวะเศรษฐกิจ ดัชนีผู้บริโภค อัตราเงินเฟ้อ การขยายตัวของเศรษฐกิจต่างๆ และลูกจ้างต้องอยู่ได้ ซึ่งแต่ละจังหวัดก็ไม่เท่ากัน ซึ่งตามปกติแล้วจะมีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทุกปี แต่เมื่อครั้งปี 2554 ขึ้นเยอะมากจาก 100 กว่าบาท เป็น 300 บาท ทำให้มีมติว่าไม่ขึ้นค่าจ้าง 3 ปี และเพิ่งมีปรับขึ้นค่าจ้างเมื่อปีก่อน

เมื่อถามว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอาจทำให้ผู้ประกอบการหันมาใช้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้นแทนการจ้างลูกจ้าง นายจรินทร์ กล่าวว่า อนาคตสถานประกอบการต่างๆ ก็ต้องนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้อยู่แล้ว กระทรวงแรงงานก็พยายามผลักดันการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อยกระดับแต่ละสาขาอาชีพและให้ได้รับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น

เมื่อถามถึงการดำเนินการเรื่องประกาศโครงสร้างค่าจ้าง นายจรินทร์ กล่าวว่า ตรงนี้ต้องแก้กฎหมาย โดยจะต้องแก้ในส่วนของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ซึ่งตรงนี้มองว่าเป็นประโยชน์และการคุ้มครองแรงงาน เพื่อที่จะได้เห็นโครงสร้างที่ชัดเจนของค่าจ้าง ซึ่งโครงสร้างค่าจ้างก็เป็นไปตามความเหมาะสมของแต่ละสถานประกอบการที่มีความสามารถไม่เท่ากัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2561 มีการปรับเพิ่มขึ้นดังนี้ 1. ค่าจ้าง 308 บาท มี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา 2. อัตรา 310 บาท มี 22 จังหวัด คือสิงห์บุรี ตรัง ลำปาง ลำพูน ตาก ราชบุรี ระนอง ชุมพร สตูล หนองบัวลำภู พิจิตร กำแพงเพชร สุโขทัย เชียงราย อุทัยธานี ศรีสะเกษ ชัยภูมิ อำนาจเจริญ แพร่ แม่ฮ่องสอน นครศรีธรรมราช มหาสารคาม

3. อัตรา 315 บาท มี 21 จังหวัดคือ ร้อยเอ็ด ประจวบคีรีขันธ์ นครสวรรค์ สระแก้ว พัทลุง อุตรดิตถ์ อุดรธานี นครพนม บุรีรัมย์ สุรินทร์ เพชรบุรี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ชัยนาท เลย ยโสธร พะเยา บึงกาฬ น่าน กาญจนบุรี อ่างทอง

4. อัตรา 318 บาท มี 7 จังหวัด คือ จันทบุรี สมุทรสงคราม สกลนคร มุกดาหาร นครนายก กาฬสินธุ์ ปราจีนบุรี

5. อัตรา 320 บาท มี 14 จังหวัด คืออุบลราชธานี สุพรรณบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา หนองคาย ลพบุรี ตราด ขอนแก่น สงขลา สุราษฎร์ธานี กระบี่ เชียงใหม่ นครราชสีมา พังงา

6. อัตรา 325 บาท มี 7 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา

และ 7. อัตรา 330 บาท มี 3 จังหวัด คือ ภูเก็ต ชลบุรี และระยอง

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์