เล่น “จ๊ะเอ๋” กับลูก ส่งเสริมพัฒนาการทางสมองที่คาดไม่ถึง

จากสถานการณ์พัฒนาการเด็กปฐมวัยไทย อายุ 0-5 ขวบ ในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา พบว่า เด็กปฐมวัย ประมาณ 30% หรือราว 1 ใน 3 ของเด็กเล็กในประเทศมีพัฒนาการล่าช้า

ทั้งนี้ การจะส่งเสริมพัฒนาการเด็กให้ดีขึ้นนั้น ปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญมากคือ “การเลี้ยงดู” ที่พ่อแม่หลายคนมักกังวลว่า ตัวเองไม่มีเงินทองไปซื้อสิ่งของมีราคาสูงมากระตุ้นพัฒนาการลูกได้

ซึ่งแท้จริงแล้ว สิ่งที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการเด็กนั้น ทุกครอบครัวมีต้นทุนไม่แพ้กัน นั่นคือความรัก ความเอาใจใส่ และการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมพัฒนาการที่ดีให้กับลูก ซึ่งพ่อแม่สามารถทำได้โดยเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ รอบตัว

ในงานแถลงข่าว ของขวัญเด็กไทย “สิ่งเล็กๆ ที่สร้างลูก” เครื่องมือดูแลลูกยุคใหม่ ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มาพูดถึงเครื่องมือส่งเสริมพัฒนาการเด็กโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ

“พัฒนาการที่ดีของลูกเริ่มต้นจากพ่อแม่ผู้ปกครอง จึงไม่อยากให้กังวลว่าการที่ลูกจะมีพัฒนาการที่ดีจะต้องลงทุนด้วยเงินจำนวนมาก หรือมีเวลาที่มาก แต่มีจุดเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ ใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน ด้วยกิจกรรมธรรมดาที่เติมความรัก ความเข้าใจ ความเอาใจใส่และความสม่ำเสมอในทุกๆ วัน เช่น การเล่นกับลูก อ่านหนังสือกับลูก ชวนลูกคุย เพราะยิ่งชวนคุยมากเท่าไหร่ ก็จะช่วยสะสมคลังศัพท์มากขึ้น การชวนให้ลงมือทำงานบ้านร่วมกัน และพาลูกออกไปเที่ยว หรือการเล่นจ๊ะเอ๋ ซึ่งเราจะรู้แค่ว่าเล่นแบบนี้จะทำให้มีความสุข ซึ่งภายใต้ความสนุกสนานนั้น ได้แฝงแรงกระตุ้นมหัศจรรย์ที่ช่วยให้สมองและพัฒนาการของเด็กๆ เติบโตในหลายด้าน”

พญ.จิราภรณ์ขยายความว่า การเล่นจ๊ะเอ๋ช่วยให้เด็กในช่วง 2 ขวบปีแรก ได้เรียนรู้เรื่องการคงอยู่ของสิ่งต่างๆ จากการที่ผู้ใหญ่ปิดตาหรือซ่อนแอบ ช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านการสื่อสารระหว่างกัน ฝึกการจดจำข้อมูล โดยเด็กจะจำว่าผู้ปกครองชอบโผล่ทางไหนและคาดเดาว่าครั้งต่อไปจะเป็นทิศทางใด ฝึกให้รู้จักรอคอย ช่วงเวลาที่ปิดหน้าหรือซ่อนหลังสิ่งของ เด็กจะรู้จักรอคอยว่าเมื่อไหร่จะเปิดตาหรือโผล่ขึ้นมา และเกิดสายสัมพันธ์ความผูกพันในหัวใจของลูก เพราะเป็นช่วงเวลาที่เด็กเป็นศูนย์กลาง การสบตา การใช้เสียงสูงต่ำ รอยยิ้มและเสียงหัวเราะทำให้ถักทอสายสัมพันธ์ในครอบครัว เป็นต้น

เลี้ยงลูกด้วยความรัก ความเอาใจใส่ และมีความรู้ โดยค้นหาข้อมูลได้ที่ www.khunlook.com และเฟซบุ๊กเพจ สิ่งเล็กๆ ที่สร้างลูก

edf