ผู้เขียน | ข่าวสดออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
หลังจากเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จากการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุด ‘นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์’ ก็ขึ้นแท่นกุมบังเหียนกระทรวงพาณิชย์อย่างเต็มตัว
โดยมีลูกหม้ออดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ โยกมาทำหน้าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จากเดิมที่เป็นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ดูเหมือนว่าทั้งสองรัฐมนตรีจะทำงานเข้าขากันได้ดี
รัฐมนตรีว่าการคนใหม่ประกาศว่าจะสนองนโยบายรัฐบาล ที่ให้ปี 2561 เป็นปีแห่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและชุมชน ดังนั้นภารกิจเร่งด่วนที่มอบให้ผู้บริหารระดับสูงและข้าราชการมี 3 ประเด็นหลัก คือ
1.สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก
2.ติดตามดูแลเร่งผลักดันการหาตลาดและราคาสินค้าเกษตรให้เพิ่มขึ้น
และ 3.รักษาการขยายการส่งออกอย่างต่อเนื่อง
สำหรับนโยบายด้านฐานรากที่กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการมาอย่าง ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เช่น โครงการ “ร้านอาหารหนูณิชย์” คัดเลือกร้านอาหารที่อยู่ในหลักเกณฑ์ “อร่อย คุณภาพดี สะอาด ประหยัด ราคาจำหน่ายไม่เกิน จาน/ชาม ละ 35 บาท” ซึ่งมีจำนวน ทั้งสิ้น 13,409 ร้านค้า (กรุงเทพฯ 4,399 ร้าน ภูมิภาค 8,976 ร้าน)
และร้านหนูณิชย์ในรูปแบบรถขายอาหารเคลื่อนที่ (Food Truck) อีก 34 คัน/ราย สามารถลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชนได้ถึง 7,573.54 ล้านบาท หรือคิดเป็นวันละ 11.73 ล้านบาท ซึ่งจะเร่งรัดให้มีการขยายจำนวนร้าน อาหารหนูณิชย์ให้มากขึ้น
โดยในปี 2560 ยกระดับร้านอาหารหนูณิชย์ที่มีคุณภาพมาตรฐานสะอาดอร่อยให้เป็นร้าน “หนูณิชย์ติดดาว” ปัจจุบันมีร้านที่อยู่ระหว่างการประเมินยกระดับคุณภาพเป็นร้าน “หนูณิชย์ติดดาว” ดังนี้ เกรด A จำนวน 5,475 ร้าน เกรด B จำนวน 3,015 ร้าน เกรด C จำนวน 3,435 ร้าน และอยู่ระหว่างดำเนินการ 1,484 ร้าน
นอกจากนั้นยังเดินหน้าส่งเสริมให้มี “ตลาดต้องชม” ขึ้นในทุกจังหวัดโดยปัจจุบันมีแล้วกว่า 150 แห่งทั่วประเทศ เชื่อมโยงภาคการค้าเข้ากับการท่องเที่ยวส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่เฉลี่ยเดือนละ 250 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีมูลค่าการค้าประมาณ 100-130 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในปี 2561 กรมการค้าภายใน ตั้งเป้าหมายที่จะขยายตลาดต้องชมเพิ่มอีก 77 แห่งทั่วประเทศ
รวมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาเอกชน ในโครงการ ส่งเสริมการจัดตั้งตลาดกลางข้าวสารสู่มาตรฐานสากลแห่งแรกของประเทศไทย ได้กลุ่มตลาดไท ของบริษัท ไทยแอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ จำกัด กับตลาดต่อยอด ของกลุ่มตะวันนาของบริษัท ตะวันนา ไนท์บาซาร์ เป็นผู้จัดตั้งตลาดดังกล่าวร่วมกัน เริ่มเปิดซื้อขายได้ในต้นปี 2561
ขณะเดียวกันสนองนโยบายรัฐบาลในการสร้างและพัฒนาอาชีพเสริม ให้แก่กลุ่มที่ได้ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยกว่า 11 ล้านคน ด้วยการรับสมัครร้านค้าปลีกค้าส่ง ร้านโชห่วยเข้ามาร่วมโครงการ “ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ” ตามโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่กระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพ
ขณะนี้มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการไปแล้ว 18,000 ร้านค้า ตามเป้าให้ประชาชนที่มีบัตรใช้รูดเพื่อซื้อสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป และในภาพรวมพบว่าประชาชนพึงพอใจ สามารถลดค่าครองชีพและเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยได้เป็นอย่างดี
เห็นได้จากการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐของประชาชน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2560 จนถึงเดือนธ.ค.มีมูลค่าการซื้อสินค้ามากกว่า 5,000 ล้านบาท
รวมทั้งมุ่งสร้างและกระจายรายได้ไปสู่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยรวมทั้งผู้ประกอบธุรกิจรายเล็กและรายย่อยระดับชุมชนและท้องถิ่น อาทิ การสร้างอาชีพและพัฒนาอาชีพเสริมให้แก่กลุ่มที่ได้ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยกว่า 11 ล้านคน
การสร้างเครือข่ายของผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยผ่านกลไก MOC Biz Club แต่ละจังหวัด
ต่อยอดกลไกตลาดท้องถิ่นภายใต้โครงการโชห่วยไฮบริดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ให้แก่ร้านค้าโชห่วยและร้านค้าชุมชนกว่าแสนราย
การพัฒนาและขยายตลาดต้องชม ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของตลาดประชารัฐที่กระทรวงพาณิชย์ดูแล เน้นการบูรณาการกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางขนาดเล็ก ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและเพิ่มทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
อาทิ การใช้ประโยชน์จาก พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจให้มากขึ้น ตลอดจนเร่งส่งเสริมการค้าผ่านระบบออนไลน์ และตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกเพื่อขับเคลื่อนการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
ภารกิจเร่งด่วนอีกประการหนึ่ง คือการติดตาม ดูแล เร่งหาตลาดและผลักดันราคาสินค้าเกษตรให้เพิ่มขึ้น
ทั้งมอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดในพื้นที่เพาะปลูก สินค้าเกษตรสำคัญทั้งข้าว ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ด้วยการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ผลผลิต อย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้มีราคาเหมาะสม รวมทั้งจัดหาตลาดและผู้ซื้อเพื่อรองรับผลผลิตทั้งในและต่างประเทศล่วงหน้า
นอกจากนั้นจะเดินหน้าผลักดันให้มีการผลิตสินค้าเกษตรนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการเพาะปลูกสินค้าเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมการต่อยอดงานวิจัย/นวัตกรรมกับสินค้าเกษตร เพื่อให้เกิดสร้างความหลากหลายและมูลค่าเพิ่ม และจัดหาช่องทางจำหน่ายสินค้าเกษตรนวัตกรรมทั้งในและต่างประเทศ
สำหรับการรักษาและขยายการส่งออกจะผลักดันอย่าง ต่อเนื่อง โดยจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและ ขนาดเล็กสามารถส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น การส่งเสริมการค้าชายแดนและการเจรจาหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจเพื่อเปิดตลาดใหม่ๆ ให้แก่สินค้าและบริการไทยการส่งเสริมธุรกิจบริการเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประเทศมากขึ้น
ดำเนินกลยุทธ์ส่งเสริมการตลาดต่างประเทศทั้งตลาดหลักและตลาดรอง รวมทั้งกลุ่มตลาดที่มีความต้องการเฉพาะหรือ niche market
การเดินหน้าผลักดันการส่งออกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การส่งออกในปี 2560 ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตร และทุกตลาดส่งออกของไทยก็ขยายตัวดีต่อเนื่อง
ในปี 2561 คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ประมาณ 6% รับแรงขับเคลื่อนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก นำโดยเศรษฐกิจสหรัฐ ประกอบกับการฟื้นตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์
แต่ต้องติดตามแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และความไม่แน่นอนของนโยบายทางการค้าของประเทศคู่ค้าหลัก และปัญหาความตึงเครียดระหว่างประเทศ ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม
อย่างไรก็ตามหากมองในภาพรวมแล้วภารกิจของกระทรวงพาณิชย์ ในการดูแลปากท้องประชาชน และขับเคลื่อนการ ส่งออกในปี 2561
น่าจะเข้มข้นและมีประสิทธิผลกว่าปี 2560 แน่นอน
ที่มา ข่าวสดออนไลน์