ผู้เขียน | ข่าวสดออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ถกเถียงกันมานานนับทศวรรษ เกี่ยวกับปริศนาที่ว่า ใครกันแน่เป็นผู้แต่งคาถาชินบัญชร ระหว่าง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรํสีแห่งวัดระฆังโฆษิตาราม กับพระมหาเถระผู้เชี่ยวชาญบาลีปกรณ์รูปหนึ่งจากเชียงใหม่
กรณีของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) นั้น ภายหลังเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางแล้วว่า ท่านเป็นเพียงผู้นำคาถาชินบัญชรมาเผยแพร่ให้ผู้คนรู้จักเท่านั้น ทว่า มิได้เป็นผู้เริ่มต้นรจนา
ดังที่บันทึกไว้ว่า ท่านได้ไปสวดคาถานี้ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีรับสั่งว่าถ้อยคำไพเราะดี ทรงซักถามว่า “ขรัวโตได้มาจากไหน แต่งเองหรือเปล่า”
ท่านถวายพระพรตอบว่า “หามิได้ เป็นสำนวนเก่าของเมืองเหนือ นำมาแก้ไขดัดแปลงใหม่ ตัดตอนให้สั้นเข้า ของลังกายาวกว่านี้”
ถ้าอย่างนั้น คำตอบก็น่าจะเบนเข็มไปที่ พระภิกษุชาวล้านนารูปหนึ่ง ในยุคทองสมัยพระเจ้าติโลกราชหรือเช่นไร เนื่องจากเป็นยุคสมัยที่มีการสนับสนุนให้พระเถระหลายร้อยรูปเดินทางไปศึกษาพระไตรปิฎกที่ลังกา ครั้นกลับมาแล้วต่างแข่งขันกันรจนาบาลีปกรณ์อย่างเอิกเกริก จนกิตติศัพท์ขจรขจายไกลไปถึงพม่า กรุงศรีอยุธยา สิบสองปันนา และล้านช้าง ทำให้เมืองเหล่านั้นต้องขอคัมภีร์ภาษาบาลีที่จารโดยพระภิกษุล้านนาไปศึกษา
ผู้รู้บางคนกล้าฟันธงว่า สำนวนร้อยกรองสุดยอดเช่นนี้ จะเป็นพระภิกษุรูปอื่นใดไปไม่ได้นอกเสียจาก “พระสิริมังคลาจารย์” ปราชญ์เอกแห่งล้านนา ผู้ฝากผลงานคลาสสิคไว้แก่แผ่นดินถึง 4 เรื่อง ได้แก่ มังคลัตถทีปนี เวสสันตรทีปนี จักกวาฬทีปนี และสังขยาปกาสกฎีกา
พระสิริมังคลาจารย์ เป็นผู้รจนาคาถาชินบัญชรจริงล่ะหรือ?
หากเป็นผลงานของท่านแล้วไซร้ ไฉนเลยจึงไม่ใส่ชื่อไว้ให้เป็นอมตะเหมือนดั่งผลงานชิ้นเอกอุอื่นๆ เล่า
พระสิริมังคลาจารย์ แห่งเชียงใหม่
หรือ พระชัยมังคละ แห่งลำพูน ?
โปรดสังเกตชื่อของพระภิกษุทั้งสองรูปนี้ให้ดี ว่ามีความละม้ายคล้ายคลึงกันทีเดียว
กล่าวคือ มีคำว่า “มังคลา-มังคละ” เหมือนๆ กัน ด้วยเหตุนี้หรือไม่ที่ชาวล้านนารุ่นหลังเกิดความสับสนจดจำชื่อของผู้รจนาคาถาชินบัญชรผิด จาก “พระชัยมังคละ” กลายมาเป็นการยกผลประโยชน์ให้ “พระสิริมังคลาจารย์”
ยิ่งรูปหลังนี้มีชื่อเสียงโด่งดังในระดับสากลเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งเบียดบังชื่อของพระชัยมังคละให้ลบเลือนหาย
พระชัยมังคละ คือใคร เป็นผู้รจนาพระคาถาชินบัญชรจริงหรือ ทำไมคนทั่วไปไม่รู้จัก?
พระชัยมังคละเป็นพระมหาเถระชาวเมืองหริภุญไชย ในปี พ.ศ.1981 ท่านได้จารคัมภีร์ใบลานด้วยอักษรธรรมล้านนา (ตั๋วเมือง) ไว้ฉบับหนึ่ง ถือว่าเป็นหลักฐานชั้นต้นที่สำคัญอย่างยิ่งยวด สามารถใช้เป็นเครื่องยุติปริศนาข้อที่ว่า ใครรจนาพระคาถาชินบัญชรได้ชะงัดนัก
คัมภีร์ดังกล่าวปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของ “อาจารย์ศรีเลา เกษพรหม” ข้าราชการบำนาญ อดีตนักจารึกวิทยา-นักภาษาโบราณแห่งสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เนื้อหาในคัมภีร์กล่าวถึง การเดินทางไปกราบนมัสการพระเขี้ยวแก้วหรือพระทันตธาตุที่เมืองลังกา ณ ที่นั้น พระชัยมังคละได้พบกับครูบานักปราชญ์ชาวลังการูปหนึ่ง ซึ่งได้มอบ “คาถาชัยบัญชร” (คนไทยเรียกชินบัญชร) จำนวน 14 บท พร้อมด้วยประวัติความเป็นมาของการแต่งอีกด้วย
เมื่อพระชัยมังคละเดินทางกลับมาลำพูน ได้สวดถวายแด่พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ล้านนา ในคราวเสด็จมานมัสการพระธาตุหริภุญไชย
จากนั้นพระเจ้าติโลกราชโปรดให้นำมาเป็นคาถาสวดประจำราชสำนัก เพื่อปัดเป่าเวทมนตร์คุณไสยเสนียดจัญไรในเชียงใหม่ พร้อมให้คัดลอกเผยแผ่กระจายไปสู่วัดต่างๆ ทั่วภาคเหนือจนถึงราชสำนักอยุธยา ซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้าบรมไตรโลกนาถ
แม้แต่ในยุคที่บุเรงนองตีล้านนาแตก แล้วให้โอรสผู้มีนามว่า นรธามังช่อ (อโนรธา) ปกครองเชียงใหม่นั้น ทั้งบุเรงนองและอโนรธา ต่างก็นำคาถาชัยบัญชรจากราชสำนักล้านนา มาท่องเป็นคาถาสวดคู่กายในยามออกรบแทนคำสวดมนตรยานดั้งเดิมแบบพม่า
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรํสี
นำพระคาถาชินบัญชรมาจากไหน?
เป็นที่แน่นอนแล้วว่า คาถาชินบัญชร มีต้นกำเนิดมาจากลังกา และได้เข้าสู่แผ่นดินสยามครั้งแรกที่เมืองลำพูน จากนั้นก็เผยแพร่ไปยังเมืองต่างๆ
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรํสี ชาตะในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อปี พ.ศ.2331 แสดงว่า คาถาชินบัญชร ที่สมเด็จโตวัดระฆัง สวดตลอดชีวิตนั้น มีมาก่อนแล้ว 350 ปี โดยเอาศักราช 1981 เป็นตัวตั้ง หรือหากนับจนถึงปัจจุบัน คาถาชินบัญชรก็มีอายุครบ 574 ปี
คำถามที่หลายคนสงสัยก็คือ ในเมื่อไม่ได้แต่งเอง แล้วท่านไปนำคาถานี้มาจากใคร ที่ไหน อย่างไร?
เมื่อศึกษาปูมหลังของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) แล้วพบว่าท่านบรรพชาเป็นสามเณรน้อยด้วยวัยเพียง 5 ขวบ โดยมีสมเด็จพระสังฆราชสุก ไก่เถื่อนเป็นพระอุปัชฌาย์ให้ ในวัย 7 ขวบ สามเณรโตออกเดินธุดงค์ไปในเขตวัดร้างเมืองกำแพงเพชร อันเป็นถิ่นกำเนิดเมืองมารดาของท่านซึ่งเป็นชาวเหนือ มีชื่อว่า นางเกตุ หรือเกสรคำ
ณ เจดีย์ร้างแห่งหนึ่งใกล้ถ้ำอิสีคูหาสวรรค์ ที่เมืองกำแพงเพชรนั้นเอง สามเณรโตได้พบซากคัมภีร์เก่าชำรุด ร้อยเรียงเรื่อง คาถาชัยบัญชร เขียนเป็นภาษาบาลี ด้วยตัวอักษรธรรมล้านนา ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างแรงบันดาลใจให้ท่านต้องหันมาศึกษาภาษาบาลี และอักขระล้านนาตั้งแต่ยังเป็นเณรน้อยอย่างแตกฉาน
ด้วยเหตุที่คัมภีร์ฉบับนั้นไม่ระบุนามผู้รจนา สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) จึงมิอาจอ้างอิงชื่อผู้ประพันธ์ให้รัชกาลที่ 4 ทรงทราบได้ เมื่อกาลเวลาผ่านผัน คนทั่วไปไม่รู้ที่มาที่ไป ก็ยิ่งคิดกันเอาเองว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) คือผู้แต่งพระคาถาชินบัญชรนั้น
ปฐมเหตุแห่งการแต่งคาถาชินบัญชรในลังกา
เนื้อหาจากใบลานที่จารโดยพระชัยมังคละ ซึ่ง อาจารย์ศรีเลา เกษพรหม ได้ถอดความปริวรรตนั้น กล่าวถึงปฐมเหตุแห่งการแต่งคาถาชินบัญชรในประเทศลังกาไว้อย่างละเอียดว่า
เริ่มจากการที่มีพระราชาของลังกาอยู่องค์หนึ่ง ได้ถูกโหรหลวงทำนายทายทักว่าดวงชะตาของพระโอรสเมื่อมีอายุครบ 7 ปี 7 เดือน ในวันใด ราชกุมารจักถึงฆาตด้วยถูกอัสนีบาต
ในช่วงแรกๆ พระราชารู้สึกว่าเป็นเรื่องงมงาย ไร้สาระไม่ทรงเชื่อมากนัก
แต่ครั้นเมื่อพระโอรสอายุย่างเข้าสู่ปีที่ 7 กำลังน่ารักน่าชัง พระราชาพลันเกิดความกังวลและเริ่มกลัวคำทำนาย
เมื่อนำข้อปริวิตกไปปรึกษากับพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ ให้ช่วยกันหาทางหลีกเลี่ยงภยันตรายอันจะเกิดขึ้นแก่พระโอรสในอีกไม่ช้า พระมหาเถระลังกาจำนวน 14 รูปจึงได้ประชุมตกลงกันคิดหาหนทางอาราธนาพระพุทธคุณของพระอดีตพุทธ 28 พระองค์ พร้อมกับพระธรรมเจ้า 9 ประการ และบารมีธรรมของพระอรหันตสาวกที่เป็นเอตทัคคะในด้านต่างๆ ให้มาประมวลรวมกันทั้งหมด จนเกิดความขลังสร้างพลังในการปกป้องคุ้มภัยให้แก่ราชบุตร
จากนั้นจึงวางแผนแบ่งหน้าที่ช่วยกันรจนาคาถารูปละ 1 บทรวมเป็น 14 บท เนื่องจากสถานที่รวมตัวกันประพันธ์บทคาถานั้น อยู่ในพระมหาปราสาทชั้นที่ 7 ของพระราชา ตั้งอยู่ใกล้กับ “ปล่องเบ็งชร” (คูหาที่เปิดเป็นช่องหน้าต่าง) คาถานั้นในลังกาจึงมีชื่อเรียกว่า “ชัยบัญชร” ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็น “ชินบัญชร” โดยเชื่อกันว่าเป็นคำที่บัญญัติขึ้นใหม่โดยสมเด็จโตวัดระฆังฯ
ในเมื่อคนทั่วไปไม่ทราบที่มาของชื่อนี้ จึงพยายามให้คำนิยามว่า “ชิน หรือ ชินะ” คือชัยชนะของพระชินเจ้า
(เมื่อเปรียบเทียบกับคำเดิมคือ “ชัย” พบว่า “ชิน” มีความหมายลึกซึ้งกว่า) ส่วน “บัญชร” ถูกตีความเป็น ซี่กรงของหน้าต่าง อุปมาอุปไมยดั่งแผงเหล็กหรือเกราะเพชรอันแข็งแกร่งที่ช่วยปกป้องคุ้มกันภยันตรายจากศัตรูหมู่มารทั้งปวง ถือว่าการตีความของคนรุ่นหลังนี้ล้ำลึกไม่เบา
ครั้นแต่งคาถาเสร็จแล้ว พระมหาเถระทั้ง 14 รูปได้มอบให้พระโอรสนำเอาไปท่องบ่นทุกวันจนจำให้ขึ้นใจ
กระทั่งเมื่อถึงวันครบกำหนดคือพระโอรสมีอายุ 7 ปี 7 เดือน พอดิบพอดี ได้เกิดสายฟ้าฟาดผ่าลงมากลางกรุงลังกาอย่างรุนแรงจริงๆ แต่ไม่ตกต้ององค์พระโอรส กลับแฉลบไปผ่าลงเอาหินก้อนหนึ่งซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระราชวัง
เป็นที่ร่ำลือกันทั่วลังกา ว่าเพราะพระโอรสได้ท่องบ่นคาถา “ชัยบัญชร” อย่างอุกฤษฏ์ตลอดระยะเวลาหลายเดือนนั่นเอง จึงแคล้วคลาดจากเคราะห์กรรมไปได้ราวปาฏิหาริย์
น่าเสียดายที่ไม่มีการระบุปีศักราชของเหตุการณ์ รวมทั้งพระนามของกษัตริย์และพระโอรสคู่นั้น เราจึงไม่อาจทราบได้ว่าจุดเริ่มต้นของคาถาชัยบัญชรในลังกานั้นมีขึ้นยุคใด สมัยราชวงศ์อนุราธปุระ หรือโปลนนารุวะ ก่อนหน้าการเดินทางไปศึกษาพระธรรมของพระชัยมังคละนานมาแล้วกี่ร้อยปี
แต่ที่แน่ๆ คาถานี้เกิดขึ้นมาเพื่อหาทางแก้หนักให้เป็นเบา จากคำทำนายของโหรหลวงในราชสำนักลังกา มิได้เกิดจากพุทธวัจนะของพระพุทธเจ้า
ที่มา ไขปริศนา ใครรจนา “คาถาชินบัญชร” โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1639 หน้า 76