เปิดที่มาธรรมเนียม “ลักพระศพ” ทำในเวลากลางคืน ก่อนเคลื่อนริ้วขบวนพระราชพิธีฯ

พระราชพิธีพระบรมศพและการทำพระศพเจ้านายแต่ดั้งเดิม มีธรรมเนียมหนึ่งซึ่งเรียกว่า ลักพระศพ หรือ ลักศพ โดยเป็นขั้นตอนหนึ่งของการเตรียมงานก่อนวันถวายพระเพลิง หรือพระราชทานเพลิง โดยเจ้าพนักงานที่รับผิดชอบจะอัญเชิญพระบรมศพ หรือ พระศพจากที่ประดิษฐานเวลากลางคืนมายังพระราชยาน หรือ ยานพาหนะเพื่อตั้งกระบวนรอที่จะเคลื่อนไปยังพระเมรุหรือเมรุในเช้าวันนั้น

ทั้งนี้ มีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับกาลสมัย เมื่อปี พ.ศ. 2430 ในงานพระศพของสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา ที่ปรากฎในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ได้ให้รายละเอียดในงานพระศพครั้งนั้นความว่า “ณ วันอาทิตย์ ขึ้นสามค่ำ เป็นวันเตรียมชักพระศพ ครั้นเวลาค่ำได้ตั้งขบวนแห่แต่วังสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหามาลา เชิญพระศพไปลงเรือที่ท่าพระ ล่องลงไปขึ้นที่ศาลต่างประเทศ ตั้งขบวนแห่ เชิญพระศพไปขึ้นพระมหาเวชยันตราชรถ ที่น่าวัดเชตุพนเป็นการเงียบอย่างลักพระศพ”

อนึ่ง การลักพระศพนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกพระศพ แต่จะเกิดขึ้นกับบางกรณีเท่านั้น เช่น วังที่ตั้งพระศพนั้นอยู่ไกล หรือ อยู่อีกฝั่งของแม่น้ำ ห่างไกลจากวัดจากพระเมรุ ที่จะทำการพระราชทานเพลิง ดังนั้นการลักพระศพก็คือ การอัญเชิญพระศพมายังสถานที่ ที่สะดวกต่อการจัดริ้วขบวน เเละที่สำคัญคือเป็นการย่นเวลาให้เร็วขึ้น

มาถึงยุคปัจจุบัน อย่างที่เราทราบกันดีว่า ธรรมเนียมการปฏิบัติเกี่ยวกับพระบรมศพ และพระศพของพระราชวงศ์นั้นได้มีการปรับเปลี่ยนไปมากจากอดีต เห็นได้อย่างชัดเจนเรื่องหนึ่งก็คือ มีการนำหีบมาใช้ทรงพระศพแทนการใช้พระโกศ ดังนั้น เมื่อพระศพประดิษฐานลงหีบ พอถึงวันแห่จึงทำให้บนพระมหาราชรถนั้นมีเพียงพระโกศเปล่า เนื่องจากพระมหาราชรถสร้างไว้ตั้งแต่ต้นกรุงออกแบบให้วางได้เฉพาะพระโกศเท่านั้น หีบทรงพระศพจึงไม่สามารถขึ้นวางบนพระมหาราชรถได้ เจ้าพนักงานจึงต้องทำการลักพระศพล่วงหน้าไปก่อนในเวลากลางคืน โดยอัญเชิญหีบทรงพระศพเข้ายังรถตู้ยนต์พระที่นั่ง จากนั้นตั้งขบวนเคลื่อนไปยังท้องสนามหลวง พอถึงก็ชักพระศพขึ้นยังพระเมรุเพื่อรอริ้วขบวนพระราชพิธี ที่จะแห่พระโกศเปล่าตามมาในภายหลังดังหมายกำหนดการ

ที่มา: ส่วนหนึ่งจาก หนังสือธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย