ที่มา | ข่าวสดออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า การลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเพื่อรับสวัสดิการแห่งรัฐในปีนี้ มีผู้ลงทะเบียนไม่เข้าเกณฑ์คุณสมบัติกว่า 2.5 ล้านคน ทำให้เหลือ 11.67 ล้านคน ซึ่งยังไม่นับรวมผู้ที่จะโดนตัดสิทธิ์จากนักศึกษาลงสำรวจข้อมูลและความต้องการในแต่ละบ้านของผู้มีรายได้น้อยอีกจำนวนหนึ่ง ทำให้การลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยในปี 2561 จะมีมาตรการลงโทษกับผู้ที่ลงทะเบียนแต่ไม่จนจริง ซึ่งมีเจตนาไม่ดี โดยจะทำการคาดโทษหากจนจริงในอนาคต อาจไม่ได้รับสิทธิ์รับสวัสดิการจากภาครัฐ
“การลงทะเบียนคนจนในรอบที่ผ่านมา มีบุคคลวุฒิการศึกษาระดับ ปริญญาโท และปริญญาเอก หรือระดับด๊อกเตอร์มาลงทะเบียนเป็นจำนวนมาก โดยมีเกือบ 700 คนที่เป็นด๊อกเตอร์ ซึ่งได้ตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว และตัดสิทธิ์ไปเหลือราว 500 คน ที่จะต้องตรวจสอบอย่างแท้จริงจากการสำรวจของนักศึกษาอีกครั้งว่าเข้าเกณฑ์หรือไม่ ส่วนต่อไปจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือกลุ่มที่เป็นคนแก่ จน พิการ และมีหนี้นอกระบบ ว่ามีจำนวนเท่าไร และจะให้ความช่วยเหลือได้อย่างไรบ้าง” นายกฤษฎา กล่าว
น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า เมื่อวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยแล้ว ซึ่งจะมีการเริ่มแจกบัตรตั้งแต่วันที่ 21-30 ก.ย. 2560 และเริ่มใช้ในวันที่ 1 ต.ค. 2560 เป็นต้นไป โดยกรมบัญชีกลางจะหาวิธีและมาตรการที่จะมาป้องกันการใช้บัตรและเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์หรืออีดีซี ของร้านค้าอย่างผิดวัตถุประสงค์ เช่น มีลักษณะนำบัตรไปใช้รูดกับเครื่องอีดีซี ไม่มีการจ่ายเพื่อซื้อสินค้าจริง แต่กลับไปใช้หนี้ที่ค้างชำระกับร้านค้าแทน และไม่ได้นำไปซื้อสินค้าอุปโภคที่จำเป็น เช่น ไปซื้อสุรา ยาสูบ ซึ่งผิดเงื่อนไข อาจจะมีการตัดสิทธิ์กับผู้ที่ทำผิดวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับแนวทางของ สศค.
ทั้งนี้ หลังจากนักศึกษาทำการสำรวจผู้มีรายได้น้อยแล้ว จะให้ผู้มีรายได้น้อยมาตรวจสอบสิทธิ์อีกครั้งว่าได้รับสิทธิ์สวัสดิการจากภาครัฐหรือไม่ ในวันที่ 15 ก.ย. 2560 ก่อนจะแจกบัตรให้ ซึ่งขณะนี้ได้ทยอยกระจายบัตรไปยังหน่วยลงทะเบียนแล้วบางส่วน เพื่อรอการแจกให้ผู้มีรายได้น้อยของแต่ละพื้นที่ ป้องกันการสับสนในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่และผู้มีรายได้น้อยที่มีสิทธิ์มารับบัตร
สำหรับบัตรสวัสดิการเบื้องต้นมีผู้มีสิทธิ์ 11.67 ล้านคน แบ่งสวัสดิการเป็น 2 ส่วน คือ ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน มีวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรมจากร้านธงฟ้าประชารัฐและร้านอื่นๆ ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด หากมีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี หรืออยู่ใต้เส้นความยากจนจะได้ 300 บาทต่อคนต่อเดือน และหากรายได้สูงกว่า 3 หมื่นบาท แต่ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี จะได้ 200 บาทต่อคนต่อเดือน ส่วนวงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม จากร้านค้าที่กระทรวงพลังงานกำหนดจะได้ 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน โดยบัตรสามารถเติมเงินได้ผ่านธนาคารกรุงไทย ใช้จ่ายกับเครื่องอีดีซีลดใช้เงินสด
ส่วนที่ 2 จะเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เป็นวงเงินค่าโดยสารรถเมล์และรถไฟฟ้า จำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน, วงเงินค่าโดยสารรถ บขส. 500 บาทต่อคนต่อเดือน, วงเงินค่าโดยสารรถไฟ 500 บาทต่อคนต่อเดือน โดยกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างติดตั้งเครื่อง e-ticket และตั๋วร่วมหรือบัตรแมงมุม บนรถเมล์และรถไฟฟ้า ส่วนรถโดยสาร บขส. และรถไฟ จะมีการติดตั้งเครื่องอีดีซี เพื่อรองรับบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย คาดว่าจะใช้งบประมาณ 41,940 ล้านบาทต่อปี จากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากซึ่งได้รับงบประมาณแล้ว 46,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม จะมีจำนวน 1.3 ล้านคนเท่านั้น ที่ได้รับบัตรมี 2 ชิปการ์ด เพราะจะเป็นผู้มีรายได้น้อยที่ใช้บริการรถเมล์ อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 6 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ส่วนผู้มีรายได้น้อยในจังหวัดอื่นนอกเหนือจากนี้จะไม่ได้รับสิทธิ์ เนื่องจากได้ประเมินแล้วว่าผู้มีรายได้น้อยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีค่าครองชีพที่สูงและเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตประจำวันและการทำงาน ซึ่งจะลดค่าเดินทางได้ส่วนหนึ่ง